โดยเฉพาะการพลิกหน้าประวัติศาสตร์ “ครั้งแรก” กับการจับมือทำ “โพลเจาะลึกศึกเลือกตั้ง 2566” ระหว่าง “2 ค่ายยักษ์” วงการอย่าง “เดลินิวส์ X มติชน” ซึ่งเริ่มจดปากกาลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เรื่อง สำรวจความคิดเห็นของประชาชนกับการเลือกตั้งปี 2566 กันไปแล้ว เมื่อวันที่ 20 มี.ค. ที่ผ่านมา
โดยมี นางประพิณ รุจิรวงศ์, นายปารเมศ เหตระกูล และ นางสิริวรรณ พันธุ์ปรีชากิจ กรรมการบริหาร นสพ.เดลินิวส์และเดลินิวส์ออนไลน์ พร้อมด้วยผู้บริหารเครือมติชน นำโดย น.ส.ปานบัว บุนปาน กรรมการผู้จัดการ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) นายปราปต์ บุนปาน รองกรรมการผู้จัดการสายเทคโนโลยีและดิจิทัลมีเดีย บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) รวมถึง ผศ.อัครพงษ์ ค่ำคูณ คณบดีวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ และ นายศุภกร รวยวาสนา กรรมการผู้จัดการ บริษัท ยูนิกเดฟ จำกัด ผู้ให้บริการระบบซิสเต็ม เอ็นจิเนียร์ และไอทีโซลูชันชั้นนำ เข้าร่วม
นางประพิณ เผยว่า เดลินิวส์เป็นสื่อมวลชนที่อยู่คู่สังคมไทยมายาวนาน และปีนี้ ครบ 59 ปี เข้าสู่ ปีที่ 60 เรามีการพัฒนาและปรับตัวเองให้เท่าทันโลกและเทคโนโลยี ที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภค ยึดมั่นที่จะยังผลิตข่าว งานเขียนคุณภาพในสื่อสิ่งพิมพ์ ควบคู่กับการนำเสนอในแพลตฟอร์มออนไลน์ทุกรูปแบบ มีข่าวมีรายงานข่าวคุณภาพนำเสนอครบถ้วน
“ความร่วมมือครั้งนี้ ถือว่าเป็นปรากฏการณ์ใหม่ของสังคมสื่อบ้านเรา ซึ่งทุกคนจะได้เห็นความเปลี่ยนแปลงของการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร ที่ได้จากกลุ่มผู้อ่านของทั้ง 2 ค่ายใหญ่แน่นอน”
ด้าน นายปารเมศ กล่าวว่า เดลินิวส์เป็นองค์กรสื่อครบวงจร ที่จำหน่าย นสพ. ทั่วประเทศทั้ง 76 จังหวัด เป็นที่ยอมรับของประชาชนทั้งประเทศมายาวนาน มีบุคลากรด้านสื่อสารมวลชนที่เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ในสนามข่าวทุกประเภท และในสนามเลือกตั้งครั้งนี้ ได้เตรียมความพร้อมผู้สื่อข่าวไว้ทั่วประเทศ เพื่อเกาะติดทุกพื้นที่อย่างรวดเร็ว
พร้อมกันนี้ แสดงความขอบคุณผู้บริหารเครือมติชน และเครือข่าย ที่เข้ามามีส่วนร่วม เพื่อทำโพลเลือกตั้ง ให้มีผลออกมาอย่าง “แม่นยำ” มากที่สุด ด้วยการออกเสียงแสดงความคิดเห็นจากกลุ่มผู้อ่านของเดลินิวส์และเครือมติชน เชื่อว่าจะเป็นแรงผลักดันให้เห็นการเมืองในอนาคต แนวทางการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ
