“ประชาธิปไตยยืนหนึ่ง” มีโอกาสพูดคุยกับ รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ พูตระกูล ผู้ช่วยอธิการบดี และประธานกรรมการคณะอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม มหาวิทยาลัยรังสิต เพื่อวิเคราะห์สถานการณ์ พร้อมชี้ทิศทางความเป็นไปได้ในการเปลี่ยนแปลงกระบวนการยุติธรรมผ่านการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง
ชี้เป้ากระบวนการยุติธรรมต้องแก้
รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ เผยช่วงใกล้เลือกตั้ง แต่ละพรรคการเมืองต้องนำเสนอนโยบาย โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรม การปฏิรูปตำรวจ การพัฒนาองค์กรตำรวจอย่างเป็นรูปธรรมขึ้น เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของประชาชน ยกตัวอย่าง ความเหลื่อมล้ำด้านสถานภาพทางสังคมที่ส่งผลต่อความเหลื่อมล้ำของกระบวนการยุติธรรม หรือกระบวนการแทรกแซงการทำงานของตำรวจ หรือชั้นพนักงานอัยการ ตัวแทนพรรคน่าจะนำเสนอการแก้ปัญหามิติเหล่านี้
กระทั่งสิ่งที่ประชาชนบอกว่าแจ้งความแล้วไม่คืบหน้า จะใช้เทคโนโลยีมาสนับสนุนอย่างไร เช่น ในการติดตามคดี การแจ้งความแบบออนไลน์ นอกเหนือจากคดีอาชญากรรมทางออนไลน์ เพราะปัจจุบันแจ้งความไปแล้วเหมือนหาย ในมุมกลับกันคือต้องมาดูผู้ปฏิบัติงานด้วยว่ามีความพร้อมในเรื่องความเป็นมืออาชีพ สวัสดิการค่าตอบแทน ขวัญกำลังใจ
รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ มองว่า เนื่องจากกระบวนการยุติธรรมมีปัญหาหลายมิติ ไม่เฉพาะองค์กรตำรวจ อัยการ ศาล ก็เป็นปัญหา อาจต้องดูว่าจะพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีเข้ามาสนับสนุนการทำงานได้อย่างไร เท่าที่ทราบปัจจุบันศาลก็มีการพัฒนานวัตกรรมหลายอย่าง ดังนั้น ต้องคลี่ปัญหาแต่ละประเด็นปัญหาแล้วมาเสนอนโยบายให้ชัดเจนและเป็นรูปธรรม เพื่อประชาชนจะได้เห็นภาพชัดและเลือกได้ถูก
ข้อเสนอถึงพรรคการเมือง ปรับลุคตำรวจ
รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ กล่าวว่า องค์กรตำรวจถูกยึดโยงอยู่กับฝ่ายการเมืองโดยกฎหมาย ไม่ว่าจะ พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 หรือฉบับปัจจุบัน นายกรัฐมนตรีโดยตำแหน่ง ยังเป็นประธานคณะกรรมการตำรวจในระดับนโยบาย และระดับการบริหารงานองค์กร บริหารงานบุคคล ทำให้การเมืองสามารถเข้ามาแทรกแซง โดยเฉพาะเรื่องแต่งตั้งโยกย้าย ดังนั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่าระบบงานของตำรวจจึงไม่ยึดโยงกับประชาชนในพื้นที่ ถ้าจะบอกว่าการเมืองกำลังจะมาแก้ไขปัญหาตรงนี้ พรรคการเมืองก็ต้องเสนอนโยบายให้ชัดเจนเลยว่าอย่างไร
“การเมืองให้ได้ในเชิงนโยบายว่า ทำอย่างไรให้ปัญหาและภัยด้านอาชญากรรมลดลง แต่ไม่ใช่เข้าไปแทรกแซงเรื่องการบริหารงานบุคคล เข้าไปแทรกแซงการแต่งตั้งโยกย้าย ซึ่งปัจจุบันยังเป็นแบบนั้น”
