รวมถึงจากกลุ่ม “เกษตรกร”… ทั้งนี้ เกษตรกรก็ยังคงเป็นอีกหนึ่งกลุ่มที่เป็น “ฐานคะแนนเสียงฐานใหญ่ของประเทศไทย” ด้วยเหตุนี้เรา ๆ ท่าน ๆ จึงได้รับรู้นโยบายเกี่ยวกับเกษตรกรต่าง ๆ มากมายที่ถูกนำมาใช้ในการหาเสียง โดยเฉพาะ “ข้อเสนอเชิงนโยบาย” ที่มีเป้าหมายหวังจะดึงดูดใจให้ประชาชนกลุ่มที่เป็นเกษตรกรลงคะแนนเสียงให้

“จะเพิ่มรายได้เกษตรกร” พูดกันเกร่อ

“จะยกระดับชีวิตเกษตรกร” นี่ก็เซ็งแซ่

แต่…“จะทำได้จริงแค่ไหน?” ต้องพินิจ…

ทั้งนี้ นอกจากอีกหนึ่งกรณีศึกษาแก้หนี้เกษตรกรที่ได้เสนอไปในตอนที่แล้ว…ตอนนี้วันนี้ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะสะท้อนต่อข้อมูล “แง่มุมเกี่ยวกับเกษตรกรที่น่าพิจารณา” อีกตอน ซึ่งว่าด้วย “ภาคเกษตรของไทย” นั้น…กรณีนี้ก็มีบทวิเคราะห์น่าสนใจจากฟากฝั่งวิชาการ หลังจาก ช่วงหลายปีหลังมานี้เกษตรกรไทยต้องเผชิญความท้าทายหลากหลายเรื่อง…ซึ่งทำให้เกษตรกรไทยจำเป็นต้องปรับตัวปรับกลยุทธ์ไม่น้อย โดยเรื่องนี้กรณีนี้ ก็มีนักวิชาการ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) คือ กัมพล ปั้นตะกั่ว นักวิจัยด้านศึกษาการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจและนโยบายเกษตรสมัยใหม่ และ รศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ ได้มีการสะท้อนแง่มุมที่น่าพิจารณาไว้ โดยสังเขปมีว่า…

เพื่อให้สามารถเผชิญความท้าทายได้…

ถึงเวลาที่ “เกษตรกรต้องตั้งหลักใหม่!!”

และกับ “ข้อเสนอแนะ” ที่เป็นบางส่วนจากบทวิเคราะห์โดยนักวิชาการทีดีอาร์ไอ ก็ได้มีการฉายภาพไว้ว่า… ในการพัฒนาเศรษฐกิจ โดยเฉพาะสาขาเกษตรนั้น มีเป้าหมายสำคัญคือ ต้องยกระดับรายได้ต่อหัวของเกษตรกรให้มีความอยู่ดีกินดีใกล้เคียงกับการทำงานในสาขาเศรษฐกิจอื่น ซึ่งในอดีตความสำเร็จของการพัฒนาที่เกิดขึ้น ส่งผลให้ช่องว่างระหว่างรายได้ต่อหัวของสาขานอกภาคเกษตรกับสาขาเกษตรเมื่อเปรียบกับช่วงทศวรรษ 2560 ลดลงจากเดิมถึง 8 เท่า อย่างไรก็ตาม แต่หลังจากนั้นช่องว่างดังกล่าวก็ทรงตัวอยู่ที่ 4.5-5 เท่ามาตลอด โดยไม่มีการขยับเพิ่มขึ้น หรือลดลงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา 

โดยที่ ช่องว่างภาคเกษตรไทยที่ไม่ได้มีการขยับในช่วงเวลาหลายปีมานี้ สวนทางกับภาคเกษตรของประเทศเพื่อนบ้านไทย อย่าง มาเลเซีย ที่มีเส้นทางการพัฒนาเศรษฐกิจคล้ายคลึงกับไทย แต่กลับสามารถลดช่องว่างรายได้ต่อหัว ระหว่างสาขานอกภาคเกษตรกับสาขาเกษตรลงได้เหลือเพียง 1.5 เท่า ในกลางทศวรรษ 2560 ซึ่งก็เป็น “กรณีศึกษาน่าคิด”

ช่องว่างรายได้ภาคเกษตรไทยยังกว้าง

เหตุใดไทยไม่สามารถทำให้แคบลงได้?

