แม้กรณีตำรวจคลั่งจะเคราะห์ดีไม่มีชาวบ้านได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต แต่ผู้ก่อเหตุก็ต้องสูญเสีย หลังเจ้าหน้าที่ตัดสินใจบุกเข้าชาร์จตัว เพราะปิดล้อมเจรจาข้ามคืนแต่ไร้ผล 

ขณะที่เหตุการณ์ล่าสุดต่างออกไป มีผู้ถูกคมกระสุนยิงเสียชีวิตถึง 3 ราย บาดเจ็บอีก 3 ราย ก่อนที่สุดท้ายตำรวจ ตัดสินใจวิสามัญหยุดยั้งไม่ให้สูญเสียเพิ่ม

ไม่ว่าจะด้วยปมปัญหา สาเหตุใด เหตุการณ์รุนแรงลักษณะที่เกิดขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกัน สังคมไม่สามารถมองเป็นเรื่องปกติหรือ “ไกลตัว” ได้อีกต่อไป เพราะไม่มีใครรู้ว่าวันใดเหตุการณ์ร้ายเช่นนี้ อาจเกิดในพื้นที่ใกล้ตัวโดยไม่คาดคิด!!!

ย้อนกลับไปเมื่อ วันที่ 8 ก.พ. 2563 เหตุ “จ่าทหารคลั่ง” กราดยิงผู้คนไม่เลือกหน้ากลางห้างในพื้นที่ จ.นครราชสีมา ทำบรรยากาศสะเทือนขวัญปกคลุมไปทั่วประเทศ และกลายเป็นกรณีตัวอย่งที่ “ปลุก” กระแสความตื่นตัวเหตุการณ์ไม่คาดฝันที่อาจเกิดขึ้นอย่างไม่รู้เนื้อรู้ตัว

และคงไม่มีใครทันคาดคิดว่า เหตุการณ์รุนแรงเช่นนี้จะเกิดขึ้น “ซ้ำ” ณ สถานที่ควร “ปลอด” ความรุนแรงทุกชนิด เมื่อเกิดเหตุ “จ่อ” ยิงเด็กๆ ขณะนอนหลับพักกลางวัน ภายใน ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กของ อบต.อุทัยสวรรค์ จ.หนองบัวลำภู เมื่อ วันที่ 6 ต.ค. 2565

ในอดีตได้รับรู้ รับฟังข่าวที่เกิดขึ้นกับคนอื่น ไม่มีใครรู้ว่าวันหนึ่งอาจต้องเผชิญเหตุเหล่านี้หรือไม่ สิ่งที่พอเตรียมไว้ล่วงหน้าได้จึงมีเพียง “สติ” และวิธีตัวรอดเบื้องต้น

อาจไม่ใช่ข้อมูลใหม่ แต่เป็นชุดข้อมูลที่ต้อง “เตือน” กันซ้ำๆ ตอกย้ำให้ทั่วถึง หรือหากเป็นไปได้ ควรเริ่มบรรจุเป็นการเรียนรู้พื้นฐานตั้งแต่โรงเรียน เมื่อพฤติกรรม “กราดยิง” ไม่ได้เลือกไว้ชีวิตเป้าหมาย หรือเลือกสถานที่ก่อเหตุ

จากข้อมูลเผยแพร่ของ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เหตุกราดยิง (Active Shooter) ที่เคยเกิดขึ้นในต่างประเทศ ปัจจุบันในประเทศไทยเองก็มีให้เห็นหลายครั้ง หลักการเอาตัวรอดแบบสากลจากเหตุการณ์เช่นนี้มี 3 หลักการ คือ “หนี ซ่อน สู้” (Run Hide Fight) แต่ละข้อมีวิธีการเลือกใช้ต่างกันตามสถานการณ์ ดังนี้

“หนี” เมื่อสามารถหาเส้นทางหลบหนีที่พาไปยังพื้นที่ปลอดภัยได้

– เวลาไปสถานที่ต่างๆ ให้จดจำทาง เข้า-ออก และทางออกฉุกเฉินให้เป็นนิสัย

– เมื่อเกิดเหตุต้องตั้งสติให้ดี และมองหาเส้นทางในการหลบหนี

– ทิ้งของทุกอย่างที่ไม่จำเป็น

– ช่วยเหลือคนอื่นเท่าที่สามารถช่วยได้

“ซ่อน” เมื่อ “ไม่” สามารถหลบหนีออกจากพื้นที่ได้ ให้หาสถานที่ปลอดภัยเพื่อซ่อนตัว

– ล็อกประตูและหาสิ่งที่ของมาใช้กีดขวางคนร้าย เพื่อไม่ให้มาถึงตัว

– ซ่อนให้พ้นสายตาโดยหลบหลังสิ่งของขนาดใหญ่และแข็งแรง เช่น โต๊ะ กำแพง

– ปิดไฟในห้อง และปิดเสียงโทรศัพท์มือถือ

– อยู่ให้เงียบที่สุด ไม่พูดคุยหรือใช้เสียง

“สู้” เป็น “ทางเลือกสุดท้าย” เมื่อไม่สามารถหนี หรือซ่อนตัวจากคนร้ายได้ และคนร้ายกำลังเข้าถึงตัวหรือโจมตี

– ร่วมกันสู้สุดกำลัง เพื่อให้มีโอกาสรอด

– ใช้การซุ่มโจมตีโดยไม่ให้คนร้ายรู้ตัว เพื่อหยุดยั้งคนร้าย

– ใช้สิ่งของทุกอย่างที่หาได้มาเป็นอาวุธ

– ใช้ทุกวิธีการที่นึกได้ ในการต่อสู้เพื่อเอาชีวิตรอด

ไม่มีใครควรต้องเผชิญเหตุการณ์ร้ายแรงเช่นนี้ แต่หากมีเหตุเฉพาะหน้า อย่างน้อย หลักการพื้นฐานอาจเพิ่มโอกาสรอดให้ตัวเอง และคนรอบข้างได้.

ทีมข่าวอาชญากรรม รายงาน

[email protected]