“ประชาธิปไตยยืนหนึ่ง” พูดคุยกับ “ธนากร คมกฤส” เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน ในฐานะผู้ขับเคลื่อนปัญหาเด็ก เพื่อตีแผ่สถานการณ์ พร้อมปักธงความคิดทิศทางเลือกตั้งกับการแก้ปัญหานี้ในอนาคต

ธนากร เล่าถึงสถานการณ์พนันออนไลน์ในเด็กและเยาวชนว่า สถิติเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยและน่าตกใจ การขยายตัวของเว็บไซต์พนัน 2-3 ปีที่ผ่านมา รวมถึงตั้งแต่ก่อนโควิด-19 และการล็อกดาวน์ประเทศ พบว่าโตขึ้น 100% มีเด็กเข้าถึงทุกช่วงวัย เพราะมีเครื่องมือสื่อสารอยู่กับตัว

“สถานการณ์ค่อนข้างมีความถึงพร้อมของอุปกรณ์ และผู้บริโภค 80-90% มีโทรศัพท์มือถือ เครือข่ายอินเทอร์เน็ตก็ครอบคลุม ที่สำคัญเว็บไซต์ผ่านออนไลน์ค่อนข้างเสถียรขึ้น ด้วยมีทีมงานหลังบ้าน หรือแอดมิน คอยอำนวยความสะดวกให้ผู้เล่น ทั้งการจ่ายโอนเงินผ่านระบบ e-banking ที่ใช้งานง่าย นี่จึงเป็นความสุกงอมที่เว็บไซต์พนันได้รับประโยชน์”

สำหรับวิธีรับมือความเสี่ยงจากพนันออนไลน์ ต้องยอมรับว่า เครื่องมือในการสร้างให้เด็กและเยาวชนรู้ “เท่าทัน” ปัจจัยเสี่ยงมีจำนวนมาก แต่ผลสัมฤทธิ์จะเกิดขึ้นจริงได้หรือไม่ เป็นเรื่องที่ทุกหน่วยงานต้องร่วมกันขยับ และเครื่องมือดีที่สุดคือการปลูกฝัง “ปัญญา” โดยเฉพาะสภาพแวดล้อมรอบตัว ผู้ใหญ่ที่มีพฤติกรรมตัวอย่าง อาทิ

การทำให้เห็นว่าการเล่นพนันเป็นเรื่องปกติ ทั้งพนันในออนไลน์และในชุมชน หรือทุกวันที่ 1 และ 16 จะประโคมผ่านสื่อเกี่ยวกับการทายผลสลากกินแบ่งรัฐบาล สิ่งนี้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก หล่อหลอมให้เด็กมีทัศนคติมองเป็นเรื่องปกติในการเสี่ยงโชค

“การจัดกระบวนการเรียนรู้เพื่อช่วงชิงเด็กกลับสู่พื้นที่สว่างไม่ง่าย ต้องมีกระบวนการทางสังคม เช่น การสื่อสารที่แข็งแรง ไม่แพ้กับที่หน่วยงานหรือแคมเปญต่าง ๆ การสร้างบรรยากาศทางสังคมเป็นเรื่องดี แต่การสร้างการเรียนรู้ให้เด็กจะเป็นการฉีดวัคซีนตรงต้อง “บูสต์” ให้บ่อยครั้ง ระบบราชการต้องเข้ามารับวาระสำคัญนี้”

หากเทียบกรณีเว็บไซต์พนันมาเก๊า 888 กับอีกหลายเว็บไซต์ ธนากร เผยยอมรับว่า สังคมร้กูันมานานเช่นเดียวกับเจ้าหน้าที่ แต่ที่น่าสังเกตคือ การดำเนินการที่ล่าช้า หากไม่ถูกกระตุ้น เช่น คนที่ออกมาให้ข้อมูลทางสาธารณะ จุดนี้สะท้อนถึงประสิทธิภาพระบบจัดการปัญหา ในข้อเท็จจริงต้องดูว่ามีช่องโหว่ใดทำให้เจ้าหน้าที่ไปแสวงหาผลประโยชน์ได้

