“ประชาธิปไตยยืนหนึ่ง” มีโอกาสสอบถามมุมมองความคิดเห็นในเรื่องดังกล่าวจาก ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ ประธานสถาบันการสร้างชาติ นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ซึ่งสะท้อนภาพนโยบายการศึกษาในการเลือกตั้งครั้งนี้ พร้อมข้อเสนอแนะน่าสนใจหลายประเด็น

(ยัง) ไม่รอบด้าน ครบประเด็น เน้นขายคะแนน

ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ ระบุ หากให้วิเคราะห์ภาพรวมโดยที่ยังไม่ลงรายละเอียดว่า แต่ละพรรคการเมืองเสนอนโยบายการศึกษาอะไรไว้บ้าง เพียงพอหรือไม่ มีอะไรเป็นข้อคิดที่ควรคำนึงถึง โดยรวมตนก็มองว่าบางพรรคการเมืองมีเยอะ บางพรรคการเมืองมีน้อย หรือบางพรรคแทบไม่มี ขณะที่ส่วนใหญ่มองเฉพาะบางจุด และส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ตอบด้วยว่า แล้วจะสามารถทำให้ผลลัพธ์หน้าตาเป็นอย่างไร ได้ แต่บอกส่วนที่จะทำกิจกรรม ไม่รู้ผลลัพธ์ เพราะไม่ได้สถาปนาว่า “การศึกษาควรจะสร้างผลลัพธ์ต่อคนในชาติอย่างไร แล้วทำไมถึงต้องเป็นผลลัพธ์แบบนั้น”

นอกจากนี้ ยังไม่ได้บอกว่า ทำไมต้องเป็นผลลัพธ์แบบนั้น ได้ผลลัพธ์แบบนั้น แล้วจะได้ประโยชน์อะไรกับประเทศ จะช่วยประเทศได้อย่างไรในยามนี้และอนาคต ไม่มีความชัดเจน แต่มักจะลอย ๆ ไม่ค่อยครบด้าน ครบประเด็น เน้นบางจุดที่รู้สึกเหมือนจะ “ขายคะแนน” ให้คนอยากซื้อได้

“อีกเรื่องคือยังไม่มีการพูดถึงว่า จะนำทรัพยากรที่ไหนมาทำ หากทำแล้วต้องใช้เงิน ใช้งบประมาณเท่าใด หาเงินได้จริงหรือไม่ เงินจะนำมาจากไหน และที่หนักกว่าก็คือ รู้ได้อย่างไรว่าที่ทำนั้นคุ้มค่า”

ส่องทิศทางการศึกษา 4 พรรคตัวอย่าง

ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เผยว่า หากพิจารณาลงไปนโยบายการศึกษาแบบรายพรรคการเมือง พบมีบางอย่างที่ตนชอบในเรื่องที่เสนอ แต่ไม่แน่ใจว่าทำได้จริง หรือครบประเด็นหรือไม่ ยกตัวอย่าง พรรคเพื่อไทย เสนอโรงเรียนสองภาษาในทุกท้องถิ่น ตนเป็นอีกคนที่เสนอแนวคิดนี้มานานหลายสิบปี ว่าต้องเป็น โรงเรียนสองภาษา (Bilingual school) และในที่สุดต้องเป็น โรงเรียนสามภาษา (Trilingual school) โดยจะให้สอนภาษาต่างประเทศตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 อาทิ ภาษาอังกฤษและภาษาจีน และมีครูต่างประเทศมาสอน

ทั้งนี้ แม้ถือว่านโยบายดี แต่อาจไม่ชัดเจนว่าครูจะมาจากไหน และใช้เงินใช้งบประมาณใดออกนโยบายนี้ รวมถึงช่วงตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 เป็นเวลาที่ดีที่สุดจริงหรือไม่ ที่จะให้เรียนภาษาอังกฤษ ภาษาจีน

“เป็นเรื่องที่ต้องลงรายละเอียดให้ชัดเจน และในอีกหลาย ๆ นโยบาย ซึ่งตนคิดว่ามีนโยบายหลายอย่างที่ดี แต่ไม่แน่ใจว่าจะทำได้หรือไม่ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นเพียงแค่การวิพากษ์เฉย ๆ”

ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ มองนโยบายด้านการศึกษาก็มาในเชิงของฟรีเช่นเดียวกัน ทั้งเรียนฟรี เด็กและเยาวชน รักษาด้านการแพทย์ฟรี อาหารกลางวันฟรี ภาพรวมเป็นนโยบาย “แจกเงิน” แต่ก็ไม่รู้ว่านำเงินมาจากไหน และจะเพียงพอหรือไม่ จะได้ผลสัมฤทธิ์ในด้านการศึกษาอะไรบ้าง คล้ายกับพรรคเพื่อไทยที่ไม่ครบในประเด็นสำคัญ ซึ่งไม่ได้พูดถึงคุณภาพครูอาชีวศึกษา ไม่ได้พูดถึงการบริหารทรัพยากรให้เกิดขึ้นจริง หรือการยกเลิกหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) หากยกเลิกหนี้ให้แบบไม่มีเงื่อนไข ถามว่าคนก็ชอบ แต่ที่สุดแล้วจะเกิดการเสียวินัย

“ขณะที่นโยบายเรียนฟรีถึงปริญญาตรี ไม่แน่ใจว่าปัจจุบันยังจำเป็นที่จะต้องเรียนฟรีอยู่หรือไม่ เนื่องจากโลกยุคนี้ก็ไม่ได้มุ่งไปทิศทางนั้นแล้ว”

ด้านพรรคก้าวไกล ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ กล่าวว่า จากที่ดูนโยบายที่เป็นรัฐสวัสดิการแบบเต็ม ๆ ตนก็ยังคิดถึงว่า จะนำงบประมาณจากที่ไหนมาจ่าย แต่สิ่งที่มองว่าเป็นนโยบายที่ดี เช่น นโยบายโรงเรียนโปร่งใส ไม่ให้มีการคอร์รัปชั่นในฝ่ายบริหาร ส้วมสะอาด อาคาร
ปลอดภัย คนซึมเศร้ามีที่ปรึกษา

ทั้งนี้ เป็นการเน้นออกแบบ “หลักสูตรใหม่” เน้นทักษะที่ใช้ได้จริง ซึ่งนอกเหนือจากทักษะที่หลากหลาย ต้องมีความรู้ควบคู่กันไปด้วย เพราะหลักสูตรไม่ได้มีไว้แค่ทักษะ แต่จะต้องมีทั้งความรู้ ทักษะ และบุคลิกชีวิตของเด็ก หรือเรื่องลดเอกสารของคุณครู ซึ่งเป็นการลดเอกสารที่ฟุ่มเฟือย ส่วนเรื่องการยกเลิกตั้งแถวไม่แน่ใจว่าเป็นเรื่องใหญ่สำหรับการศึกษาจริงหรือไม่

ส่วนเรื่องการบ้าน ส่วนตัวมองว่ามีประโยชน์ การจะบอกว่า การบ้านไม่มีประโยชน์ “ไม่น่าจริง” เรื่องของการบ้านที่เยอะเกินไป ไร้คุณภาพ เสียเวลาทำโดยไม่มีประโยชน์ แต่การบ้านต้องมีประโยชน์ การสอบก็มีประโยชน์เช่นเดียวกัน หากไม่มีการสอบเลย จะรู้ได้อย่างไรว่าเด็กรู้ หรือไม่รู้ มีทักษะหรือไม่มีทักษะ

“โดยรวมของพรรคก้าวไกล คิดว่าประเด็นด้านการศึกษาเยอะมากกว่าพรรคอื่น ซึ่งถือว่าตั้งใจมาก ขณะเดียวกันก็ยังขาดบางประเด็นที่ไม่ครบ เช่น ประเด็นอุดมศึกษา และการบริหารทรัพยากรอย่างไรให้เกิดได้จริง ยังไม่เห็นพูดถึง ซึ่งเกรงว่าเงินอาจจะไม่พอ ถ้าไม่ได้มีการพูดถึงงบประมาณไปพร้อมกัน”

สำหรับพรรคชาติพัฒนากล้า มีนโยบายข้อเดียว คือเสนอสร้างเด็กไทยสามภาษา ประกอบด้วย ภาษาไทย ภาษาต่างประเทศ และ Coding ซึ่งตนชอบแนวคิดนี้ แต่นโยบายมีเรื่องเดียวเลยน้อยมาก

ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ ย้ำว่า ทั้งหมดนี้เป็นการวิพากษ์นโยบายเท่าที่เห็นจากพรรคการเมืองต่าง ๆ ซึ่งอาจมีมากกว่านี้ แต่ตนยังอ่านไม่เจอ และขณะนี้ก็ยังไม่แน่ใจ หากทำตามที่พรรคการเมืองต่าง ๆ เสนอมา การศึกษาจะดีขึ้นได้อย่างไร ติดตามข้อเสนอเข้มข้นของ ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ ที่อยากสะท้อนถึงพรรคการเมืองได้ต่อ ในวันพรุ่งนี้.