ปีนี้เป็นวาระครบรอบ 7 ปี ของความร่วมมือล้านช้าง-แม่โขง ในฐานะกลไกความร่วมมืออนุภูมิภาคใหม่แห่งแรกที่มีหกประเทศลุ่มน้ำล้านช้าง-แม่โขงเข้าร่วม ได้แก่ จีน ไทย กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม ในช่วงเจ็ดปีที่ผ่านมา ความร่วมมือล้านช้าง-แม่โขงได้พัฒนาอย่างรวดเร็วและบรรลุผลเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน และกลายเป็น “ต้นแบบ” ที่แท้จริงของความร่วมมือระดับภูมิภาค

นายหาน จื้อเฉียง เอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย

ทั้งหกประเทศได้ยึดมั่นในหลักคิด “เน้นการพัฒนา ปฏิบัติต่อกันอย่างเท่าเทียม การปฏิบัติจริงที่ได้ผลลัพธ์สูง การเปิดกว้างและการไม่แบ่งแยก” ยืนหยัดในเรื่องการแสวงหาการพัฒนา ส่งเสริมความร่วมมือ สร้างประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตของประชาชน และเน้นการลงมือปฏิบัติจริง ทุกฝ่ายได้ลงเรือลำเดียวกันในการรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 เพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมสันติภาพ เสถียรภาพ และความเจริญรุ่งเรืองในภูมิภาค

ในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา ทั้งหกประเทศได้ทำงานร่วมกันเพื่อสร้างพื้นที่การพัฒนาขึ้นในภูมิภาค และได้ร่วมกันสร้าง “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ที่มีคุณภาพสูง ในปี 2565 การค้าของจีนกับทั้ง 5 ประเทศได้เอาชนะผลกระทบจากโรคระบาดและมีมูลค่ารวมที่ 416,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ( ราว 14.2 ล้านล้านบาท ) ทางรถไฟจีน-ลาวเปิดเดินรถอย่างราบรื่น โดยตั้งแต่เดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์ ปี 2566 ได้ขนส่งผู้โดยสารแล้ว 417,300 คน และขนส่งสินค้าแล้ว 647,700 ตัน เพิ่มขึ้น 256.2% และ 320% ตามลำดับเมื่อเทียบเป็นรายปี

อันเป็นการยกระดับการเชื่อมต่อในภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง ทั้งหกประเทศได้ร่วมกันสร้างพื้นที่ปลอดภัยและร่วมกันรักษาเสถียรภาพในภูมิภาคอย่างมั่นคง ทุกฝ่ายได้ทำงานร่วมกันเพื่อรับมือภัยคุกคามและความท้าทายด้านความมั่นคงทั้งแบบดั้งเดิมและแบบใหม่ในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ทำงานร่วมกันเพื่อรักษาห่วงโซ่อุตสาหกรรมระดับภูมิภาค การเงิน และความมั่นคงด้านพลังงาน สร้างตลาดล้านช้าง-แม่โขงขนาดใหญ่ ที่เน้นการมีส่วนร่วมและเกิดผลประโยชน์ถ้วนหน้า ส่งเสริมเขตนำร่องของการริเริ่มด้านความปลอดภัยทั่วโลก

ทั้งหกประเทศยังได้ทำงานร่วมกันเพื่อสร้างสถานที่ซึ่งปลอดภัย และมีความสุขในการอยู่อาศัยและแบ่งปันผลประโยชน์จากความร่วมมืออย่างต่อเนื่อง ใช้มาตรการ 6 ข้อเพื่อประโยชน์ของลุ่มน้ำโขง อันได้แก่ “แผนปฏิบัติการว่าด้วยความร่วมมือด้านการเกษตรล้านช้าง-แม่โขง” “แผนพัฒนาทรัพยากรน้ำเพื่อประโยชน์ของประชาชนล้านช้าง-แม่โขง” “แผนพัฒนาบุคลากรชั้นเลิศล้านช้าง-แม่โขง” และ “แผนความร่วมมือด้านสาธารณสุขล้านช้าง-แม่โขง” เพื่อกระชับความร่วมมือด้านการเกษตร สาธารณสุข การบรรเทาความยากจน การลดภัยพิบัติ การแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม ฯลฯ เพื่อประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรมแก่ประชาชนในหกประเทศ

