อย่างไรก็ดี วันนี้ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะชวนดูเรื่องนี้โดยอ้างอิง “โนรา” ที่ได้รับการประกาศจากยูเนสโกให้เป็น มรดกโลกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ เมื่อปี 2564 ซึ่งเมื่อเร็ว ๆ นี้ก็มีการจัดอีกหนึ่งงานใหญ่ของคนโนรา และก็มีเวทีเสวนา “เคลื่อนชุมชนด้วยทุนทางวัฒนธรรม Soft Power” ด้วย…

ที่สะท้อนถึง “รากฐานเข้มแข็งของโนรา”    

ที่ในวิกฤติก็ “มีปรากฏการณ์ที่น่าสนใจ”

ที่ “ชวนให้คิดถึงศิลปะการแสดงอื่น ๆ”

ทั้งนี้… “แม้จะอยู่ในช่วงที่สถานการณ์โควิด-19 ยังคงแพร่ระบาด แต่คนโนราก็ยังอยู่ได้ ผิดกับคณะแสดงประเภทอื่น ๆ ที่ล้วนได้รับผลกระทบ ยิ่งหลังจากโนราถูกรับรองเป็นมรดกโลกจากยูเนสโก ปรากฏมีคณะโนราเกิดใหม่เพิ่มขึ้นมาอีกหลายคณะ” …นี่เป็น “ปรากฏการณ์โนรา” ที่ทาง โกวิท ผกามาศ อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม สะท้อนไว้บนเวทีเสวนา “เคลื่อนชุมชนด้วยทุนทางวัฒนธรรม Soft Power โนรา” ที่ จ.พัทลุง เมื่อเร็ว ๆ นี้ โดยช่วง 17-19 มี.ค. ที่ผ่านมา มีกิจกรรมที่เป็น “หมุดหมายสำคัญของคนโนราทั่วภาคใต้” ภายใต้ชื่องาน “โนราภูมิปัญญาแห่งแผ่นดิน” ซึ่งจัดที่ วัดพระบรมธาตุเจดีย์เขียนบางแก้ว อ.เขาชัยสน จ.พัทลุง ที่เป็น “พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์สำคัญของโนรา”

งานนี้เป็นความร่วมมือของหลายฝ่าย อาทิ ศูนย์สื่อศิลปวัฒนธรรม ไทยพีบีเอส, กระทรวงวัฒนธรรม, สสส., สกสว. ซึ่งนอกจากกิจกรรมเกี่ยวกับโนรามากมายแล้ว ในงานยังมีเวทีเสวนาหัวข้อต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับโนรา ซึ่งหนึ่งในหัวข้อที่ถูกหยิบยกขึ้นมาแลกเปลี่ยนก็คือ “Soft Power โนรา” ที่จะทำเช่นไรจึงจะใช้ “ทุนวัฒนธรรม” นี้เป็น “เครื่องมือขับเคลื่อนชุมชน”

แม้โนราจะมีรากฐานเข้มแข็ง แต่การผลักดันกรณี Soft Power ก็มิใช่ว่าจะง่าย ซึ่งก็สะท้อนให้คิดถึงศิลปะการแสดงอื่น ๆ ของไทยด้วย โดยในส่วนของโนรา ทาง อานันท์ นาคคง  ศิลปินร่วมสมัยรางวัลศิลปาธร สาขาดนตรี ปี 2562 สะท้อนไว้ในเวทีเสวนาว่า… ถ้าเราต้องใช้เวลาตอบนิยามคำว่า “Soft Power” ภายในวันเดียวก็คงไม่จบ ดังนั้นจึงอยากชวนผู้เกี่ยวข้องมาตั้งคำถามว่า… จะทำอย่างไรให้คนเห็นคุณค่า? ของ “โนรา” และก็อยากให้ลองพิจารณาถึงเรื่อง “Soft Power ของผู้ชม” มากกว่า ซึ่งเป็น “เจ้าของ Soft Power ตัวจริง” ทั้งในแง่ “พลังผู้ชม” และ “พลังในฐานะผู้ซื้อ” …นี่เป็น“แง่มุมชวนคิด”

เจ้าของรางวัลศิลปาธร สาขาดนตรี ปี 2562 ยังระบุไว้อีกว่า… สิ่งที่คนที่ทำงานโนรา หรือคนที่อยู่ในโลกของโนรา น่าพิจารณาก็คือ ถ้าคิดจะผลักดันให้โนราเป็น Soft Power วันนี้ผู้ชมโนรานั้นเป็นคนกลุ่มไหน? หรือเป็นแบบใด? และที่สำคัญการรับรู้ของผู้ชมโนราอยู่ในระดับไหน? เนื่องจาก ความสำเร็จของ Soft Power ขึ้นกับผู้ชมว่า…จะยอมรับ? หรือปฏิเสธ?

