“The Offering : มันสิงอยู่ในร่าง” ภาพยนตร์สยองขวัญของผู้กำกับ โอลิเวอร์ พาร์ค ที่พยายามนำความเชื่อเกี่ยวกับซาตานร่างแพะ “บาโฟเมต” (Baphomet) มาผสมผสานกับตำนานและนิทานพื้นบ้านของชาวยิวโบราณเกี่ยวกับปีศาจ “ABYZOU”

ตามตำนานของเทพเจ้ากรีก บาโฟเมต คือหญิงที่ถูก โลกิ สาปให้กลายเป็นแพะภูเขา ก่อนปิดผนึกเอาไว้ไม่ให้ไปก่อความเดือดร้อนแก่ผู้อื่น ส่วนตามประวัติศาสตร์ บาโฟเมต คือเทพที่เหล่าอัศวินเทมพลาร์เคารพบูชา จนเมื่อพระเจ้าฟิลลิปที่ 5 แห่งฝรั่งเศส ติดหนี้จำนวนมหาศาลกับเหล่าเทมพลาร์ ไม่มีเงินมาใช้ จึงตัดสินใจเลือกปราบปรามเทมพลาร์ให้หมดไป แทนที่จะใช้หนี้ โดยอ้างว่า พวกเทมพลาร์นับถือซาตานอย่าง บาโฟเมต และเป็นภัยต่อคริสต์จักร และในโลกยุคปัจจุบัน บาโฟเมต ถูกนำไปเป็นสัญลักษณ์สำคัญของโบสถ์ซาตานที่สหรัฐ เพื่อใช้ในการต่อสู้กับคริสตจักร จึงทำให้ภาพพจน์ของ บาโฟเมต สำหรับคนยุคนี้ คือ ซาตานร่างแพะ

ส่วน ABYZOU เป็นปีศาจสาวที่อิจฉาริษยาผู้หญิงท้อง เพราะตัวเองมีบุตรยาก จึงมุ่งร้ายให้ผู้หญิงท้องเกิดการแท้งบุตร

เรื่องราวของหนัง The Offering เปิดฉากด้วยการเล่าถึงชาวแก่ผู้หนึ่งที่สูญเสียภรรยาไป จึงพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อจะได้พบกับภรรยาของเขาอีกครั้ง จึงต้องหันหน้าไปพึ่งไสยศาสตร์ ก่อนตัดสินใจนำเด็กหญิงคนหนึ่งมาทำพิธีกรรมบางอย่าง ซึ่งทำให้เกิดเรื่องราวสยองขวัญที่ยากจะหยุดยั้งได้ ซึ่งต้องไปตามชมกันต่อในโรงภาพยนตร์ว่า มันจะสยองขนาดนั้น

จุดแข็งของ TheOffering มันสิงอยู่ในร่าง

การนำซาตานร่างแพะ “บาโฟเมต” (Baphomet) มาเป็น Last Boss ในหนังเรื่องนี้ ซึ่งน่าจะทำให้คนที่รู้จักอยู่แล้ว อินกับหนังได้เต็มที่ ส่วนคนที่ไม่รู้จักก็ได้เปิดโลกใหม่ ๆ

การใส่ความเชื่อของชาวยิวเข้าไป ซึ่งคนส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีความรู้เรื่องนี้นัก ทำให้หนังดูมีความลึกลับซับซ้อน โดยเฉพาะ เรื่องความเชื่อที่ บาโฟเมต จะถูกอัญเชิญมาสิงร่าง

หนังคุมโทนได้ดี ไม่ยืดเยื้อ เดินเรื่องเป็นเส้นตรง มีความ Old School ของหนังสยองขวัญยุค 90 และ 2000 ที่ตุ้งแช่ให้ได้ตกใจกันบ่อย ๆ ซึ่งถือเป็นจุดขายหลักของ TheOffering เลย แต่คนที่ไม่ชอบ ก็อาจถึงขั้นยี้ได้เลย