เบื้องต้นจึงควรทบทวนกลไกจัดการ โดยเจ้าหน้าที่ต้องถามกลับตัวเองว่า ที่ผ่านมาจัดการปัญหาตามที่คาดหวังหรือไม่ ปัญหาการพนันมีความ “วูบไหว” จะจัดการเมื่อเกิดเรื่อง เรื่องเงียบก็กลับไปวนลูปเดิม สรุปปัญหาไม่ลดลง แม้สังคมจะให้ความสนใจมากขึ้น และวงการพนันออนไลน์จะยังขยายมากขึ้น ปรับตัวไปกับผู้ใช้งาน

นอกจากนี้ ชี้ถึงกรณีกระทรวงมหาดไทยรับผิดชอบ พ.ร.บ.การพนัน พ.ศ. 2478 แต่ปล่อยให้เป็นหน้าที่ตำรวจประสานกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) และหากมูลค่าไม่ถึง 5 ล้านบาท สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ก็ยังไปดำเนินการไม่ได้ ดีอีเอสจะปิดเว็บไซต์ก็ต้องขออนุมัติจากศาล

ดังนั้น แต่ละหน่วยงานจึงค่อนข้างเป็นอิสระจากกัน สะท้อนถึงกลไกที่ยังไม่มีประสิทธิภาพ ทำให้หน่วยงานรัฐจะไม่มีทางไล่ตามปัญหาทัน เพราะเว็บไซต์พนันเหล่านั้น มีความพร้อมยืดหยุ่นในการปรับตัว หากถูกปิดเว็บไซต์ก็สามารถเปิดใหม่ได้ทันที

เชียร์พรรคการเมือง “กล้า” ชูนโยบาย การพนันไม่ใช่แหล่งรายได้รัฐ

ธนกร ระบุ ปัญหาเว็บไซต์พนันที่แก้ไม่ตกเป็นปัญหาอาชญากรรม หากจะลดต้นทางต้อง “ปฏิรูปตำรวจ” จึงอยากเห็นพรรคการเมืองกล้าประกาศปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมจริงจัง โดยต้องปฏิรูปองค์กรที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการพนัน ไม่ควรทำแค่ปราบปราม แต่ต้องสร้างกระบวนการเรียนรู้ รณรงค์ ดูแลสังคม

ที่สำคัญรัฐบาลไม่ควรเห็นว่ากิจการพนันคือแหล่งสร้างรายได้เข้ารัฐ หากมีทัศนคติเช่นนี้ จะเป็นการไปเพิ่มเม็ดเงินกิจการดังกล่าว อาทิ การพิมพ์จำนวนสลากกินแบ่งรัฐบาล หรืออ้างว่าจะออกหวยในลักษณะสลากฯ เลข 3 หลัก (Numbers 3 : N3) เพื่อลดปัญหาหวยใต้ดิน ส่วนตัวมองว่าจุดนี้ไม่ได้ลดปัญหาแต่เหมือนแบ่งพื้นที่การตลาด

“ต้องยอมรับว่า วิธีคิดภาพนโยบายเพิ่มการพนัน จะนำมาสู่การเกิดรายได้เพิ่มนั้น กลับกลายเป็นว่า ทำให้เกิดปัญหาซ้ำซ้อนในสังคม”

ทั้งนี้ มีงานวิชาการยืนยันตรงกันว่า เกมพนันออนไลน์ที่มีปัญหามากที่สุด คือ บัคคารา รองมาคือ สล็อต รวมถึงพนันฟุตบอล เริ่มแรกผู้เล่นจะลงเงินไม่มาก แต่เมื่อเจอกลยุทธ์ทั้งให้เครดิตผู้เล่น การมอนิเตอร์โดยระบบให้ผู้เล่นชนะในตาแรก ๆ ทำให้ผู้เล่นหน้าใหม่พัฒนากลายเป็นผู้เล่นที่ “กล้าได้กล้าเสีย”

ต่อมาระบบจะพยายามเลี้ยงไข้ ยื้อไม่ให้ออกจากการเล่นครั้งนี้ โดยมีข้อต่อรองการถอนเงินออกจากระบบ ซึ่งการพนันออนไลน์ส่วนใหญ่ เป็นการพนันอย่างเข้ม เพราะรู้ผลเร็ว เกิดอาการได้-เสียเร็ว ทำให้ติดพัน เลิกได้ยาก อาการคล้ายคน “เสพติด” มีการใช้เวลากับสิ่งนี้มากขึ้น หากไม่ “หักดิบ” หรือ “ถอนตัว” แต่แรก จะนำไปสู่การเป็นโรคติดพนัน