นี่เป็นประเด็นที่คนทำงานต้องขบคิด

ต้องทำการบ้านอย่างหนักเพื่อชิงผู้ชม

ทาง อาจารย์อานันท์ สะท้อนอีกว่า… ขณะนี้เท่าที่สังเกตเห็นคือ หลาย ๆ หน่วยงานพยายามพัฒนาเด็กไทยให้ยกระดับก้าวขึ้นไปอยู่ในระดับเดียวกับศิลปินนานาชาติ หากแต่…กลับไม่ค่อยพบว่ามีการสนับสนุนส่งเสริมเพื่อที่จะยกระดับกลุ่มผู้ชมให้ขยับตามขึ้นไป ดังนั้นการจะผลักดันให้โนราเกิด Soft Power ส่วนตัวจึงอยากเสนอให้คนทำงานเกี่ยวกับโนราควรที่จะโฟกัสหรือต้องตีโจทย์ให้ได้เสียก่อนว่าผู้ชมโนราควรเป็นกลุ่มใด หรือหากจะก้าวสู่สากล หรือระดับที่ใหญ่ขึ้นกว่ากลุ่มผู้ชมในท้องถิ่นที่มีประสบการณ์การชมโนราอยู่แล้ว คำถามที่ตามมาคือ… “ไทยพร้อมหรือยังที่จะไปจุดนั้น??”

ทั้งนี้ “ข้อเสนอแนะ” เพื่อ “ผลักดัน Soft Power ให้เกิดขึ้นได้จริง” กับกรณี “โนรา” นั้น กรณีนี้อาจารย์อานันท์ระบุไว้ว่า… ส่วนตัวมองว่าวิธีหนึ่งที่จะทำให้ผู้ชมเกิดความเข้าใจลึกซึ้ง ก็คือ ต้องมีกระบวนการเรียนรู้ สำหรับผู้ชมที่อาจไม่มีประสบการณ์ทางตรง หรือแม้แต่ทางอ้อม เกี่ยวกับการชมโนรา เพื่อให้ผู้ชมได้เข้าใจในพื้นฐานต่าง ๆ ของศิลปะการแสดงโนราเสียก่อน เช่น รู้ว่าท่าของโนราที่ใช้สำคัญอย่างไร? หรือเข้าใจในสัญลักษณ์และความโดดเด่นของการแสดงของโนราในแต่ละรูปแบบ เพราะเมื่อผู้ชมเกิดการซึมซับถึงความยากและความจริงจังของโนรา ก็จะมี “อารมณ์ร่วม-ความรู้สึกร่วม” นั่นเอง

ส่วนการ “สอดแทรก Soft Power” กรณี “โนราในวิถีผู้คน” นั้น ทางอาจารย์อานันท์ได้เสนอแนะเรื่องนี้ว่า… บางทีอาจต้องลองคิดนอกกรอบออกไป เช่น อาจไม่จำเป็นต้องสื่อสารผ่านการแสดงอย่างเดียว แต่อาจจะส่งผ่าน “พลัง Soft Power” ในรูปแบบของ “สัญลักษณ์” เช่น ผ่านทางเสื้อผ้า ผ่านทางแฟชั่น ซึ่ง “ชุดโนรา” นั้นก็ “มีเอกลักษณ์-มีสีสัน” ที่ร่วมสมัยได้อยู่แล้ว ส่วน จะทำอย่างไร? จะทำในรูปแบบไหน? กรณีนี้ถือเป็นโจทย์ที่ทุก ๆ ฝ่ายต้องช่วยกันขบคิด…

“คนที่ตอบได้คือคนที่ปฏิบัติงานจริง คนที่เป็นเจ้าของโนรา ที่จะตอบคำถามได้ดีที่สุด ซึ่ง การจะทำให้ Soft Power ขยายออกไปจากผู้ชมท้องถิ่นได้ จุดนี้อาจจะเริ่มต้นจากค้นหาว่า…ทำยังไงถึงจะทำให้ผู้ชมระดับอื่น ๆ หรือพื้นที่อื่น ๆ ตระหนักถึงคุณค่า ถึงความสวยงามของโนราได้” …เป็นอีกส่วนที่ อาจารย์อานันท์ สะท้อน “มุมคิด” ไว้…

“น่าคิด” ทั้งกับกรณี “Soft Power โนรา”

และ “รวมถึงกับศิลปะการแสดงอื่น ๆ”

“ในการผลักดันสู่ตลาดระดับสากล”.