ในปัจจุบันนี้ในประเทศไทยเรามี “ห้องปฏิบัติการอาหารอวกาศ” เกิดขึ้น ซึ่งถือว่าเป็น ห้องปฏิบัติการต้นแบบ “หนึ่งเดียวในเอเชีย” ที่ผ่านมาตรฐานและใช้ “มาตรฐานองค์การนาซ่า (NASA)”… ทั้งนี้ วันนี้ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ชวนดู “ความเคลื่อนไหวภารกิจด้านอวกาศที่เกิดขึ้นในประเทศไทย” ที่ล่าสุดมีความเคลื่อนไหวน่าสนใจ…

น่าสนใจยิ่ง…กับมิติ “อาหารในอวกาศ”

รวมถึงมิติ “รับมือภัยจากอวกาศ” ด้วย!!

อาหารนักบินอวกาศ

เกี่ยวกับห้องปฏิบัติการอาหารอวกาศที่ระบุข้างต้น คือ “The KEETA Space Food Laboratory” ของทีมวิศวกรรมอวกาศ “คีตะ (KEETA)” ซึ่งเป็น “ความร่วมมือครั้งสำคัญด้านภารกิจอวกาศในไทย” จากการสนับสนุนโดยองค์กรสำคัญ ๆ และการรวมตัวกันของสมาชิกหลายหน่วยงาน อาทิ… ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์, สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (PIM) สถาบันการศึกษาเพื่อสังคมในกลุ่ม ซีพี ออลล์ ภายใต้ เครือเจริญโภคภัณฑ์, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์, สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้ เมื่อเร็ว ๆ นี้ สุภกิต เจียรวนนท์ ประธานกรรมการ เครือเจริญโภคภัณฑ์ ได้นำทีมผู้บริหารบริษัทในเครือฯ เข้ารับฟังการนำเสนอผลงานจากทีมวิจัยเพื่อ“ผลักดันการเดินหน้าโครงการด้านอวกาศ” ของ PIM ร่วมกับเครือข่ายพันธมิตร พร้อมทั้งเข้าเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการอาหารอวกาศ KEETA …ซึ่งสำหรับ “ทีม KEETA” เมื่อเร็ว ๆ นี้ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ก็เคยนำเสนอข้อมูลภารกิจไปบ้างแล้ว โดยสังเขปคือ…เป็น “ทีมวิศวกรรมอวกาศของประเทศไทยที่พัฒนาเทคโนโลยีอาหารอวกาศ” ที่ส่งผลงานไปแข่งขัน โครงการส่งอาหารไปอวกาศ “Deep Space Food Challenge” ของ NASA, CSA และ Methuselah Foundation โดยเป็น 1 ใน 9 ทีมจากประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกที่เข้ารอบที่ 2 และเป็นทีมหนึ่งเดียวของทวีปเอเชีย

ในอีกมุมหนึ่งนั้น…การแข่งขันผลงานอาหารโครงการส่งอาหารไปอวกาศ “Deep Space Food Challenge” โดยทีมประเทศไทยทีมนี้…ก็ ถือว่าเป็นโอกาสครั้งสำคัญในการ “นำเสนอภูมิปัญญาอาหารไทย-วัฒนธรรมอาหารไทย” ผ่านทางการแข่งขันเวทีระดับอวกาศ และก็… ถือว่าเป็นผลงานความภาคภูมิใจของคนไทย…ครั้งประวัติศาสตร์ ซึ่งทางองค์กรที่ให้การสนับสนุนทีม KEETA ก็ได้ระบุไว้ว่า…การสนับสนุนในครั้งนี้ถือเป็นการสนับสนุนในนาม“ประเทศไทย”

สุภกิต เจียรวนนท์ ประธานกรรมการ เครือเจริญโภคภัณฑ์

ความน่าสนใจของอาหารดังกล่าวไม่เพียงเป็นเรื่องอวกาศ เพราะ “เทคโนโลยีผลิตอาหารแนวใหม่ที่ใช้ทรัพยากรจำกัดแต่เกิดประโยชน์มากที่สุด” นั้น…ในอีกด้านนี่อาจ สร้างโอกาสใหม่ในการพัฒนาด้านอาหาร, การสกัดสารอาหารที่สำคัญ-การพัฒนาอาหารคุณประโยชน์สูง และ รวมถึงการผลิตอาหารเพื่อพื้นที่ขาดแคลน-ประสบภัยพิบัติ ด้วย

