ทั้งนี้ วันนี้ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ก็จะสะท้อนต่อข้อมูลบางแง่มุมเกี่ยวกับเรื่องนี้ นั่นคือกรณี “ปัญหาเยาวชนกลุ่ม NEET” หรือ “ปัญหาเยาวชนที่หลุดจากระบบการศึกษา-อยู่นอกระบบทำงาน” ซึ่งกรณีนี้ ก็ได้มีนักวิชาการด้านการศึกษา นักวิจัยนโยบายด้านทรัพยากรมนุษย์ ได้เคยวิเคราะห์และสะท้อนไว้เมื่อปี 2564 ในช่วงที่ประเทศไทยยังอ่วมพิษโควิด-19 โดยได้มีการชี้ไว้ว่า…

“ปัญหานี้ถ้าหากว่าไม่ได้เร่งแก้ไข…

จะยิ่งบานปลาย-ยิ่งซับซ้อนมากขึ้น!!

ทั้งนี้ ย้อนไปเมื่อครั้งที่ “เยาวชนกลุ่ม NEET” ในไทย “มีจำนวนเพิ่มสูงขึ้น” ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ก็ได้เคยสะท้อนต่อข้อมูลกรณีปัญหานี้ไว้ในฐานะที่เป็น “ปรากฏการณ์สำคัญในไทยที่เกี่ยวโยงทั้งมิติสังคม-มิติเศรษฐกิจ” ซึ่งเมื่อสถานการณ์โควิด-19 ดีขึ้น มาถึงปี 2566 นี้ “ตอนนี้สถานการณ์เยาวชนกลุ่ม NEET เป็นเช่นไร??” เมื่อเร็ว ๆ นี้ ก็มีการเผยผลวิจัยที่จัดทำโดย องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย, กระทรวงแรงงาน, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ได้ติดตามศึกษาผ่าน “งานวิจัยเชิงลึกเกี่ยวกับเยาวชนที่ไม่ได้อยู่ในการทำงาน การศึกษา หรือการฝึกอบรม (Youth Not in Employment, Education, or Training : NEET) ในประเทศไทย” ซึ่งถือเป็น “งานวิจัยอัปเดตล่าสุด” กรณีเยาวชนกลุ่ม NEET ในไทย

ทางคณะผู้วิจัยได้มีการระบุถึงงานศึกษาวิจัยดังกล่าวนี้ไว้ว่า… นับเป็นงานวิจัยเชิงลึกชิ้นแรกที่มีวัตถุประสงค์สำคัญในการนำเสนอภาพรวมเกี่ยวกับ “เยาวชนกลุ่ม NEET ในประเทศไทย” โดยได้ทำการศึกษาถึง “ปัจจัยสำคัญ” ที่ทำให้เยาวชนไทยต้อง “หลุดจากระบบการศึกษาและตลาดแรงงาน” รวมทั้งศึกษาวิจัยเพื่อที่จะ “ชี้ให้เห็นช่องว่างของนโยบายและบริการ” ที่มีอยู่ในปัจจุบัน ตลอดจน “เสนอแนะแนวทางแก้ไขเพื่อจัดการกับปัญหา” ดังกล่าวนี้ เนื่องจาก จำนวนเยาวชนกลุ่ม NEET ที่เพิ่มสูงขึ้นเหล่านี้ ย่อมส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ จนอาจทำให้กระทบไปถึงมิติต่าง ๆ

เกี่ยวกับสถานการณ์นี้ ก็มีการสะท้อนผลศึกษาวิจัยที่พบไว้ว่า… สถิติล่าสุดของ องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) พบข้อมูลว่า… ไทยมีเยาวชนกลุ่ม NEET อายุตั้งแต่ 15-24 ปี สูงมากกว่า 1.4 ล้านคน โดยเยาวชนเหล่านี้ล้วนไม่ได้ทำงาน และไม่ได้อยู่ในระบบการศึกษา รวมถึงไม่อยู่ในระบบใด ๆ เลย ซึ่ง คิดเป็น 15% ของเยาวชนไทยทั้งหมด โดยกว่า 70% ของเยาวชนกลุ่ม NEET เป็นเพศหญิง ที่ส่วนใหญ่ “หลุดจากระบบ” เพราะ “ปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยเรียน” กับ “ต้องออกมารับภาระดูแลคนในครอบครัว” …นี่เป็นสถานการณ์สำคัญของเยาวชนกลุ่มนี้ ที่ผลศึกษาวิจัยระบุไว้

