“ผ่าสนามฯ” พูดคุยกับ “อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี” รองหัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า ในฐานะ “แม่ทัพ” เมืองหลวง ดูแลพื้นที่ กทม. ถึงแผนพิชิตใจ เจาะพื้นที่สอยคะแนนในมือคนกรุง

ยุทธศาสตร์เศรษฐกิจนำ

อรรถวิชช์ มองการนำของนายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรค และตนเอง ที่เคยเป็น ส.ส. ใน กทม. หลายปี ทำให้เข้าใจสภาวะและเน้นตัวนโยบายเป็นหลัก ซึ่งถือเป็น “จุดเด่น” ของพรรค เน้นนโยบายทำได้จริง และเป็นนวัตกรรมทางนโยบายคือ พยายามย่อยให้ง่ายที่สุด แต่มีความลึกซึ้งในตัวเอง เพราะเป็นการปฏิรูปโครงสร้าง “คอนเซปต์” หลักของนโยบายพรรคมี 3 เรื่อง คือ

1. การรื้อโครงสร้างเดิม ซึ่งต้องเจอกับกลุ่มทุนใหญ่ เช่น รื้อโครงสร้างด้านพลังงาน โครงสร้างด้านการปล่อยสินเชื่อ 2. การเติมเงินเข้าระบบ เป็นนโยบายที่เกี่ยวกับการใช้เงิน และ 3. การสร้างรายได้ คือ “ไฮไลต์” สำคัญ

“พื้นฐานการคิดนโยบายต่อสาธารณะมีอยู่ 3 หลักนี้ ดังนั้น ไม่ว่าจะออกนโยบายอะไร ก็จะอยู่ภายในกรอบนี้ ไม่อย่างนั้นจะกลายเป็นขายนโยบายแบบประชานิยม แล้วทำไม่ได้จริง เป้าหมายจากหลักการนี้ ส่งผลให้เกิด “งานดี มีเงิน ของไม่แพง” ถือเป็นพรรคเศรษฐกิจ และสามารถเล่าในเชิงนโยบายได้ว่า ทำอะไรบ้าง”

ทั้งนี้ ย้ำว่าพรรคต้องไปทางด้านเศรษฐกิจเป็นตัวหลัก เพราะหากแก้เรื่องนี้ได้ ไม่ว่าความเหลื่อมล้ำหรือปัญหาอื่นก็มาจากเรื่องนี้หมด จะไม่ได้ไปโฟกัสเรื่องอื่น หรือการเมืองที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้ง เพราะหากเป็นแนวความคิดเดิม ดูจากการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 ที่อยู่บนความขัดแย้งแท้จริง หรือวิธีแยกคนเป็น 2 ฝ่าย

“กล้า” ทุบโครงสร้างทุนผูกขาด ไม่ขายรัฐสวัสดิการ

อรรถวิชช์ ยกตัวอย่างการรื้อโครงสร้าง ถือเป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะเป็นการแตะกลุ่มทุน โดยเฉพาะทุนผูกขาด เช่น นโยบายยกเลิกแบล็กลิสต์เครดิตบูโร เปลี่ยนเป็นระบบคะแนน ถือเป็นการปฏิรูปสินเชื่อ เพื่อให้ประชาชนมีโอกาสเข้าถึงง่ายขึ้น ทั้งคนทำงานมานาน หรือคนที่เพิ่งเริ่มสร้างตัว ปัญหาหนี้นอกระบบก็จะลดลง และถ้าจะเติมเงินเข้าไปในระบบ เรื่องของสินเชื่อเพื่อประชาชนก็จะต้องรื้อโครงสร้างเพิ่ม

หมายถึง 1. การแก้ไข พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิต พ.ศ. 2545 ซึ่งจะไม่ได้รับข้อมูลที่เป็นประวัติด่างพร้อย แต่เป็นคะแนนที่มีการประเมินแล้ว และทำให้การปล่อยสินเชื่อมีความละเอียดมากขึ้น ไม่ใช่แค่ขาว-ดำ ได้-ไม่ได้ แต่จะกลายเป็นได้เท่าไหร่ อาทิ ได้คะแนนสูง ความน่าเชื่อถือเยอะ ดอกเบี้ยก็ต่ำ แต่ถ้าหากคะแนนความน่าเชื่อถือน้อยลงมา ดอกเบี้ยก็สูงขึ้นเป็นต้น การสร้างโอกาสในสภาวะการแข่งขันในตลาด แล้วทุบรื้อโครงสร้างระบบทุนผูกขาดเดิม โดยเฉพาะเรื่องพลังงานและสถาบันการเงินคือโอกาสของประเทศ

อย่างไรก็ตาม หากไปดูนโยบายพรรคที่ออกสู่สาธารณะจะลงเรื่องเทคนิค เพราะจะไม่ขายรัฐสวัสดิการ แต่ขายการรื้อโครงสร้างให้เกิดสภาพแข่งขัน ให้คนมีโอกาสเพิ่มเข้าไปสู่ระบบนี้ให้ได้ ซึ่งคิดว่าเป้าหมายคนที่อยู่ใน Gen X-GenY ที่ต้องเริ่มทำงาน เริ่มสู้ชีวิต จะเข้าใจในสิ่งที่พรรคเสนอ