โฟกัสที่ความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับการเข้าเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการ KEETA ของ สุภกิต เจียรวนนท์ ประธานกรรมการ เครือเจริญโภคภัณฑ์ และคณะ ที่รวมถึง วิเชียร จึงวิโรจน์ กรรมการผู้จัดการ (ร่วม) บมจ. ซีพี ออลล์, วิเศษ วิศิษฏ์วิญญู กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีพีแรม จำกัด, รศ.ดร.สมโรตม์ โกมลวนิช รองอธิการบดี ฝ่ายวิชาการและวิจัย PIM ในการเข้าเยี่ยมชมนั้นทาง ดร.ธันยวัต สมใจทวีพร ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ พร้อมด้วย ดร.โพธิวัฒน์ งามขจรวิวัฒน์ อาจารย์สาขาวิชาวิศวกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี PIM และตัวแทนทีม KEETA ได้นำเสนอที่มาของทีมในการแข่งขัน “Deep Space Food Challenge” ที่มี NASA เป็นแกนหลัก โดยสรุปคือ…

เป็นการฉีกกฎการเตรียมอาหารให้นักบินอวกาศจำนวนถึง 4 คน สำหรับภารกิจการสำรวจอวกาศระยะยาวโดยเฉพาะ โดยให้สามารถทำงานอยู่นอกโลกได้นานถึง 3 ปี โดยไม่ต้องเติมเสบียงใหม่จากพื้นโลกแม้แต่ครั้งเดียว

เยี่ยมชมห้องปฏิบัติการอาหารอวกาศ KEETA

การพัฒนาอาหารอวกาศดังกล่าว ใช้ระบบการผลิตอาหารแบบครบวงจรผ่านการใช้ด้วงสาคู พืชถั่วเขียว และระบบจัดการของเสีย ผลิตอาหารสำหรับภารกิจสำรวจนอกโลกที่มีระยะเวลายาวนาน อาทิ การเดินทางไป-กลับดาวอังคาร ที่ต้องใช้เวลาตลอดภารกิจยาวนาน โดยเป็นอาหารอวกาศที่มีคุณค่าสารอาหารครบถ้วน พร้อมด้วยรูปลักษณ์-รสชาติที่ถูกปาก ซึ่งก็ถือได้ว่าเป็น “อาหารยุคอนาคต” ซึ่งคณะที่เยี่ยมชมห้องปฏิบัติการได้ทดลองชิมอาหารนักบินอวกาศด้วย และผลงานนี้ทางทีม KEETA ก็มุ่งหวัง ส่งต่อองค์ความรู้ แรงบันดาลใจ ให้นักวิจัยด้านต่าง ๆ นำไปพัฒนาต่อยอด

ทั้งนี้ ความเคลื่อนไหว “ภารกิจอวกาศในไทย” ครั้งนี้ยังมีกรณี “Space Weather” ด้วย ซึ่ง ดร.วิรินทร์ สนธิ์เศรษฐี คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี PIM ได้นำเสนอถึง การ “เฝ้าระวังพิบัติภัยทางอวกาศ” โดยเฉพาะรังสีและอนุภาคจากอวกาศ เช่น “พายุสุริยะ” ที่ส่งผลกระทบทั้งต่อเทคโนโลยีอวกาศ และต่อมนุษย์ ซึ่งกรณีนี้ PIM มีการร่วมกับศูนย์ความเป็นเลิศทางด้านฟิสิกส์ และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในการ “เตรียมพร้อมเฝ้าระวังและเตือนภัย (Alerts, Watches, and Warnings)”เพื่อประโยชน์ในการวางแผนโครงการต่าง ๆ รวมถึงที่เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ที่รองรับการเติบโตของเทคโนโลยีอวกาศในไทยที่จะเกิดขึ้นในอนาคต …ซึ่งนี่ก็เป็นอีก “ความเคลื่อนไหวภารกิจอวกาศของไทยที่น่าตามดู”…

จาก “อาหารอวกาศ”…ถึง “สู้ภัยอวกาศ”

เป็น “ภารกิจอวกาศ” ที่ “ไทยมีการทำ”

มีการ “หนุนทำจริงจัง…และน่าสนใจ”.