2 เมษายน” วันคล้ายวันพระราชสมภพ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เวียนบรรจบ เป็นอีกหนึ่งวาระอันสำคัญยิ่งของพสกนิกรไทยทุกหมู่เหล่าในการที่จะได้ร่วมกันแสดงออกถึงความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณล้นพ้นที่พระองค์ท่านทรงมีต่อปวงไทย… และสำหรับวันที่ 2 เมษายนนั้นก็ยังมีการประกาศให้เป็น “วันอนุรักษ์มรดกไทย” เพื่อเทิดพระเกียรติ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงบําเพ็ญพระราชกรณียกิจนานัปการในด้านการอนุรักษ์มรดกของชาติไทยในสาขาต่าง ๆ ทั้งนี้ ในโอกาสวันอนุรักษ์มรดกไทย “ทีมวิถีชีวิต” มีอีกบางแง่มุมเกี่ยวกับ “โนรา” ศิลปะการแสดงของไทยที่ได้รับการรับรองเมื่อปี 2564 จากองค์การยูเนสโกให้เป็น “มรดกโลกประเภทมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ มานำเสนอ…

…แม้จะไม่ใช่เวลาเย็นย่ำ ที่ตรงกับ “คำโนรา” ว่า ’นกชุมรัง“ หรือนกกลับรัง แต่ภาพ ’คนโนราหลายร้อยชีวิตมารวมตัวกัน“ ที่ วัดพระบรมธาตุเจดีย์เขียนบางแก้ว อ.เขาชัยสน จ.พัทลุง ก็ทำให้ “ทีมวิถีชีวิต” อยากที่จะใช้คำ ๆ นี้ ซึ่งตลอดระยะเวลา 3 วันของการจัด “งานโนราภูมิปัญญาแห่งแผ่นดิน” คือช่วง 17-19 มีนาคมที่ผ่านมานั้น ไม่ต่างอะไรกับ “การกลับบ้านของลูกหลานชาวโนรา” โดยนอกจากจะมีงานใหญ่แล้ว ที่วัดแห่งนี้ยังถือเป็น “พื้นที่สำคัญ” ในฐานะ “ต้นธารของโนรา” อีกด้วย และตลอดเวลาดังกล่าว “ทีมวิถีชีวิต” มีโอกาสได้สัมผัสใกล้ชิดกับ ’แง่มุมชีวิต-แง่มุมความคิด“ ของ “คนโนรา” มากมายหลากหลายแง่มุม ที่สะท้อนถึง ’สายสัมพันธ์แนบแน่นที่ยึดโยงผู้คนและความเชื่อ“ ไว้ด้วยกัน

ทั้งนี้ ในส่วนของ “พิธีกรรมตามความเชื่อของโนรา” นั้น งานนี้ก็รวบรวมเอาไว้ครบตั้งแต่ต้นจนจบ เริ่มจากการจัดงานวันแรก ก็มีพิธีใหญ่สำคัญคือ พิธีถวายสังเวย 4 ครูต้นโนรา โดยมี ราชครูโนราสมปอง อนันต์ วัย 78 ปี เป็นเจ้าพิธี และมี “ตาพรานอ้อม” หรือ “ตาหลำหัวนก” โนราชื่อดังวัย 78 ปี ของ จ.สงขลา รับบทเป็น “พรานเทพ” เพื่อทำการแสดง “ออกพรานนางทาสี” ในพิธีดังกล่าวด้วยก่อนที่ ผศ.ธรรมรัตน์ นิคมรัตน์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (โนรา) ปี 2564 จะนำโนราหญิงชายกว่า 160 ชีวิต รำบวงสรวงถวายพระบรมธาตุเจดีย์เขียนบางแก้ว และถวายแก่ครูต้นโนราทั้ง 4 ที่ประกอบด้วย พญาสายฟ้าฟาด แม่ศรีมาลา พระนางนวลทองสำลี ขุนศรีศรัทธา ขณะที่ช่วงบ่ายมีการแสดงโนราตามแบบโบราณ ที่ว่ากันว่าว่างเว้นการทำการแสดงในรูปแบบนี้มานานนับร้อยปี ก็มีการนำกลับมาอีกครั้ง นั่นคือการแสดงที่เรียกว่า “โนราประชันโรง” ซึ่งโนราจาก 2 คณะจะตั้งเวทีหันหน้าประชันกัน โดยมีไฮไลต์สำคัญในการประชันโรงคือ นอกจากจะแข่งกันด้วยฝีมือการร่ายรำ และว่ากลอนสดแล้ว “หมอกบโรง” ทั้ง 2 คณะจะทำหน้าที่บริกรรมคาถา และป้องกันคาถาจากโนราฝั่งตรงข้าม ในระหว่างทำการแสดงด้วย ที่สะท้อนถึงการยึดโยงระหว่างศิลปะการแสดงกับเรื่องไสยเวทที่ไม่ได้แยกจากกัน