“ตัวเลขจากศูนย์ศึกษาปัญหาการพนันให้ผู้ตอบแบบสอบถามประเมินตัวเอง ปรากฏมีคนไทยเข้าข่ายเสี่ยงติดการพนัน เกือบ 5 ล้านคน และราว 10% หรือหลายแสนคน เป็นเด็กและเยาวชน ซึ่งต้องรอกระบวนการทางการแพทย์ เพื่อให้ได้ผลชัดเจนว่า เกือบ 5 ล้านคน ติดหรือไม่ติดการพนัน”

ระวังสร้างภาพลวงพรางตัวหลบ AI

ธนากร ย้ำเว็บไซต์พนันปรับตัวตลอดเวลา ไม่ว่าจะเว็บไซต์ดูหนังออนไลน์เถื่อน เว็บไซต์ฟังเพลง เว็บไซต์คำคม มักสอดแทรกผ่าน “แบนเนอร์” โฆษณาที่ชักชวนล่อใจให้คน “คลิก” เข้าไป หรือว่าจ้างหญิงสาวรูปร่างดี จูงใจให้เข้าชมเว็บไซต์ สิ่งเหล่านี้ล้วนมีพื้นฐานเดียวกันคือ เป็นประตูไปสู่เว็บไซต์พนันทั้งสิ้น

“สิ่งที่น่ากังวลคือ การพรางตัวว่าไม่ใช่เว็บไซต์พนัน โดยหลบการจับของระบบ AI บางทีมีการปรับเปลี่ยนวิธีพิมพ์โดยใช้พยัญชนะ อักขระพิเศษ หรือใช้พยัญชนะภาษาอังกฤษมาแทนพยัญชนะภาษาไทย หรือแปะลิงก์ในช่องคอมเมนต์ใต้ล่างโพสต์”

“ยกเครื่อง” กฎหมายพนันทั้งฉบับ

ธนากร เผยข้อเสนอถึงการปรับแก้ทุกมาตราของ พ.ร.บ.การพนันฯ ซึ่งเป็นกฎหมายที่เก่ามากของประเทศ เนื้อหาอาจตามไม่ทันสถานการณ์ โดยเฉพาะที่นักวิชาการวิพากษ์วิจารณ์ว่า ไม่มีนิยามการพนัน ส่งผลถึงการตีความจนวนกลับไปที่ดุลพินิจผู้ใช้กฎหมาย ที่ต่างคนต่างตีความ และพบความลักลั่นของรัฐบาลว่า สรุปแล้วเห็นอย่างไรกับการพนัน ระหว่างเห็นว่าการพนัน คือสิ่งที่จะนำมาสร้างรายได้ หรือการพนันคือสิ่งที่เป็นภัยต่อสังคม ต้องได้รับการควบคุม

“ตรงนี้ยังไม่มีแนวคิดชัดเจน ต่างจากเหล้าและบุหรี่ ที่มีการใช้ พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ และ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทำให้ พ.ร.บ.การพนันฯ มีข้อสังเกตกันว่า จะควบคุมหรือจะส่งเสริมกันแน่”

นอกจากนี้ ฝากให้ปรับอัตราโทษไม่ต้องระบุเป็นตัวเลขชัดเจน แต่ให้สอดคล้อง “กรรม” ในการกระทำความผิด หรือกำหนดให้ปรับปรุงกฎหมายทุกกี่ปี เพื่อให้ทันสมัยตลอด รวมถึงจัดแบ่งประเภทการพนันให้ครอบคลุมรูปแบบที่จะพัฒนาในอนาคต

“หวังว่าหากมีการปรับเปลี่ยนยกร่าง พ.ร.บ.การพนันฯ ในสภาผู้แทนราษฎรสมัยหน้า ผู้แทนจะร่วมกันปักธงให้ชัดว่า จะควบคุมหรือส่งเสริมการพนัน ตนไม่อยากให้กั๊กเอาไว้ซึ่งผลประโยชน์ที่จะตามมา”.