การ “สังเกตการณ์” เลือกตั้ง เป็นอีกบทบาทสำคัญมากในครั้งนี้ เนื่องจากหลายปัจจัย “แตกต่าง” จากอดีต โดยเฉพาะการเข้ามาของเทคโนโลยี ทำให้โอกาสรับข้อมูลไม่ว่าจริง-เท็จรวดเร็ว ประกอบกับข้อวิพากษ์วิจารณ์ กรณีไม่มีการรายงานผลการนับคะแนนเลือกตั้ง “เรียลไทม์” ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)
บรรยากาศ ท่าทีการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้ จุดยืนภาคสังคม และประชาชนอย่างเราๆ จะทำอะไรได้บ้าง หากต้องช่วย “จับตา” ความโปร่งใสเลือกตั้ง “ประชาธิปไตยยืนหนึ่ง” สอบถาม “วรพงษ์ ปลอดมูสิก” อาจารย์ประจำหลักสูตรการสื่อสารการตลาดดิจิทัล คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ สะท้อนความคิดเห็นไว้น่าสนใจ โดยมองการเลือกตั้งครั้งนี้ มีปรากฏการณ์น่าจับตาหลายประเด็น ทั้งยุทธวิธีในการสื่อสาร และคาดการณ์ผลการเลือกตั้ง ขณะที่ต้องให้ความสำคัญคือ “ความโปร่งใส” ที่มี กกต. เป็นหน่วยงานกำกับดูแล
“แน่นอนว่าการเลือกตั้งก็เหมือนการทำ “ข้อสอบ” ที่ผู้สอบอยากรู้คำตอบและอยากรู้คะแนนหลังการสอบเสร็จสิ้นให้เร็วที่สุด การที่ กกต. ไม่อาจจะรายงานการนับคะแนนแบบเรียลไทม์ได้ ก็อาจจะสร้างความความขุ่นเคืองใจให้กับผู้มีสิทธิออกเสียงว่า ช่วงเวลาว่างนั้นมีอะไรเกิดขึ้น”
สิ่งที่จะตามมา ก็คือการแสวงหาข้อมูลข่าวสาร ซึ่งหากสื่อต่าง ๆ ไม่มีการรายงาน ก็จะยิ่งเปิดให้มีเรื่องไม่คาดคิด รวมถึงข่าวลือเกิดขึ้นได้ ดังนั้น การมีอาสาสมัครเข้าไปมีส่วนร่วมสังเกตการณ์ในการนับคะแนน และรายงานแบบภาคประชาชนด้วยตัวเอง จะเป็นเรื่องดีทั้งต่อประชาชน และผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งทุกพรรค สื่อมวลชนเองก็พร้อมที่จะช่วยรายงานต่อในสื่อกระแสหลัก และแพลตฟอร์มออนไลน์ในหลากหลายช่องทาง
สำหรับการ “จับตา” เลือกตั้ง อ.วรพงษ์ ชี้ว่าทำได้หลายวิธี แต่สิ่งที่จะช่วยให้การทำงานภาคประชาชนสมบูรณ์ขึ้นคือ เทคโนโลยีดิจิทัล ทั้งการสร้างแพลตฟอร์มรวบรวมข้อมูล ประมวลผล รีเช็ก เปิดช่องทางแจ้งข้อมูลเบาะแส เป็นต้น
“มากไปกว่านั้น ยังสามารถใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการระดมทุน หรือที่เรียกว่า การระดมทุนสาธารณะ (Crowdfunding) หรืออาจจะใช้เทคโนโลยีซอฟต์แวร์เพื่อความร่วมมือ (Collaborative software) ในการทำงานร่วมกัน หรือช่วยแก้ปัญหาในจุดที่ต้องการการสนับสนุนพิเศษ เป็นการจัดสรรทรัพยากรอย่างหนึ่ง ซึ่งทั้งหมดนี้ สามารถขับเคลื่อนให้เกิดการเลือกตั้งโปร่งใส ตั้งแต่ช่วงหาเสียงจนถึงรายงานผลคะแนน”
นอกจากเทคโนโลยี อ.วรพงษ์ เสนอว่า การปลูกฝังชุดความคิดต่อต้านการทุจริตเลือกตั้งในทุกรูปแบบก็สำคัญ ในฐานะนักนิเทศศาสตร์ ที่รู้จักพลังของสื่อดี อยากจะขอให้ทุกสื่อร่วมด้วยช่วยกันปลูกฝังชุดความคิดนี้ เพราะประเทศไทยตอนนี้เป็นช่วง “หัวเลี้ยวหัวต่อ” ทุกเสียงมีความสำคัญ อยากรณรงค์ให้เกิดพลเมืองตื่นรู้ (Active Citizen) ช่วยกันเป็น “ประชาชนตาสับปะรด” ช่วยกันสังเกต ช่วยกันสอดส่อง