จนมาถึงในช่วงเย็นวันเดียวกันนี้ ก็มีพิธีสำคัญที่เรียกว่า ’รำโนราโรงครู“ หรือ ’โนราลงครู“ เพื่อไหว้ครูหรือไหว้ตายายโนรา ที่ถือเป็นการแสดงความกตัญญู นอกเหนือจากแสดงเพื่อความบันเทิงแล้วยังเป็นพิธีกรรมความเชื่อซึ่งผสมผสานระหว่างพุทธศาสนากับลัทธิพราหมณ์และความเชื่อในเรื่องผีสางเทวดา รวมไปถึงประเพณีเซ่นไหว้บรรพบุรุษ ที่ “ความสำคัญ” ของพิธีนี้ก็มีการถอดรหัสจากผู้เชี่ยวชาญ อธิบาย “คติความเชื่อ” โดย อ.ชัยวุฒิ พิยะกุล ผู้ทรงคุณวุฒิด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี โดยสะท้อนว่า พิธีกรรมโรงครูเป็นการรวมภูมิปัญญาและจิตวิญญาณของผู้คนในภาคใต้ไว้ ไม่ว่าจะเป็นตำนาน ความเชื่อ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ประวัติศาสตร์ อาหารการกิน ขณะที่ อ.พิทยา บุษรารัตน์ ผู้ทรงวุฒิด้านคติชนวิทยา ก็ระบุว่า โรงครูเป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้โนราได้รับการสืบต่อ เพราะเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ และมี “ครูหมอ” ที่คอยเป็น สื่อกลางเพื่อดำรงระบบความสัมพันธ์ระหว่างผู้ที่ยังมีชีวิตกับโลกจิตวิญญาณ เอาไว้ …นี่ก็เป็นแง่มุมน่าสนใจ ’วิถีชีวิตชาวโนรา“

วันถัดมาก็ยังเข้มข้น โดยมีทั้งประชันการแสดงของโนราหลายคณะ ที่มีทั้ง “โนรารุ่นครู” และ “โนรารุ่นเยาว์” รวมถึงมี “โนราข้ามพรมแดน” ที่เป็นโนราจากประเทศมาเลเซียซึ่งเดินทางมาจากรัฐเคดะห์ โดยผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนขึ้นแสดงสลับกับวงเสวนาหัวข้อต่าง ๆ เกี่ยวกับ พัฒนาการของโนรา” อาทิ ธรรมะในความเชื่อโนรา, ซอฟต์พาวเวอร์กับโนรา รวมถึงวงเสวนาเกี่ยวกับเรื่องของ สถานะผู้หญิงในโลกโนรา โดยมีโนราหญิงหลายท่านขึ้นร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ซึ่งก็มีแง่มุมและแนวคิดน่าสนใจ ซึ่งแม้ในพิธีกรรมโนราใหญ่ส่วนใหญ่นั้นจะเป็นโนราชาย หากแต่ ในยุคปัจจุบัน ’โนราหญิงก็มีบทบาทสำคัญ“ ในการ ’ขับเคลื่อนโนรา“ ให้มีชีวิตต่อไป อย่างเช่น คุณยายแขม เครือวัลย์ โนราหญิง จ.กระบี่ วัย 83 ปี ที่เรียนรำโนราตั้งแต่อายุ 11 ปี ซึ่งในงานนี้ได้มาทำหน้าที่ศิลปินโนรา พร้อมกับการทำหน้าที่ “ครูโรงรำ” เพื่อสอนโนรารุ่นใหม่ ๆ

