มีโอกาสคุยกับ “หมอชัย” นายสัตวแพทย์ชัย วัชรงค์ นักวิชาการเกษตรสมัยใหม่ ในฐานะคณะกรรมการด้านเศรษฐกิจ พรรคเพื่อไทย ในประเด็นยุทธศาสตร์ “เกษตรกรมั่งคั่ง” ด้วยแผนผ่าตัดโครงสร้างทางการเกษตร เพื่อเพิ่มรายได้อีก 3 เท่า จากพื้นที่เกษตร 140 ล้านไร่ สร้าง “จีดีพี” 1.4 ล้านล้านบาท (จีดีพีทั้งประเทศ 16 ล้านล้านบาท) หรือรายได้เฉลี่ยแค่ 1 หมื่นบาท/ไร่/ปี ถือว่าต่ำเมื่อเทียบกับญี่ปุ่นไร่ละ 8.5 หมื่นบาท ไต้หวัน 5 หมื่นบาท เนเธอร์แลนด์ไร่ละเป็นแสนบาท

แต่ “หมอชัย” ขอเพิ่มขึ้นอีกไร่ละ 2 หมื่นบาท ทำให้จีดีพีภาคการเกษตรเพิ่มขึ้นอีก 2.8 ล้านล้านบาท แล้วจะทำอย่างไร เพื่อหนีการ “ติดหล่ม” รายได้เฉลี่ยแค่ 1 หมื่นบาท/ไร่/ปี ตัวเลขนี้ถ้าทำนาจะเหลือกำไรแค่ไร่ละพันบาทเท่านั้น

อันดับแรก “หมอชัย” นึกถึงคำว่า Efficiency หรือ “ประสิทธิภาพ” ปัจจุบันเรามีกฎหมาย มีกฎระเบียบเยอะไปหมด แต่ถ่วงความเจริญ ถ้าจะแก้เป็นรายฉบับต้องใช้เวลาหลายปี ดังนั้นจึงต้องกิโยตีนกฎหมาย รัฐบาลหน้าต้องผลักดัน พ...ว่าด้วยประสิทธิภาพประสิทธิผลในการบริหาร (Law of Efficiency)

2.ผลิตสินค้าตามความต้องการของตลาด จากปัจจุบันปลูกข้าวเกินกว่าการบริโภคในประเทศกว่าเท่าตัว จึงต้องส่งออกที่มีการแข่งขันสูงมาก เพราะข้าวปลูกง่าย ปลูกทั้งที่เสี่ยงขาดทุนและได้กำไรน้อย

ดังนั้นรัฐต้องมี “เงื่อนไขจูงใจ” ให้เลิกทำนาลง 50% จาก 60 ล้านไร่ เพื่อเปลี่ยนไปปลูกอย่างอื่นที่ทำกำไรได้มากกว่า เช่น ปลูกข้าวโพดทดแทนนำเข้าปีละ 3 ล้านตัน ปลูกถั่วเหลืองทดแทนนำเข้าปีละ 4.5 ล้านตัน รวมทั้งสินค้าที่มีศักยภาพ เช่น มะพร้าวอ่อน มะพร้าวกะทิ ทุเรียน และปลูกหญ้าเลี้ยงวัวเนื้อที่จีนตะวัน ออกกลาง ต้องการปีละ 4-5 ล้านตัว

3.ผลผลิตต่อไร่ต่ำ ได้ข้าวเปลือกเฉลี่ย 540 กก./ไร่ เมื่อไปไม่ถึง 1,200 กก./ไร่ จึงจำเป็นต้องขายให้ราคาสูง ๆ เพื่อมาช่วยอุดหนุนให้อยู่ได้ สรุปต้องเอางบประมาณมาอุดหนุนกันทุกปี แต่ไม่มีแผนการพัฒนาเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน

4.ส่วนใหญ่เกษตรกรอายุเกิน 50 ปี จึงเข้าถึงเทคโนโลยีสมัยใหม่น้อยมาก บางรายมีความรู้ แต่ทำไม่ได้เพราะเป็นเกษตรแปลงเล็ก ๆ

5.ต้องเป็นเกษตรก้าวหน้า ใช้เทคโนโลยีทันสมัย เพื่อความแม่นยำเรื่องน้ำ-ปุ๋ย ต้องทำเป็นแปลงใหญ่ขนาด 1,000 ไร่ มีการบริหารเหมือนบริษัทเอกชน โดยทำเป็นตัวอย่าง 10 ศูนย์เกษตรก้าวหน้า กระจายอยู่ทั่วประเทศ

6.ขยายพื้นที่ชลประทาน (ปัจจุบัน 35 ล้านไร่ 25% ของพื้นที่การเกษตร) ให้เร็วมากขึ้นกว่านี้ เนื่องจากเกษตรกรในเขตชลประทานมีรายได้มากกว่านอกเขตชลประทานกว่า 3 เท่า ให้ประชาชนมีน้ำทำการเกษตร ดีกว่าเอาเงินไปแจกเขา

7.ประสิทธิภาพของราชการ ต้องมี KPI (ดัชนีชี้วัดความสำเร็จ) งานวิจัยดี ๆ ควรนำมาใช้ ขณะเดียวกันต้องให้ทุนนักวิชาการเพื่อศึกษาวิจัยแก้ปัญหาโรคระบาดสัตว์ สนับสนุนสตาร์ทอัพที่มีเทคโนโลยีใหม่ ๆ ให้มีพื้นที่เล่นมากขึ้น

8.สนับสนุนตั้งโรงงานปุ๋ยกระจายอยู่ทุกอำเภอ ผลิตปุ๋ยในสูตรที่เหมาะสมกับดินของพื้นที่นั้น ๆ เพื่อแก้ปัญหาปุ๋ยราคาแพง ลดการนำเข้าจากต่างประเทศ และเกษตรกรได้ปุ๋ยที่มีความแม่นยำกับสภาพดินของตัวเอง

9.การรับจำนำประกันราคา เล่นกันที่เงื่อนไขราคาเพียงอย่างเดียว โดยไม่ได้เปลี่ยนแปลงประสิทธิภาพการผลิตและต้นทุนการผลิตเลย! โครงการรับจำนำช่วยให้ชาวนามีเงินในกระเป๋ามาก แต่พ่อค้าโรงสีไม่ชอบ เพราะต้องซื้อข้าวแพง แต่ประกันราคาทำให้ชาวนาไม่สนใจต่อรองราคา เพราะมีรัฐบาลมาจ่ายส่วนต่างให้ ขณะที่พ่อค้าโรงสีข้าวชอบโครงการนี้ เพราะได้ซื้อของถูก แถมในภาคกลาง “ทำนาเช่า” 2 ใน 3 ของพื้นที่ แล้วจ่ายประกันราคาให้เจ้าของนา หรือคนเช่าทำนา?

10.ต่อไปอาจไม่มี “รับจำนำ-ประกันรายได้” แต่จะเป็นการแทรกแซงตลาดแบบบูรณาการในระยะเวลาสั้น ๆ เข้ามาแทน โดยใช้งบน้อยมาก ตอนนี้มีไอเดียแล้วแต่ยังไม่ได้เคาะ ก่อนจะก้าวไปสู่การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างภาคการเกษตร คือเป็นแปลงใหญ่จริง ๆ ต้องเพิ่มผลผลิต/ไร่ให้สูงขึ้น และปลูกพืช-เลี้ยงสัตว์ตามออร์เดอร์ส่งออก

ผมเป็นลูกหลานของเกษตรกร แต่พอฟัง “หมอชัย” แล้วจึงรู้สึกว่าแกอยู่ใกล้โลกของความจริงมากที่สุด!!

—————
พยัคฆ์น้อย