จากข้อมูลในบทวิเคราะห์ยังฉายภาพไว้ถึง “การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจสาขาเกษตร” ว่า… จะเกิดขึ้นได้จากความสำเร็จในการพัฒนา ซึ่งมีองค์ประกอบสำคัญจากหลายปัจจัย ได้แก่ การอพยพแรงงานออกจากภาคเกษตร, การใช้เครื่องจักรทดแทนแรงงาน, การใช้เทคโนโลยี, การวิจัยและพัฒนาการเกษตร รวมทั้งนโยบายพัฒนาอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยว โดยปัจจัยเหล่านี้ ส่งผลต่อต้นทุน ผลผลิต และรายได้ภาคการเกษตร ซึ่งหลักฐานที่บ่งชี้ว่า ภาคเกษตรไทยเกิดความชะงักงันในการเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง ก็คือ จีดีพีของภาคเกษตรไทยแทบจะไม่เพิ่มขึ้นเลย ในช่วงเวลา 9 ปีที่ผ่านมา!!

ส่วน “สาเหตุทำให้เกิดการชะงักงันของภาคเกษตรไทย” บทวิเคราะห์ดังกล่าวชี้ไว้ว่า… นโยบายให้เงินอุดหนุนแก่เกษตรกรโดยไม่มีเงื่อนไขตั้งแต่ปี 2548 จนถึงปัจจุบัน…ก็เป็นส่วนหนึ่งของสาเหตุ โดยมีผลการศึกษาพบว่า “เงินอุดหนุนแบบไม่มีเงื่อนไข” ส่งผลต่อพฤติกรรมเกษตรกร มีผลทำให้ ทำลายแรงจูงใจเกษตรกรในการใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มผลผลิตและลดต้นทุน และก็ยัง ทำลายแรงจูงใจของเกษตรกรในการปรับตัวรับมือกับการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ …นี่เป็นการวิเคราะห์ไว้โดยนักวิชาการทีดีอาร์ไอซึ่งสะท้อนว่า “นโยบายเงินอุดหนุนแบบไม่มีเงื่อนไข” นั้น “เป็นปัจจัย”…

ที่… “ทำให้เกษตรกรไม่คิดที่จะปรับตัว”

ที่ทาง “ภาคเกษตรเองก็จะต้องคิดใหม่”

อนึ่ง มีกรณี “ยุทธศาสตร์การตั้งหลักใหม่ของภาคเกษตรไทย” ที่ทางนักวิชาการ ทีดีอาร์ไอ ได้เสนอแนะไว้ว่า… ยุทธศาสตร์นี้จะหมายถึง การทุ่มการลงทุนครั้งใหญ่ในภาคเกษตรที่เป็นการลงทุนควบคู่ไปกับการใช้แรงงานทักษะ ที่นอกจากจะทำให้จีดีพีเกษตรเพิ่มขึ้น ยังจะทำให้ผลิตภาพต่อแรงงาน (labor productivity) เพิ่มขึ้นอีกทางด้วย ซึ่ง จะส่งผลทำให้ความเหลื่อมล้ำระหว่างรายได้ภาคเกษตรกับนอกภาคเกษตรลดลง โดยการทุ่มการลงทุนในภาคเกษตรนั้นจะต้องเน้นลงทุน 2 ด้านสำคัญ คือ… “ลงทุนด้านเทคโนโลยีดิจิทัลการเกษตร” และ “ลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาการเกษตร”

นี่เป็น “ตัวช่วยภาคเกษตรตั้งหลักใหม่”

“เกษตรกรต้องคิดใหม่” และ “ฟังให้ดี”

“มีพรรคใดชูนโยบายเข้าข่ายนี้มั้ย??”.