“ถือว่าเป็นปรากฏการณ์ใหม่ในวงการสื่อ ที่ 2 ค่ายยักษ์ใหญ่สามารถมาร่วมมือกันได้ ฐานผู้ชมผู้อ่านของทั้งสองเครือ ค่อนข้างมีความแตกต่างกันชัดเจน โดยจะครอบคลุมคนทุกระดับชั้น และมีความกว้างขวางทั่วประเทศ จึงมองว่า ผลโพลที่ออกมา น่าจะมีความใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากที่สุด”
นายปารเมศ ยังเชิญชวนผู้อ่านและผู้ชม ร่วมแสดงความคิดเห็นผ่านโพล เพื่อเป็นเสียงสะท้อนไปยังสถาบันพรรคการเมืองได้ทราบว่า มาถูกทางแล้วหรือไม่ หรือสะท้อนความต้องการ เพื่อพรรคการเมืองและนักสมัครรับเลือกตั้ง จะได้ปรับตัวต่อไป
ขณะที่ นายปราปต์ มองโพลที่จัดทำร่วมกัน จะเป็นโพลซึ่งมี “ความเรียบง่าย” ด้วยชุดคำถามทั้ง 2 คำถาม และแม้จะไม่ใช่โพลลงรายละเอียดถึงระดับเขต แต่ในฐานะสื่อ โพลที่ทำร่วมกันน่าจะสะท้อนให้เห็นถึงกระแสภาพรวม ภาพกว้าง ช่วยคาดคะเนผลที่จะเกิดขึ้นได้ โดยผลประโยชน์ในการวิเคราะห์การเลือกตั้ง อาจจะวิเคราะห์ในส่วนปาร์ตี้ลิสต์ (ส.ส.บัญชีรายชื่อ) ได้จุดเด่น คือ กลุ่มผู้บริโภคซึ่งมีความกว้างขวาง เพราะความหลากหลายของผู้อ่านของทั้งสองเครือ
“เราจะได้ข้อมูลที่กว้างขวางในเชิงคุณภาพ ซึ่งที่ผ่านมา มติชนเคยทำโพลการเมืองจริง แต่มีข้อจำกัด เนื่องด้วยความเบี่ยงเบน ก็จะเทไปที่ค่านิยมแบบหนึ่ง แต่พอผนึกร่วมกับเดลินิวส์ มันเกิดความกว้างขวาง และครอบคลุมทุกความเป็นไปได้”
ทั้งนี้ หลังทำโพล 2 ครั้ง ทั้งในช่วงต้นเดือนและกลางเดือน เม.ย. จากนั้นในช่วงปลายเดือน เม.ย. จะมีเวทีสเปเชียลฟอรั่ม ซึ่งผลสำรวจความคิดเห็น จะได้รับการวิเคราะห์โดยทีมนักวิชาการจากวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ และสื่อมวลชนด้วย เพื่อคาดการณ์ คาดคะเนอนาคตการเมืองไทยต่อไป
นายปราปต์ กล่าวว่า โพลเจาะลึกศึกเลือกตั้ง 2566 เป็นความร่วมมือที่เล็งเห็นว่า การเลือกตั้งจะเป็น “หมุดหมาย” สำคัญทางการเมือง ส่วนตัวยังมองว่า โพลนั้นน่าจะเป็นทางออกที่จะออกมาได้ดีที่สุด และจะเห็นโอกาสจากตรงนี้ เห็นถึงอุดมการณ์ทางการเมือง หรือแนวคิดทางเศรษฐกิจนโยบายต่าง ๆ น่าจะครอบคลุมกว้างขวาง
อีกทั้งคิดว่า ผลลัพธ์จะสามารถสะท้อนให้เห็นแนวคิดของประชาชนว่า ความหลากหลายของกลุ่มคนจะมี “ฉันทามติ” หรือมีความคิดอย่างไรเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ต้องการให้ใครเป็นผู้นำประเทศ รวมถึงการเมืองแบบไหน เพื่อนำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาล
ส่วน น.ส.ปานบัว กล่าวว่า ณ จุดนี้ต้องมีความเชื่อมั่นในการทำโพล เครือมติชนมีความตั้งใจทำเรื่องโพล และเมื่อได้มาร่วมมือกับเครือเดลินิวส์ จึงต้องสำรวจโพลให้รอบด้านมากขึ้น เพราะที่ผ่านมา มีการเปลี่ยนแปลงมากมาย อาทิ การเปลี่ยนแปลงเขตการเลือกตั้ง การเปลี่ยนแปลงของนิวโหวตเตอร์ (New Voters) มิติปัญหา ผลกระทบ และสิ่งเหล่านี้ เป็นความซับซ้อนจากการเลือกตั้งทั้งสิ้น
“การทำโพลครั้งนี้ ของทั้ง 2 เครือยักษ์ใหญ่ จึงเชื่อว่าจากนี้ กองบรรณาธิการของทั้ง 5 โต๊ะ ล้วนมีศักยภาพที่จะนำผลไปวิเคราะห์เสนอต่อ และจะสามารถสะท้อนผลหรือภาพได้อย่างชัดเจน เนื่องจากคนอ่านหลายสิบล้านคนของทั้งสองเครือ และยังเชื่อว่า หลังจากนี้จะได้รับความร่วมมือจากอีกหลายสถาบัน เพื่อเข้ามามีส่วนร่วมวิเคราะห์ผลการเลือกตั้งล่วงหน้า”
ผศ.อัครพงษ์ ค่ำคูณ ระบุว่า เป็นสัญญาณดีที่ได้เห็นความร่วมมือกัน ในฐานะนักวิชาการ ขอชื่นชม เนื่องจากโพลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนนั้น เป็น “วิทยาศาสตร์” สามารถสะท้อนความคิดเห็นได้ และเมื่อมีการเลือกตั้ง 2 คำถามที่ตามมา คือ บุคคลใดกับพรรคใด แม้การตั้งคำถามดูเหมือนจะง่าย แต่ผลลัพธ์ย่อมมีผลในทางวิชาการ ซึ่งในฐานะสื่อสารมวลชนและนักวิชาการ ไม่ว่าผลสำรวจจะเป็นอย่างไร ก็จะต้อง “ซื่อตรง” ต่อผล ไม่บิดเบือน หรือถ้าสังคมจะกลับไปเลือกอำนาจนิยมหรือเสรีนิยม ก็ต้องยินดี
“ต้องยอมรับว่า New Voters มีจำนวนเพิ่มขึ้นแต่ละปีเฉลี่ยปีละ 900,000-1,000,000 คน แม้ไม่เยอะเท่าจำนวนเจนเนอเรชันเก่า แต่ตัวเลขเหล่านี้สำคัญ จะทำอย่างไรให้ New Voters มองเห็นภาพของการเลือกตั้ง และแม้พรรคการเมืองเก่า หรือใหม่จะชนะไม่เด็ดขาด ก็ต้องทำให้ทั้งสองฝ่ายอยู่ร่วมกันให้ได้ เพราะจิตวิญญาณของประชาธิปไตย คือการเคารพซึ่งกันและกัน”
สำหรับ นายศุภกร รวยวาสนา ระบุว่า ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา อินเทอร์เน็ตเข้าถึงประชาชนมาก ซึ่งในภาพของผลที่ได้จะมีประโยชน์ ทำให้เห็นได้ว่า พื้นที่ใดที่ประชาชนเข้าถึงการเลือกตั้งและเข้าถึงระบบอินเทอร์เน็ต และโพลยังจะทำให้ทุกคนตื่นตัวในการเลือกตั้ง หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ระบบที่ได้พัฒนาขึ้นมา จะช่วยป้องกันการถูกโจมตี หรือถูกแฮก และที่สำคัญต้องได้ผลโพลที่แม่นยำด้วย
นอกจาก 1 สิทธิ 1 เสียง ที่ใช้ในวันลงคะแนน เสียงสะท้อนผ่านผลโพล เป็นหนึ่งเสียงน่ารับฟัง แม้ไม่ใช่ผลตัดสินชี้ขาด แต่ชี้ให้เห็นทิศทางความต้องการประชาชนได้ทางหนึ่ง.