ทั้งนี้ สืบเนื่องจากนโยบายต่าง ๆ ที่มีการเปิดออกมา เพื่อหวังจะได้คะแนนเสียง…ก็เป็นอีกครั้งที่มีเสียงแสดงความ “กังวล” จากฟากฝั่งวิชาการว่า… “สุ่มเสี่ยงต่อภาระการเงินของประเทศไทย??” ขณะที่ในท้ายที่สุดแล้ว “คะแนนเสียงคนไทย” ก็จะเป็น “เครื่องชี้ขาด” ว่า… “รัฐบาลหน้าจะมีนโยบายแบบใด??” อย่างไรก็ตาม วันนี้ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะสะท้อนต่อข้อมูลที่น่าสนใจกรณีหนึ่ง…ที่ก็โยงอยู่กับประเด็นหาเสียง…

กรณี “การแก้ปัญหากลุ่มผู้สูงอายุไทย”

ที่ต้องเผชิญสภาวะ “วิกฤติแก่ก่อนรวย”

นี่มิใช่แค่ไม่รวย…แต่ “เป็นปัญหาใหญ่”

ทั้งนี้ กับกรณีปัญหานี้ วราวิชญ์ โปตระนันทน์ นักวิจัยนโยบายด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง ได้สะท้อน-ฉายภาพไว้ในบทความชื่อ “เหตุผลที่คนไทยแก่ก่อนรวย มองจากมุมอคติเชิงพฤติกรรม” ที่มีการเผยแพร่ทาง เว็บไซต์สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) โดยระบุไว้ว่า…นอกจากไทยจะเผชิญความท้าทายจาก “สังคมผู้สูงอายุ” แล้ว อีกหนึ่งในปัญหาที่ต่อเนื่องกันคือ “วิกฤติแก่ก่อนรวย” มีคนไทยไม่น้อย “เกิดปัญหารายได้ไม่พอกับรายจ่ายที่จำเป็น” ทำให้ “ไม่มีเงินออมใช้สำหรับวัยชรา” ซึ่งก็เป็นข้อถกเถียงว่า เพราะอะไรในช่วงวัยทำงาน คนไทยจึงไม่ออมให้มากพอ??…

เมื่อเกษียณจำเป็นต้องมีเงินเพียงพอ…

โดยที่ช่วงเก็บออมก็คือในช่วงวัยทำงาน

กับข้อถกเถียง “ไม่มีการออมให้มากพอ” ในมุมหนึ่งนักวิชาการทีดีอาร์ไอ วิเคราะห์ไว้ถึงสาเหตุ-ปัจจัย ที่อาจส่งผลให้คนไทยส่วนหนึ่งเกิดวิกฤตินี้ วิเคราะห์โดยมองผ่าน “มุมอคติเชิงพฤติกรรม” หรือ การคิดการตัดสินใจที่ไม่สมเหตุสมผลตามหลักเศรษฐศาสตร์ ซึ่งส่งผลทำให้เกิดการกระทำที่ไม่เหมาะสมกับสถานการณ์จริง โดยในมุมอคติเชิงพฤติกรรมที่อาจส่งผลให้ “การออมเพื่อการเกษียณไม่เพียงพอ” ก็จะประกอบด้วยอคติด้านต่าง ๆ ที่แบ่งออกมาได้ดังต่อไปนี้คือ…

อคติชอบปัจจุบัน (present bias) คือ… การที่ให้น้ำหนักความสำคัญกับความสุขและผลตอบแทนที่ได้รับในปัจจุบันมากกว่าในอนาคต เช่น ผัดวันประกันพรุ่งในเรื่องการออม และก็นำเงินที่ได้มาไปซื้อสินค้า เพื่อตอบสนองความต้องการในปัจจุบัน เนื่องจากมีปัญหาในการควบคุมตนเอง แม้จะรู้ว่าการออมจะทำให้ได้ผลตอบแทนในรูปเงินเพื่อใช้ยามเกษียณ, อคติยึดติดสภาวะเดิม (status quo bias) คือ… การที่พึงพอใจกับภาวะปัจจุบันมากกว่าจะเปลี่ยนไปลองสิ่งใหม่ ถึงแม้ว่าจะให้ผลประโยชน์มากกว่าก็ตาม โดยจะเลือกออมในรูปแบบที่คุ้นเคย เช่น ฝากธนาคาร มากกว่าจะออมในหุ้นหรือพันธบัตร