และไม่เพียงมีสาเหตุจาก 2 ปัจจัยหลักข้างต้น ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่ก็ส่งผลทำให้มีเด็กและเยาวชนกลุ่ม NEET ที่ไม่สามารถเรียนต่อ หรือเข้าทำงานในระบบได้ เช่นปัจจัย… เพศ เชื้อชาติ สุขภาพ ระดับการศึกษา “ขาดโอกาส-เข้าไม่ถึงโอกาส รวมถึงขาดแรงส่งเสริมสนับสนุน” โดยเฉพาะจากการที่เยาวชนกลุ่มนี้ ไม่ค่อยได้รับการส่งเสริมให้ได้เข้าฝึกอบรมทักษะที่ตรงตามความต้องการของตลาด …นี่ก็ถือเป็น ปัจจัยสำคัญทำให้เยาวชนไทยเสี่ยงเป็น NEET อีกส่วนหนึ่ง

 “ปี 2554 จำนวนเยาวชนที่ทำงานหรืออยู่ในระบบการทำงานมีอยู่ราว 4.8 ล้านคน แต่พอปี 2564 ตัวเลขนี้กลับลดลงเหลือเพียง 3.7 ล้านคน และยิ่งมีโควิด-19 เข้ามาเป็นปัจจัย ก็ยิ่งทำให้สถานการณ์ของกลุ่ม NEET ย่ำแย่ยิ่งขึ้น เพราะต้องเจอกับภาวะด้านการเรียนรู้ที่ถดถอย การตกงาน และการหางานทำได้ยากขึ้น” …นี่ก็ข้อมูลสำคัญ

อนึ่ง… เยาวชน “ขาดแรงจูงใจที่จะเลือกเรียนต่อ-เพิ่มพูนพัฒนาทักษะ” นี่ก็ถือเป็น “ข้อค้นพบที่สำคัญ” ซึ่งจากการ “ขาดแรงจูงใจ” ที่ทำให้เยาวชนไทยจำนวนไม่น้อย ตัดสินใจไม่เรียนต่อหรือไม่อยากเข้าฝึกอบรมเพิ่มพูนทักษะ กรณีนี้ก็ทำให้ “สถานการณ์กลุ่ม NEET ยิ่งซับซ้อนมากขึ้น” เนื่องจากทำให้ “เสี่ยงเกิดภาวะยากจนสูง” และยิ่งจะทำให้เยาวชนกลุ่มนี้ต้อง “เผชิญการถูกกีดกันจากสังคมมากขึ้น!!”… ทั้งนี้ มีผลสำรวจที่จัดทำโดย สภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย กรมกิจการเด็กและเยาวชน และ ยูนิเซฟ ที่พบว่า… มีเด็กและเยาวชนไทยอายุ 10-25 ปี ราว 40% เท่านั้น ที่รู้สึกว่า “ระบบการศึกษาไทยในปัจจุบัน” ช่วยให้มีความพร้อมสำหรับตลาดแรงงาน ขณะที่อีก 60% มองว่า “ไม่ตอบโจทย์??”

จากเสียงสะท้อนจากผลสำรวจ คณะวิจัยได้เสนอแนะโดยระบุไว้ว่า… “ความท้าทายในการจัดการปัญหาให้กับเยาวชนกลุ่ม NEET” เกิดจากหลายปัจจัย เช่น ขาดนโยบายร่วม ขาดการประสานงาน ขาดประสิทธิภาพในการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ทำให้บริการต่าง ๆ ทั้งด้านการศึกษา การฝึกอบรม การจัดหางานให้เยาวชนกลุ่ม NEET ที่มีอยู่ในปัจจุบัน “เกิดปัญหา” ซึ่งปัญหาทั้งหมดนี้จำเป็นต้องอาศัยความมุ่งมั่นจากผู้ปฏิบัติงาน และจากผู้กำหนดนโยบาย…

“การพัฒนาโอกาสในการจ้างงาน การเข้าถึงการศึกษา การส่งเสริมให้ได้ฝึกอบรม เป็นอีกแนวทางที่จะช่วยลดช่องว่างให้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้ แต่… ที่สำคัญจะต้องแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน!! โดยเฉพาะถ้าหากไทยยังมีเป้าหมายสำคัญคือการหลุดจากกับดักรายได้ปานกลางเพื่อก้าวสู่การเป็นประเทศที่มีรายได้สูง” …นี่เป็นส่วนหนึ่งจากข้อเสนอ

“สถานการณ์ NEET” ตอนนี้ก็ “ยังคงแย่”

ไทย “ต้องเร่งแก้ทั้งโจทย์เก่า-โจทย์ใหม่”

ที่ “นับวันยิ่งเป็นความท้าทายใหญ่โต!!”.