คุณยายแขม ศิลปินโนราหญิงอาวุโสท่านนี้ ระบุไว้ว่า โนรา สำหรับตนเองเหมือนเป็นโลก 2 ใบ หนึ่งคือเรื่องจิตวิญญาณ และอีกหนึ่งเป็นวิถีชีวิต ส่วนทางด้าน ครูแต้ว-วราภรณ์ อ๋องเซ่ง ซึ่งเป็นทายาท โนราเติม วิน วาด จ.สงขลา เล่าว่า ตั้งแต่ต้นนั้นทางครอบครัวไม่สนับสนุนให้เป็นโนราหญิง เพราะกลัวเลี้ยงตัวเองไม่รอด หากแต่วันนี้เธอได้กลายเป็นผู้สืบทอดโนราจากคุณพ่อ คือโนราเติม อีกทั้งยังพยายามสอนโนราให้เยาวชนคนรุ่นใหม่อย่างต่อเนื่อง เพราะเด็ก ๆ คืออนาคตที่จะทำให้โนราเดินต่อไป ขณะที่โนรา อ้อมจิตร เสริญศิลป์ โนราอาวุโส จ.พัทลุง ย้ำว่า โนราหญิงได้รับการยอมรับมากขึ้นเมื่อเทียบกับในอดีต จนกล่าวได้ว่า ’โนราหญิงคือพลังสำคัญของโนราในวันนี้และอนาคต“ …นี่เป็นบางส่วนจากวงเสวนา

และในวันสุดท้ายของงาน นอกจากวงเสวนาและการขึ้นประชันของโนราหลายคณะเช่นเดิมแล้ว ก็ยังมี “พิธีกรรมสำคัญ” อย่าง “พิธีแทงเข้” ซึ่งเป็นอีกหนึ่งพิธีกรรมที่สำคัญในวันที่ชาวโนราจะทำการแสดงเป็นวันสุดท้าย หรือที่เรียกกันว่า “วันลาโรงครู” โดยจะเริ่มพิธีด้วยการนำเอาเรื่อง “ไกรทอง” มาเล่น โดยโนราผู้แสดงเป็นหมอจระเข้ผู้ปราบพญาชาละวันจะต้องใช้หอกแทง หรือเรียกว่าซัดเข้าใส่จระเข้ ซึ่งพิธีนี้นอกจากเป็นพิธีกรรมความเชื่อแล้ว ยังเป็นการอวดทักษะร่ายรำของนายโรง รวมทั้งทักษะการแสดงโนราชั้นสูง เพราะต้องมีการเคลื่อนไหวและแสดงสีหน้าอารมณ์ที่สามารถสะกดผู้ร่วมพิธีโรงครูได้ โดยจุดสังหารจระเข้นั้น มีทั้งบริเวณหัว รักแร้ตรงจุดหัวใจ กลางกระหม่อม ฯลฯ ส่วนหอกที่ใช้แทงในพิธีนั้นจะมีทั้งหมด 7 เล่ม โดยจะมีชื่อเรียกและมีพลังต่างกันไป พิธีนี้สำหรับผู้ชมก็จะรู้สึกสนุกไปพร้อมกับการเป็นพิธีกรรมความเชื่อ เพราะเป็นการแสดงที่เปิดโอกาสให้ผู้ชมได้มีส่วนร่วมตามไปกับผู้แสดงโนราด้วย …ซึ่ง “ทีมวิถีชีวิต” ต้องยอมใจให้กับทั้งผู้แสดง ทั้งกับผู้ชมในวันนั้น เพราะสภาพอากาศขณะทำการแสดงค่อนข้างร้อนจัดมาก แต่ทั้งผู้ชมและผู้แสดงนั้นต่างก็ไม่ถอยด้วยกันทั้งคู่