สำหรับ กทม. ส่งผู้สมัครครบ 33 เขต ถือเป็นสนามสู้รบสำคัญของพรรค และอยากสื่อสารให้คนเข้าใจ เพราะส่วนตัวเชื่อว่าคนเมืองหลวงเห็นสถานะการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะผ่านสื่อหรือของจริง พรรคตั้งใจมาสู้เพื่อปากท้อง และยังไม่มีพรรคใดนำเสนอนโยบายชนกลุ่มทุน แล้วก็สร้างสภาวะแข่งขันให้เกิดโอกาสกับคนชนชั้นกลางคนตัวเล็ก นโยบายส่วนมากเป็นประชานิยม ทุกพรรคเห็นปัญหาเหมือนกันหมด แต่ทุกพรรคเข้าไปทุบปัญหาไม่เหมือนกัน

คำนวณเป้าหมายคะแนน-เก้าอี้

อรรถวิชช์ เผยว่าตอบลำบาก แต่ก็อยากให้ได้มากที่สุด อยากให้เลือกทั้ง 2 ใบ เพราะรอบนี้วิธีการคิดของพรรค ใครที่สามารถลงเขตได้ก็สนับสนุนให้ลง ส่วนบัญชีรายชื่อ ได้ให้ผู้ที่มีความชำนาญเฉพาะด้าน และลงพื้นที่ไม่ได้ ก็ลงบัญชีรายชื่อ พร้อมขอโอกาส หากอยากได้มืออาชีพไปทำงาน

“ผู้ใหญ่ที่อยู่พรรคชาติพัฒนากล้า ส่วนหนึ่งก็เคยเป็นคนที่ทำงานในรัฐบาลมาก่อน จึงเรียกได้ว่ามีทั้งวัยเก๋า วัยรุ่นเก่า และวัยรุ่นใหม่ หากต้องการมีเศรษฐกิจที่ดีขึ้น และเข้าใจกลไกของมันจริงๆ ต้องเลือกพรรคชาติพัฒนากล้า เพราะเราไม่ได้มาคนเดียว เราเป็นพรรคเศรษฐกิจที่มาเป็นทีม ผมมั่นใจว่า เราเป็นทีมเศรษฐกิจที่ดีที่สุดในพรรคการเมือง”

นโยบายดูดคะแนนแดน(สุด)หิน

อรรถวิชช์ มองนโยบายที่ทำครอบคลุมคนทั้งประเทศ แต่ในฐานะรองหัวหน้าพรรค ที่ดูแล กทม. ตนอยู่กับการเมือง 20 ปี เคยเป็นที่ปรึกษาผู้ว่าฯ กทม. ทำให้เห็นปัญหาภาพรวมทั้งหมด ณ วันนี้ จึงทุ่มหมดเต็มกำลังความสามารถ เพราะไม่อยากอยู่บนเส้นแบ่งซ้าย-ขวา สิ่งที่เห็นอยากบอกว่า ไม่ได้คิดนโยบายบนหอคอยงาช้าง แต่ได้ลงไปสัมผัสละเอียด ก่อนกรองเป็นนโยบาย

สำหรับพื้นที่ กทม. ที่ขึ้นชื่อว่า คาดเดาใจยาก อรรถวิชช์ ระบุ คน กทม. ไวต่อข่าวสารและคิดหลายชั้น ส่วนตัวคิดว่า ต้องพยายามนำเสนอในสิ่งที่พรรคต้องการเสนอ ทั้งเรื่องสู้กับการรื้อโครงสร้าง การเติมเงินเข้าไปและการสร้างรายได้ อาจเป็นพรรคที่พูดเรื่องการสร้างรายได้หนักกว่าจะบอกว่าจะจ่ายอะไรให้ แต่พรรคเน้นกรอบสร้างรายได้ให้กับประเทศ และในส่วนตัวประชาชนด้วย อาจฟังดูยาก แต่เชื่อว่าคน กทม. เข้าใจ

“คงต้องวัด เพราะปกติแนวนี้ไม่ค่อยมีคนนำเสนอ มีแต่นำเสนอแนวรัฐสวัสดิการ หรือประชานิยม ครั้งนี้ต้องวัดกันที่นโยบาย อาจฟังดูยาก หรือลึกเกิน แต่เราเน้นการแข่งขันของกลุ่มทุน เน้นให้เกิดการสร้างรายได้ สร้างโอกาส เพราะโอกาสสำคัญกว่าเงินที่จะยื่นให้ เชื่อว่าาคน กทม. อยากได้โอกาสมากกว่าเงินที่จะลงไปแจก เพราะโอกาสมันสามารถทำให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้น คนเริ่มทำงานแล้วจะเข้าใจในนโยบายนี้”

ปลุกไฟ-ปูทาง New Voters

อรรถวิชช์ ระบุ พรรคทำกิจกรรมกับนักศึกษาในมหาวิทยาลัยมาตลอด ปัจจุบันมีโครงการ my life my goal เป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักศึกษาหลายคนว่า อาชีพเป้าหมายชีวิตคืออะไร คล้ายการแนะแนว เพื่อปลุกไฟแต่ไม่ฝังเรื่องการเมืองหรือการแบ่งซ้ายขวา อยากให้คิดถึงประโยชน์ตัวเองและครอบครัว ให้ได้ดูแลความฝันตัวเอง ดูแลประเทศได้รู้ถึงศักยภาพของตัวเองที่จะพัฒนาได้

“ผมขอโอกาสให้พวกเราได้เข้าไปทำงาน เราอยากทำการเมืองใหม่ให้เกิดขึ้น เรื่องการแบ่งขั้ว แบ่งคนเป็น 2 ฝ่าย เราไม่อยากเห็นการเลือกตั้งเป็นแค่นั้น เพราะว่าเป้าหมายยังจะต้องสู้กับเรื่องทุนผูกขาด ไม่อยากเข้าสู่บรรยากาศของการแบ่งค่าย อยากจะสร้างบรรยากาศการเมืองใหม่” อรรถวิชช์ ทิ้งท้าย.