ใกล้เข้ามาทุกทีแล้ว สำหรับเทศกาลสงกรานต์ที่หลายคนต่างเฝ้ารอ เพราะว่าวันนี้เป็นวันดีขึ้นปีใหม่ไทย ที่คนไทยยึดถือสืบต่อกันมาอย่างยาวนาน เนื่องจากเป็นวันสำคัญที่งดงามและอ่อนโยนที่เต็มไปด้วยบรรยากาศของความกตัญญู ความสนุกสนาน โดยใช้ “น้ำ” เป็นตัวสร้างสัมพันธไมตรี ทั้งนี้ ยังถือว่าเป็นช่วงเทศกาลที่ชาวต่างชาติมาพักผ่อนเมืองไทยเยอะที่สุดอีกด้วย

“วันสงกรานต์” ตรงกับวันที่ 13 เมษายน ของทุกปี ซึ่งเป็นประเพณีที่สืบต่อมานานในแถบประเทศเอเชียอาคเนย์ สำหรับในประเทศไทยยังถือเป็นวันปีใหม่ไทย ซึ่งทางการประกาศให้เป็นวันหยุดราชการ ถ้าให้พูดถึงวันสงกรานต์ หลายคนก็คงนึกถึงประเพณีการละเล่นน้ำและการรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ แต่เชื่อว่าบางกลุ่มอาจจะยังไม่รู้ถึงความลึกซึ้งของจุดเริ่มต้นและที่มาของสำคัญแบบนี้ “เดลินิวส์ออนไลน์” จะพาทุกคนไปทำความรู้จัก “วันสงกรานต์” ทำไมถึงเป็นประเพณีที่สืบทอดมายาวนาน

ประวัติความเป็นมา-ความสำคัญ
เป็นวันที่ได้รับอิทธิพลมาจากเทศกาลโฮลี ของประเทศอินเดีย แต่วันสงกรานต์ของไทย เปลี่ยนจากการสาดสีเป็นการสาดน้ำใส่กัน เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพอากาศที่ร้อนจัดในช่วงเดือนเมษายน และยังมีความเชื่อว่าเป็นการปัดเป่าสิ่งไม่ดีออกไป ทำให้คนสมัยก่อนและปัจจุบันยังคงนิยมเล่นสาดน้ำ โดยจะไม่ถือโทษหรือโกรธกัน สำหรับคำว่า “สงกรานต์” มาจากภาษาสันสกฤต ที่มีความหมายว่า “การเคลื่อนย้าย” โดยเชื่อว่าในวันสงกรานต์เป็นช่วงเวลาการเคลื่อนย้ายของจักรราศี และเป็นเคลื่อนเข้าสู่ปีใหม่

นอกจากนี้ก่อนจะมาเป็นวันสงกรานต์มีการเปลี่ยนแปลงนับไม่ถ้วน โดยจะพาไปย้อนจุดเริ่มต้นก่อน ซึ่งสมัยโบราณเดิมทีถือเอาวันขึ้น 1 ค่ำ เดือนอ้าย เป็นวันขึ้นปีใหม่ เพราะถือว่าฤดูหนาวเป็นการเริ่มต้นปีที่ดี โดยจะอยู่ในช่วงเดือนพฤศจิกายน หรือธันวาคม นั้นเอง ต่อมาช่วงสมัยกรุงสุโขทัย ได้มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ โดยยึดตามคติพราหมณ์ ซึ่งกล่าวว่า วันปีใหม่ไทยจึงเป็น วันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 หรือประมาณเดือนเมษายน

ต่อมาในปี พ.ศ. 2432 ในสมัยรัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการเปลี่ยนแปลงใหม่อีกครั้ง โดยจัดตั้งให้วันขึ้นปีใหม่ของประเทศไทย เป็นวันที่ 1 เมษายน ซึ่งยังคงเป็นวันที่คนไทยเลี้ยงฉลองแบบเดิม จนมาถึงในช่วงยุคสมัยของ “จอมพล ป.พิบูลสงคราม” ปี พ.ศ. 2483 ได้มีการประกาศฉบับใหม่แก่ประชาชน โดยกล่าวว่าให้วันที่ 1 มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่ซึ่งประเทศไทยจะมีการนับแบบสากลโลก และถูกใช้มาจนทุกวันนี้อีกด้วย เป็นอย่างไรกันบ้าง สำหรับประวัติสั้น ๆ เรียกได้ว่ามีการเปลี่ยนแปลงหลายรอบเหลือเกิน แต่ความหมายและความสำคัญนั้นไม่มีเปลี่ยนเเปลงหรือแตกต่างไปจากเดิมเลย