…นี่เป็นบางส่วนที่ “ทีมวิถีชีวิต” เก็บเล็กผสมน้อยได้มาจากการมีโอกาสเข้าไปสัมผัสกับ ’วิถีชีวิตโลกโนรา“ ตลอดระยะเวลา 3 วัน 3 คืนที่ได้มีการจัดงานนี้ขึ้นที่วัดพระบรมธาตุเจดีย์เขียนบางแก้ว อ.เขาชัยสน จ.พัทลุง ซึ่งจัดงานโดยความร่วมมือของศูนย์สื่อศิลปวัฒนธรรม ไทยพีบีเอส สสส. สกสว. และกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ซึ่งช่วย “เปิดมุมมองใหม่” ของ “คนนอกโลกโนรา” เพราะไม่เพียงมีการสาธิตการแสดงในรูปแบบโบราณ หากยังเป็นเสมือน ’พื้นที่การเรียนรู้“ อีกด้วย จนทำให้เกิดความเข้าใจในศิลปะการแสดง “โนรา…มรดกไทยที่เป็นมรดกโลก” เพิ่มขึ้น ซึ่งการส่งเสริมให้มีพื้นที่เรียนรู้แบบนี้ นับว่าเป็นเรื่องที่สำคัญที่จำเป็นจะต้องได้รับการสนับสนุนให้เกิดขึ้นมาก ๆ จนมีการกล่าวว่า… ’ศิลปะการแสดงไทยทุกแขนง…

แม้ไม่ได้ร่วมอนุรักษ์…แค่ส่งเสริมก็พอ“.

‘คนรุ่นใหม่…ลมหายใจโนรา’

หนึ่งในหัวข้อเสวนาที่น่าสนใจ น่าพินิจไม่น้อย คือหัวข้อ ’แลโนราผ่านสายตาคนรุ่นใหม่“  ซึ่งบนเวทีวันนั้นมี “โนราเลือดใหม่-โนราเยาวชน” ขึ้นมาแลกเปลี่ยนมุมมองของแต่ละคนเอาไว้ได้น่าคิด เริ่มจาก “โนราแม็กซ์-อธิภู พรหมดนตรี” จาก จ.นครศรีธรรมราช ที่บอกว่าไม่ได้อยากเป็นโนราแต่แรก และคุณแม่ก็ไม่สนับสนุน หากปู่ผู้เป็นโนราฝากฝังให้สืบทอดก่อนเสียชีวิต จนทำให้ได้เข้ามาสู่โลกของการแสดงโนรา และด้วยความที่เป็นคนรุ่นใหม่ มีทักษะทางด้านเทคโนโลยีดิจิทัล จึงนำเอาสื่อออนไลน์อย่าง tiktok มาใช้ในการ ’เผยแพร่โนรา“ จนมีคนติดตามล้นหลามชนิดที่ยอดวิวสูงหลักแสน 

ขณะที่ “น้องเอเซีย-ชาดา สังวรณ์” ทายาทของคณะโนราเติม วิน วาด จ.สงขลา ด้วยความที่อยู่ในสายตระกูลโนรา ทำให้เธอได้ยินเสียงปี่กลองมาตั้งแต่เด็ก และคุณยายยังตั้งคณะพิพิธภัณฑ์โนราเติมฯ จึงได้เรียนรู้การรำโนราแบบฉบับโนราหญิง เช่น การรำโนราตัวอ่อน ซึ่งน้องเอเซียสะท้อนไว้ว่า เธอมองว่าการแสดงโนราเป็นแบบแผนการใช้ชีวิตที่มีรายละเอียดมากมาย ตั้งแต่ทางร่างกาย อีกทั้งโนรายังช่วยเยียวยาจิตใจของเธอหลายด้าน โดยเมื่อขึ้นทำการแสดงเธอก็จะเหมือนตัดขาดจากโลกภายนอก ซึ่งในอนาคตเธอก็ตั้งเป้าไว้ว่า ในฐานะเป็นคนรุ่นใหม่ เธอก็อยากใช้เทคโนโลยีที่คนรุ่นใหม่อย่างเธอถนัดให้เป็นประโยชน์กับการเผยแพร่โนราต่อไป …นี่เป็นบางส่วนจาก “โนราคนรุ่นใหม่” ที่มีแนวคิด ’น่าสนใจ-น่าติดตาม“.

ศิริโรจน์ ศิริแพทย์ : รายงาน