อคติโลกแคบ (narrow framing) คือ… การมองทางเลือกที่ต้องพิจารณาในชีวิตเป็นกลุ่มย่อยแยกจากกัน ทำให้ตัดสินใจเลือกทางเลือกที่ด้อยกว่า เช่น มองการออมเพื่อเกษียณเป็นเรื่องอนาคตที่ยังไม่ต้องรีบคิดตอนนี้, อคติกลัวสูญเสียเกินเหตุ (loss aversion) คือ… การมองความสูญเสียจากสถานะปัจจุบันมีผลกระทบต่อจิตใจทางลบมากกว่าที่จะมีความสุข เช่น มองการออมเป็นการสูญเสียรายได้ที่จะนำมาบริโภค จึงเลือกออมน้อยกว่าที่ควรจะเป็น, อคติละเลยอัตราทบต้น (exponential growth bias) คือ… การไม่เข้าใจพลังของดอกเบี้ยทบต้น ซึ่งแปลงเงินออมให้มีมูลค่ามากขึ้นได้ หากออมต่อเนื่อง

นี่เป็น “อคติเชิงพฤติกรรม” ในกรณีนี้

ที่ส่งผล “ทำให้เกิดวิกฤติแก่ก่อนรวย”

ทั้งนี้ นักวิชาการท่านเดิมยังได้ระบุถึง “ปัจจัย” อื่น ๆ ที่ก็ส่งผลทำให้มีปัญหา “แก่ก่อนรวย” ว่า…ยังอาจเกิดจาก แรงกดดันจากคนในกลุ่ม (peer pressure) ที่เป็นอิทธิพลทางสังคมทั้งเชิงบวกและลบ จนทำให้มีพฤติกรรมคล้อยตาม เช่น มีพฤติกรรมการใช้จ่ายฟุ่มเฟือยตามเพื่อน หรือคนในสังคม เพื่อจะให้เป็นที่ยอมรับ จนทำให้ความสามารถในการออมลดลง หรืออาจเกิดจาก มองโลกในแง่ดีเกินไป (overoptimism) จนเกิดความชะล่าใจในการออม อาทิ คิดว่าเมื่อเกษียณไปคงจะไม่โชคร้าย เช่น เจ็บป่วยหนักหรือป่วยเรื้อรัง ทำให้ ไม่เห็นความสำคัญในการเตรียมพร้อมทางการเงินเพื่อเกษียณ…

ต่าง ๆ เหล่านี้ก็เป็น “พฤติกรรมปัจจัย”…

ที่อาจจะเป็น “สาเหตุทำให้แก่ก่อนรวย”

อย่างไรก็ตาม นอกจากมุมสะท้อนกรณีปัญหาคนไทยตกอยู่ภายใต้ “กับดักแก่ก่อนรวย” ทางนักวิชาการท่านเดิม ก็ยังได้จัดทำ “ข้อเสนอแนะเบื้องต้นในการแก้ปัญหา” ไว้ว่า… รัฐควรมีมาตรการเพิ่มการออมเพื่อการเกษียณที่เข้มข้นขึ้นให้คนไทย เพื่อให้คนไทยหันมาสนใจเริ่มต้นการออม-เพิ่มสัดส่วนการออม อาทิ สนับสนุนการออมภาคบังคับ หรือ ส่งเสริมการออมผ่านเงินทอน รวมถึง นำส่วนเพิ่มจากภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ไปเก็บออมแทนผู้ใช้จ่าย …นี่เป็นข้อเสนอจากนักวิชาการทีดีอาร์ไอ เพื่อจะช่วย “ลดวิกฤติแก่ก่อนรวย” ช่วย “ลดปัญหาไม่มีเงินใช้จ่ายยามเกษียณ” ให้กับคนไทย

แต่…อีกมุมก็มีกรณี “คนไทยรายได้ต่ำ”

“กินใช้แต่ละวันแทบไม่มี” ก็ “ไม่มีออม”

ยังวังเวง “รัฐบาลหน้าแก้ได้แค่ไหน??”.