อย่างไรก็ตาม คนไทยในหลายภูมิภาคก็ยังคงยึดถือว่า “วันสงกรานต์” เป็นเทศกาลเฉลิมฉลองปีใหม่ และต่อมามีการกำหนดให้วันสงกรานต์ตรงกับวันที่ 13 เมษายนนั่นเอง นอกจากนี้ ยังมีตำนานนางสงกรานต์ โดยนางสงกรานต์นั้นไม่มีตัวตนจริง เป็นเพียงคติความเชื่อที่ปรากฏอยู่ในตำนานสงกรานต์ที่อยู่ในช่วงรัชกาลที่ 3 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้จารึกลงในแผ่นศิลา 7 แผ่น ประดับไว้ที่ศาลารอบมณฑปทิศเหนือในวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม โดยมีการเล่าขานว่า นางสงกรานต์ เป็นธิดาของท้าวกบิลพรหม และเป็นนางฟ้าอยู่บนสรวงสวรรค์ชั้นจาตุมหาราช (สวรรค์ชั้นที่ 1 ในทั้งหมด 6 ชั้น) ซึ่งมีหน้าที่ในการรับศีรษะของท้าวกบิลพรหม แห่รอบเขาพระสุเมรุในแต่ละรอบปี หรือในวันสงกรานต์นั้นเอง 

โดยชื่อของ “นางสงกรานต์ ทั้ง 7 วัน” เมื่อวันสงกรานต์ตรงกับวันใดในแต่ละปี ก็จะมีนางสงกรานต์ประจำวันนั้น ๆ โดยนางสงกรานต์มีชื่อดังนี้
– ทุงษเทวี นางสงกรานต์ประจำวันอาทิตย์
– โคราคะเทวี นางสงกรานต์ประจำวันจันทร์
– รากษสเทวี นางสงกรานต์ประจำวันอังคาร
– มัณฑาเทวี นางสงกรานต์ประจำวันพุธ
– กิริณีเทวี นางสงกรานต์ประจำวันพฤหัสบดี
– กิมิทาเทวี นางสงกรานต์ประจำวันศุกร์
– มโหทรเทวี นางสงกรานต์ประจำวันเสาร์

สำหรับ “นางสงกรานต์” กรมส่งเสริมวัฒนธรรมได้เผยแพร่ประกาศสงกรานต์ของฝ่ายโหรพราหมณ์ กองพระราชพิธี สำนักพระราชวัง พร้อมจัดทำภาพวาด นางสงกรานต์ ประจำปี 2565 ดังนี้คือ

ปีเถาะ (มนุษย์ผู้หญิง ธาตุไม้) เบญจศก จุลศักราช 1385 ทางจันทรคติ เป็น อธิกมาส ทางสุริยคติ เป็น ปกติสุรทิน

วันที่ 14 เมษายน เป็น วันมหาสงกรานต์ ทางจันทรคติตรงกับวันศุกร์ แรม 9 ค่ำ เดือน 5 เวลา 16 นาฬิกา 01 นาที 02 วินาที

นางสงกรานต์ ทรงนามว่า กิมิทาเทวี ทรงพาหุรัดทัดดอกจงกลนี อาภรณ์แก้วบุษราคัม ภักษาหารกล้วยน้ำ พระหัตถ์ขวาทรงขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายทรงพิณ เสด็จนั่งมาเหนือหลังมหิงสา (ควาย) เป็นพาหนะ

วันที่ 16 เมษายน เวลา 20 นาฬิกา 12 นาที 24 วินาที เปลี่ยนจุลศักราชใหม่เป็น 1385 ปีนี้ วันเสาร์ เป็น ธงชัย, วันพุธ เป็น อธิบดี วันศุกร์ เป็น อุบาทว์, วันศุกร์ เป็น โลกาวินาศ

ปีนี้ วันจันทร์ เป็นอธิบดีฝน บันดาลให้ฝนตก 500 ห่า ตกในโลกมนุษย์ 50 ห่า ตกในมหาสมุทร 100 ห่า ตกในป่าหิมพานต์ 150 ห่า ตกในเขาจักรวาล 200 ห่า นาคให้น้ำ 2 ตัว

เกณฑ์ธัญญาหาร ได้เศษ 6 ชื่อ ลาภะ ข้าวกล้าในภูมินา จะได้ 9 ส่วน เสีย 1 ส่วน ธัญญาหาร พลาหาร มัจฉมังสาหาร จะบริบูรณ์ อุดมสมบูรณ์ เกณฑ์ธาราธิคุณ ตกราศีปัถวี (ดิน) น้ำงามพอดี อีกด้วย…

ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพ :  @กรมส่งเสริมวัฒนธรรม, @ฝ่ายโหรพราหมณ์ กองพระราชพิธี สำนักพระราชวัง