“มากกว่านั้นอาจจะไม่ใช่แค่ตาสับปะรด แต่ลงมือช่วยผลิตสื่อและใช้สื่อในมือของตัวเอง ในฐานะสื่อภาคประชาชน เผยแพร่สิ่งที่ถูกต้องสู่สาธารณะมากขึ้น ก็น่าจะช่วยลดการทุจริตในการเลือกตั้ง ลดการซื้อสิทธิขายเสียง”
อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าภาคประชาชนและอาสาสมัครที่เฝ้าสังเกตการณ์ถือเป็นกลุ่มคนกลาง ตัวแทนของประชาชนที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้การเลือกตั้งครั้งนี้ได้เป็นอย่างดี อยากจะให้มองเป็นขบวนการภาคประชาชนที่ไม่สังกัดฝ่ายใด แต่มาช่วยกันมอง ช่วยกันดูแล ทุกเสียง ที่ทุกคนออกใช้สิทธิ ซึ่งหากมองย้อนไปที่การเลือกตั้งท้องถิ่นอย่างผู้ว่าฯ กทม. อาสาสมัครนับคะแนนแบบคู่ขนานมีความคึกคัก และเกิดกระแสเรียกกันออกมาเฝ้าสังเกตการณ์การเลือกตั้ง ทำให้เกิดความโปร่งใสมาก ดังนั้น ส่วนตัวเชื่อว่าครั้งนี้ อาสาสมัครจะออกมามากกว่าเดิม อาจจะมีจำนวนนับแสนคน
ส่วนการใช้สื่อโซเชียลจะมีอิทธิพลในการตรวจสอบเลือกตั้งแค่ไหน มองว่า “ความกระหาย” ต้องดับด้วยสิ่งตอบสนอง การเลือกตั้งครั้งนี้จะเห็นภาพของผู้คนให้ความสนใจ และแสดงออกผ่านสื่อโซเชียลมากขึ้นแน่นอน ก่อนวันลงคะแนนทุกคนมีสื่อของตัวเอง เชื่อว่าแต่ละคนคงใช้สื่อส่วนตัวสนับสนุนความเชื่อตัวเอง ซึ่งตนอยากจะให้ กกต. ให้ความรู้กับประชาชนด้วยว่า สื่อแบบไหนทำได้ สื่อแบบไหน “ห้ามทำ” มีช่วงเวลาไหนห้ามทำการโฆษณา พฤติกรรมการใช้สื่ออย่างไรที่ไม่ควรทำ
“การออกสิทธิใช้เสียงของตัวเอง ในฐานะพลเมืองเจ้าของประเทศยุคนี้ คงไม่ใช่แค่วันลงคะแนนอีกต่อไป หลายคนคงใช้เสียงกันตั้งแต่ยุบสภานี่เลย ซึ่งการตรวจสอบก็เช่นกันกับการใช้เสียงต้องไปคู่กัน ตอนนี้หวังจะเห็นปรากฏการณ์ Young Reporter คนรุ่นใหม่ ออกมาช่วยรายงานผลคะแนนเสียง โดยใช้แพลตฟอร์มโซเชียลก็เป็นไปได้”
ขณะที่การทำหน้าที่ของสื่อหลัก หลังยุบสภา หลายคนเห็นกระแสคนเริ่มติดตามข่าวการเมืองผ่านสื่อกระแสหลักมากขึ้น นักการเมืองเองก็แย่งพื้นที่สื่อรายวัน จึงอยากฝากสื่อมวลชนเคร่งครัดการทำงาน วางตัวเป็นกลาง และใช้ชุดจรรยาบรรณ “เข้มข้น” กว่าปกติ
นอกจากนี้มองว่า สื่อมวลชนก็ควรจะร่วมมือกันทั้งกับองค์กรสื่อ องค์กรกลาง องค์กรภาคประชาชน เพราะเวลานี้ควรขยายบทบาทหน้าที่เพื่อรับใช้ประชาชนให้สมบูรณ์ที่สุด พร้อมยกตัวอย่าง เดลินิวส์ร่วมมือกับมติชน ก็เป็นหนึ่งกรณีศึกษาที่น่าภูมิใจแทน รวมถึงสื่ออื่นๆ ที่จะร่วมมือกันรายงานคะแนนผลการเลือกตั้งแบบไม่เป็นทางการจากทุกจุดทั่วประเทศ ผ่านสมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอลเป็นแกนกลาง
“เวลานี้เป็นบทบาทสำคัญของสื่อมวลชน ในการเป็นสุนัขเฝ้าบ้าน เป็นตะเกียงนำทาง รักษาไว้ซึ่งผลประโยชน์ของประชาชน” อ.วรพงษ์ ฝากทิ้งท้าย.