สำหรับแนวทางทำให้ตำรวจยึดโยง ยกตัวอย่าง อังกฤษมี 43 หน่วยตำรวจทั่วประเทศ รวมทั้งของกองบัญชาการตำรวจนครบาลในกรุงลอนดอนด้วย แต่ตำรวจไทยมี 1 เดียว สั่งการจากตรงกลางไปทั่วประเทศ ในอังกฤษยึดโยงกับประชาชนตรงที่ปัจจุบันมีหัวหน้าตำรวจในแต่ละพื้นที่แต่ละเมืองแล้ว ส่วนกลางก็ให้นโยบายว่า ตำรวจจะทำอย่างไรที่จะควบคุมอาชญากรรม ป้องกัน แก้ปัญหา แต่ไม่แทรกแซงการบริหารงาน
ขณะเดียวกัน แต่ละหน่วยแต่ละพื้นที่จะมีบุคคลที่เรียกว่า police and crime commissioner เลือกตั้งมาจากประชาชน เพื่อมาดูการทำงานของหัวหน้าตำรวจแต่ละพื้นที่ ทำงานคู่ขนานกันไป อะไรที่ขาดต้องเติมเต็ม อะไรที่ยังไม่มีความพร้อม อะไรที่ยังไม่มีการพัฒนาสนับสนุนเท่าที่ควร ก็มาช่วยกัน
“ถ้าเราจะยึดโยงประชาชนเราสามารถดูต้นแบบจากอังกฤษได้ เพราะตำรวจไทยมีต้นแบบมาจากอังกฤษ”
ทั้งนี้ ย้ำว่าปัจจุบันหลายประเทศทั้ง อังกฤษ เยอรมนี สหรัฐอเมริกา แคนาดา บริหารงานตำรวจแบบกระจายอำนาจ ขณะที่ตำรวจไทยรวมศูนย์อำนาจสั่งการ ซึ่งจากการศึกษาจากผู้ปฏิบัติสะท้อนว่า “ไม่ประสบความสำเร็จ” ในการป้องกันแก้ไขปัญหาอาชญากรรม และยังส่งผลต่อความไม่เชื่อมั่น ความห่างของตำรวจกับประชาชน
อิทธิพลพรรคการเมือง สังคม ส่งผลปฏิรูปตำรวจเป็นไปได้?
รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ ระบุ การปฏิรูปตำรวจเกิดการเปลี่ยนแปลงได้จากการศึกษา หลายประเทศที่มีการเปลี่ยนแปลงมาจากหลัก 3 P คือ 1. Political View เจตจำนงทางการเมืองต้องแน่วแน่ 2. Police ตัวตำรวจ และ 3. Public People ประชาชน
“ขณะนี้กำลังจะมีการเลือกตั้ง เจตจำนงทางการเมืองคือ ต้องดูว่าพรรคใดที่มีเจตจำนงแน่วแน่ ไม่ใช่นโยบายเพียงหาเสียงฉาบฉวย ดูจากครั้งก่อนว่า พูดแล้วทำหรือไม่ ประชาชนจะรู้เองว่าสิ่งที่เคยพูดกับสิ่งที่ทำตรงกันข้ามหรือไม่ นี่อาจเป็นส่วนหนึ่งที่ประชาชนสามารถใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงการเลือกและตัดสินใจได้”
จูนจุดไหนปฏิรูปไวสุด
รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ ชี้ว่า ตำรวจไทยเป็นระบบรวมศูนย์อำนาจ ฉะนั้นต้องคลี่ให้กระจายอำนาจออกไป โดยหน่วยงานราชการทุกหน่วยงานในประเทศไทย ปลายทางคือตอบสนองความต้องการของประชาชน ซึ่งตำรวจก็คือหน่วยงานราชการ และต้องให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมทำงานกับตำรวจ
“ปัจจุบันตำรวจหนึ่งเดียวคือสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แต่อย่างอังกฤษจะมีคนจากทุกสาขาอาชีพมาเป็นตำรวจได้ โดยไม่มีค่าตอบแทน ไม่ว่าจะเป็นวิศวกร อาจารย์ในมหาวิทยาลัย สถาปนิก แพทย์ ฯลฯ เมื่อมีเวลาว่าง ก็จัดสรรเวลามาเป็นตำรวจ บุคคลเหล่านี้จะได้รับการฝึกอบรม แต่งเครื่องแบบเหมือนตำรวจทุกอย่าง มีอำนาจในการจับกุม”
อีกระบบเรียกว่า Police Community Support Officer หรือ PCSO ผู้ช่วยเจ้าพนักงานตำรวจในระดับชุมชน มีค่าตอบแทนโดยรัฐจ่ายค่าตอบแทนให้มาช่วยงานตำรวจ ซึ่งระบบแบบนี้ที่อังกฤษทำ ส่งผลให้ความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อตัวตำรวจเพิ่มสูงขึ้น และในขณะเดียวกัน ประชาชนก็รู้สึกว่าเข้าถึงตำรวจได้ด้วย.