จุดอ่อนของ TheOffering มันสิงอยู่ในร่าง

เมื่อทีมผู้สร้างนำ บาโฟเมต มาเป็นตัวร้ายในหนัง แต่คงกลัวจะไม่พีคพอ จึงมีการนำเรื่องราวของ ABYZOU มาผสมปนเปเข้าไปด้วย เพื่อให้พล็อตหนังมีมิติความทับซ้อนหลากหลายน่าสนใจมากขึ้น นอกจากนั้น ยังมีความเชื่อของชาวยิวโบราณ ที่เข้ามาชุลมุนโยงใยกันไปมาให้ยุ่งเหยิงกว่าเดิมขึ้นไปอีก แต่มันไม่ได้ลงลึกมากเพียงพอ เป็นแค่การแตะ ๆ เพื่อให้หนังไปต่อได้ ทว่า เมื่อนำมารวมกันแล้วมันไม่ประสบความสำเร็จ ถึงแม้มันจะไม่ได้แย่ขนาดนั้นก็ตาม

หนังใช้จังหวะจัมพ์สแกร์ (Jump Scare) ได้เรี่ยราดมาก มาถี่ ๆ จนน่ารำคาญ จริง ๆ มันก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย เพราะหนังเรื่องนี้จัมพ์สแกร์กันจังหวะ 2 จังหวะ 3 เท่านั้น ไม่ต้องรอนานเหมือนบางเรื่องที่ดึงเยอะจนไปจัมพ์กันจังหวะ 4 หรือ 5 เลยทีเดียว แต่มันเยอะไปไง เยอะจนมีคนเดินหนีออกจากโรงเลยทีเดียว

3/5
หนังไม่ได้แย่ แต่ก็ต้องยอมรับว่ามันไม่ดีพอสำหรับใครหลาย ๆ คน ส่วนตัว “หมีเช” ถือว่าเป็นหนังสยองขวัญที่สร้างความบันเทิงได้ดี เนื่องจากส่วนตัวไม่ชอบหนังที่น่ากลัวจนเกินไป น่ากลัวชนิดเก็บไปนอนฝัน อันนี้ไม่ชอบเลย เช่นเดียวกับ ฉากจัมพ์สแกร์ที่จริง ๆ ก็ไม่ชอบ แต่หนังเรื่องนี้จัมพ์สแกร์เร็วและถี่จนรู้สึกว่า มันกลายเป็นความบันเทิงอย่างหนึ่งของหนังที่ตัวเองรับได้ แม้จะมีบางจังหวะที่รู้สึกว่า จังหวะแบบนี้ก็ยังเอาเหรอ เกินปุยมุ้ย

ใครที่ไม่ชอบดูหนังสยองขวัญน่ากลัว ๆ เลือดสาด มีภาพชวนผวา แต่ก็ยังอยากลิ้มรสหนังสไตล์นี้ ขอแนะนำ The Offering เพราะคุณจะสามารถดูได้อย่างสบายใจ เพราะมันไม่หนักจนเกินไป ไม่โหด ไม่หลอน ไม่ผวาจนเกินไป มีแค่ฉากศพที่ทำได้ดี สมจริง ซึ่งบางคนอาจไม่ชอบ แต่หมีเชเฉย ๆ จึงดูได้สบาย ๆ โดยรวมหนังทำให้ใจคุณเต้นแรงได้ ผวาได้เรื่อย ๆ แต่ไม่ได้รุนแรงต่อหัวใจจนเกินไป อารมณ์ประมาณอยากกินอาหารรสเผ็ด แต่กินเผ็ดไม่เก่ง งั้นขอส้มตำใส่พริก 2 เม็ดแล้วกัน เผ็ดพอให้ได้รับรู้อารมณ์เผ็ด แต่ก็ไม่ได้ทำให้ทรมานจนเกินรับได้

คอลัมน์ : ดูหนังกับหมี
โดย : หมีเช