เมื่อหลายเดือนก่อน “ทีมข่าววาไรตี้สัตว์เลี้ยง” ได้มีการนำเสนอเกี่ยวกับผีเสื้อ ในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ซึ่งพื้นป่าแห่งนั้นมีระบบนิเวศที่สวยงามเป็นอย่างมากและวันนี้ทาง “ทีมข่าววาไรตี้สัตว์เลี้ยง” จะพาท่านผู้อ่านไปรับรู้ข้อมูลของอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานกันให้มากขึ้น ซึ่งในอนาคตผืนป่าแห่งนี้อาจจะได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกก็ได้ ระหว่างวันที่ 16-31 ก.ค.นี้ จะมีการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 44 วาระสำคัญของประเทศไทย คือ การนำเสนอ “กลุ่มป่าแก่งกระจาน” ที่ประกอบไปด้วย อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าลุ่มน้ำภาชี จ.ราชบุรี อุทยานแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติไทยประจัน จ.ราชบุรี และอุทยานแห่งชาติกุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ ขึ้นสู่ “มรดกโลก”
สำหรับความพร้อมของประเทศไทย นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ได้แถลงผลการดำเนินงานในการแก้ไขปัญหาให้กับชุมชนบ้านบางกลอย อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ว่า รัฐบาล โดย ทส.ได้ดำเนินการแก้ปัญหามาอย่างต่อเนื่อง มีหน่วยงานของรัฐมากกว่า 20 หน่วยงาน เข้าไปดำเนินการโครงการต่าง ๆ ในพื้นที่ไม่น้อยกว่า 88 โครงการ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต ความเป็นอยู่ ส่งเสริมอาชีพ เสริมสร้างสุขอนามัย รวมถึงวิถีชีวิตดั้งเดิมของชาวกะเหรี่ยงอย่าง
ต่อเนื่องรัฐบาลให้ความสำคัญกับสิทธิในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนท้องถิ่นที่อยู่อาศัยในพื้นที่โดยไม่กระทบต่อวิถีชีวิตดั้งเดิม รวมถึงสิทธิในความมั่นคงและการมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากร และได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายสิทธิมนุษยชน ซึ่งแสดงให้เห็นจากการปรับปรุง พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 และ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 โดยกำหนดให้มีการสำรวจการถือครองที่ดินของประชาชนที่อยู่อาศัยหรือทำกินในเขตพื้นที่อนุรักษ์ ให้แล้วเสร็จภายใน 240 วัน เพื่อทำอนุบัญญัติที่เกี่ยวข้อง ในการกำหนดระเบียบปฏิบัติเพื่อดำเนินโครงการเกี่ยวกับการอนุรักษ์และดูแลทรัพยากรธรรมชาติภายในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ และจัดสรรที่ดินทำกิน และเพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาข้อเรียกร้องของชุมชนกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย รัฐบาลได้แต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน รวมทั้งการพัฒนาและฟื้นฟูคุณภาพชีวิตของชาวกะเหรี่ยง ในพื้นที่บ้านบางกลอย อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี เมื่อวันที่ 16 มี.ค. 2564 เพื่อรวบรวมปัญหา ตรวจสอบข้อเท็จจริง รวมทั้งเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาที่เหมาะสมเพื่อฟื้นฟูคุณภาพชีวิตของชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่บ้านบางกลอย
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา การนำเสนอพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลก ซึ่งรวมถึงพื้นที่บ้านโป่งลึก-บางกลอย ได้ดำเนินการด้วยความโปร่งใส มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นและมีการติดตามตรวจสอบการดำเนินงานในพื้นที่ร่วมกับนานาชาติ ซึ่งรวมถึงองค์กร IUCN ประจำประเทศไทยด้วย โดยในปี 2562 สหภาพสากลว่าด้วยการอนุรักษ์ (IUCN) ได้ร่วมประชุมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างไม่เป็นทางการในพื้นที่ พร้อมทั้งได้ให้คำแนะนำต่อการดำเนินงานเพื่อนำเสนอเป็นมรดกโลก และในปี 2563 ทส.โดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้จัดกิจกรรมศึกษาดูงานแหล่งมรดกทางธรรมชาติพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจาน สำหรับผู้แทนรัฐภาคีสมาชิกในคณะกรรมการมรดกโลกที่มีถิ่นพำนักในราชอาณาจักรไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อรับทราบข้อเท็จจริงในการดำเนินโครงการและกิจกรรมในด้านต่าง ๆ รวมทั้ง วิถีชีวิตและสภาพความเป็นอยู่ของชุมชนกะเหรี่ยงในพื้นที่บ้านโป่งลึก-บางกลอย ในพื้นที่จริง ในปี 2564 ไทยได้มีความพยายามในการเชิญ IUCN มาติดตามตรวจสอบและให้คำแนะนำต่อการดำเนินงานเพื่อนำเสนอเป็นแหล่งมรดกโลก จำนวน 3 ครั้ง แต่จากสถานการณ์โควิด-19 จึงทำให้ไม่สามารถเดินทางมาปฏิบัติภารกิจได้
ในส่วนของการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 43 ในปี 2562 ที่ขอให้ไทยดำเนินการเกี่ยวกับชุมชนท้องถิ่นในพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจาน ใน 3 เรื่อง ได้แก่ 1) ข้อเรียกร้องของชุมชนกะเหรี่ยง 2) การแก้ไขปัญหาสิทธิมนุษยชน และ 3) การรับฟังความคิดเห็นต่อการเสนอพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลก หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการครบถ้วนตามข้อมติแล้ว
“ขอย้ำว่าไทยได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและแก้ไขปัญหาสิทธิมนุษยชนของชุมชนกะเหรี่ยงที่อาศัยในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานมาโดยตลอด และได้รายงานผลการดำเนินงานต่อคณะกรรมการมรดกโลก ศูนย์มรดกโลก และสหภาพสากลว่าด้วยการอนุรักษ์ (IUCN) ซึ่งเป็นองค์กรที่ปรึกษาแหล่งมรดกทางธรรมชาติ เพื่อทราบแล้ว” นายวราวุธ กล่าว
ด้าน ดร.รุ่งนภา พัฒนวิบูลย์ รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวว่า นับจากปี 2539 จนถึงปัจจุบันกว่า 20 ปี หลังการเคลื่อนย้ายของชาวบ้านที่อาศัยอยู่บริเวณ “ใจแผ่นดิน” หรือบางกลอยบนและห้วยสามแพร่ง ปัจจุบันป่าบริเวณใจแผ่นดิน ได้กลับฟื้นคืนสภาพความสมบูรณ์ตามธรรมชาติดังเดิม เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า พบร่องรอยหลักฐานชนิดพันธุ์สัตว์ป่าที่หายากจำนวนมาก กรมอุทยานฯ จึงจำเป็นต้องสงวนและคุ้มครองพื้นที่ดังกล่าวไว้ อันเป็นส่วนหนึ่งของป่าต้นน้ำอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เช่นเดียวกับพื้นที่อื่นในอุทยานแห่งชาติ ให้คงอยู่ในสภาพธรรมชาติเดิมมิให้ถูกทำลาย ประกอบกับพื้นที่รองรับการตั้งถิ่นฐานใหม่ที่จัดสรรโดยรัฐบาลบริเวณบ้านโป่งลึก–บางกลอย(ล่าง) มีความเหมาะสมในการอยู่อาศัยและทำกิน โดย
กรมอุทยานฯ ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พัฒนาสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานเพื่อให้เหมาะสมต่อการดำรงชีพตามสมควร สำหรับชาวบ้านทุกวัยทั้งในปัจจุบันและอนาคต.