เมื่อเข้าสู่หน้าร้อน ที่อุณหภูมิพุ่งสูงขึ้นอย่างไม่หยุดหย่อน เช่นเดียวกับที่ทาง ดร.ชมภารี ชมภูรัตน์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ได้เผยเอาไว้เมื่อวันที่ 31 มี.ค. ที่ผ่านมาว่า ในช่วงปลายเดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายน จะเป็นช่วงที่อากาศร้อนที่สุดของปี กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่า อุณหภูมิจะสูงถึง 43 °C ซึ่งอยู่ในระดับที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ซึ่งอุณหภูมิที่สูงขึ้นเช่นนี้เอง ทำให้เสี่ยงเกิด “ฮีทสโตรก” ขึ้นมาได้
โดยวันนี้ “Healthy Clean” จะขอพาไทำความรู้จักกับ “ฮีทสโตรก” พร้อมวิธีเอาตัวรอดมาฝากกัน โดย นพ.สมประสงค์ เกียรติวัฒนชัย เเพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉิน โรงพยาบาลพริ้นซ์ สุวรรณภูมิ ได้เคยอธิบายว่า “Heat Stroke มีสาเหตุการเกิดโรคออกเป็น 2 ประเภท” คือ
– Classical Heat Stroke เกิดจากความร้อนในสิ่งแวดล้อมที่อาศัยอยู่มีมากเกินไป ส่วนใหญ่เกิดในช่วงที่มีอากาศร้อน พบบ่อยในผู้ที่มีอายุมากและมีโรคเรื้อรัง มักเกี่ยวกับความผิดปกติของระบบประสาทส่วนกลาง อาการที่สำคัญ ได้แก่ อุณหภุมิร่างกายสูง ไม่มีเหงื่อ มักเกิดในช่วงมีคลื่นความร้อนสูง (Heat Wave) และอยู่ในบ้านที่ปิดมิด ไม่มีที่ระบายอากาศ
– Exertional Heat Stroke เกิดจากการออกกำลังที่หักโหมเกินไป มักจะเกิดในหน้าร้อนโดยเฉพาะกลุ่มผู้ใช้แรงงานและนักกรีฑา อาการคล้ายกับ Classical แต่ต่างตรงที่กลุ่มผู้ป่วยประเภทนี้จะมีเหงื่อออกมากต่อมาเหงื่อจะหยุดออก นอกจากนี้ ยังพบการเกิดการสลายเซลล์กล้ามเนื้อลาย โดยจะมีอาการแทรกซ้อน ได้แก่ ระดับโพแทสเซียมในเลือดสูง ระดับฟอสฟอรัสในเลือดสูง ระดับแคลเซียมในเลือดต่ำ และพบไมโอโกลบินในปัสสาวะด้วย เกิดภาวะไตวายเฉียบพลัน หมดสติ ชัก อาจมีเลือดออกทุกทวาร
“สัญญาณสำคัญของภาวะฮีทสโตรก” คือ ไม่มีเหงื่อออก ตัวร้อนจัดขึ้นเรื่อย ๆ รู้สึกกระหายน้ำมาก วิงเวียน ปวดศีรษะ มึนงง คลื่นไส้ หายใจเร็ว อาเจียน ซึ่งต่างจากการเพลียจากแดดทั่ว ๆ ไป หากมีอาการดังกล่าว จะต้องหยุดพักทันที ถ้าหากพบเจอผู้เป็นโรคลมแดด สามารถช่วยเหลือเบื้องต้นได้ โดยนำผู้มีอาการเข้าร่ม นอนราบ ยกเท้าสูงทั้งสองข้าง ถอดเสื้อผ้าออก ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นหรือน้ำแข็งประคบตามซอกตัว คอ รักแร้ ข้อพับ ขาหนีบ ศีรษะ ร่วมกับการใช้พัดลมเป่า พ่นละอองน้ำ ระบายความร้อน เทน้ำเย็นราดลงบนตัว เพื่อลดอุณหภูมิร่างกายให้ลดต่ำลงโดยเร็วที่สุด แล้วรีบนำส่งโรงพยาบาล
“5 วิธีเอาตัวรอดจากอากาศร้อนจัด”
- ตรวจสอบอุณหภูมิ หากเกิน 34 องศาฯ ควรลดเวลาทำกิจกรรมกลางแจ้ง หากเกิน 37 องศาฯ ควรงดทำกิจกรรมกลางแจ้ง
- ดื่มน้ำบ่อย ๆ
- รักษาอุณหภูมิร่างกาย เข้าที่ร่มปรับอุณหภูมิร่างกายให้เย็นลง เมื่อมีอาการเพลีย กระหายน้ำ อ่อนแรง
- เลือกเสื้อผ้าที่เหมาะสม ระบายความร้อนได้ดี
- สังเกตสีปัสสาวะ หากมีสีเข้ม อาจเกิดจากภาวะขาดน้ำ
ทั้งนี้ ภาวะฮีทสโตรกเป็นภาวะที่เกิดจากความร้อน ส่งผลให้อุณหภูมิของร่างกายสูงขึ้นกว่าปกติ ทำให้เกิดอาการต่าง ๆ ซึ่งหากอาการรุนแรง อาจเป็นอันตรายต่อชีวิตได้ ดังนั้น การดื่มน้ำและหลีกเลี่ยงการทำงานท่ามกลางสภาพอากาศร้อน เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยหลีกเลี่ยงภาวะฮีทสโตรกได้..
………………………………………….
คอลัมน์ : Healthy Clean
โดย “พรรณรวี พิศาภาคย์”