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีไทย ต้อนรับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ผู้นำจีน ในโอกาสเยือนไทยอย่างเป็นทางการ ที่ทำเนียบรัฐบาล กรุงเทพฯ 19 พ.ย. 2565

ประเทศไทยเป็นผู้ริเริ่มหลักของความร่วมมือล้านช้าง-แม่โขง และรับตำแหน่งเป็นประธานร่วมของความร่วมมือล้านช้าง-แม่โขงในปีนี้ ซึ่งจะมีบทบาทที่โดดเด่นมากขึ้น ในฐานะหุ้นส่วนภายในกลไกความร่วมมือ ไทยมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในการใช้กองทุนพิเศษความร่วมมือล้านช้าง-แม่โขง

จนถึงขณะนี้ ได้รับการอนุมัติแล้ว 59 โครงการ ได้รับงบประมาณจากกองทุนฯ สะสมแล้วมากกว่า 16 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ( ราว 546.78 ล้านบาท ) ซึ่งได้ผลักดันโครงการที่เป็นประโยชน์ ต่อการดำรงชีพของประชาชน โครงการที่มีคุณภาพ และโครงการ “ขนาดเล็กแต่สวยงาม” ซึ่งรวมไปถึงโครงการด้านทรัพยากรน้ำ ด้านเศรษฐกิจและการค้าข้ามพรมแดน ด้านการเกษตรและการบรรเทาความยากจน ด้านสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม และด้านการพัฒนาเยาวชน เป็นต้น ซึ่งมีส่วนสำคัญต่อการปรับปรุงความเป็นอยู่ของประชาชน และการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในประเทศไทย

ปีที่แล้ว ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงประสบความสำเร็จในการเยือนประเทศไทย โดยได้ชี้ชัดถึงทิศทางการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศในอนาคต และได้ส่งแรงกระตุ้นที่แข็งแกร่งสำหรับความร่วมมือล้านช้าง-แม่โขงอย่างลึกซึ้งและมั่นคง ภายใต้การนำผู้นำทั้งสองประเทศที่มีฉันทามติร่วมกัน

จีนและไทยควรเร่งสร้างประชาคมที่มีชะตาร่วมจีน-ไทย ร่วมสร้าง “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ที่มีคุณภาพ ประสานความร่วมมือเชิงปฏิบัติอย่างลึกซึ้งในด้านต่าง ๆ ดำเนินการความร่วมมือในสาขาดั้งเดิมควบคู่กับการขยายความร่วมมือด้านเศรษฐกิจดิจิทัล เศรษฐกิจสีเขียว และอุตสาหกรรมพลังงานใหม่ ฯลฯ อย่างจริงจัง

จีนมีเทคโนโลยีขั้นสูงและมีกำลังการผลิตที่มีข้อได้เปรียบด้านการผลิตระบบอัจฉริยะ เทคโนโลยี 5จี อีคอมเมิร์ซ รถไฟฟ้า และผลิตภัณฑ์โซลาร์เซลล์ ความร่วมมือจีน – ไทยจะส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจของไทยอย่างมาก และยังจะกลายเป็นสาขาอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญและมีการเติบโตสำหรับความร่วมมือล้านช้าง-แม่โขงในอนาคต

ปัจจุบัน จีนกำลังเริ่มต้นการเดินทางครั้งใหม่ ในการสร้างประเทศสังคมนิยมสมัยใหม่อย่างรอบด้าน และกำลังก้าวสู่เป้าหมาย 100 ปีประการที่สอง อีกทั้งกำลังส่งเสริมการฟื้นฟูความเจริญรุ่งเรืองประชาชาติจีนครั้งใหญ่ด้วยการปรับปรุงความทันสมัยแบบจีนอย่างรอบด้าน

จีนจะยึดมั่นในนโยบายระดับชาติขั้นพื้นฐานว่าด้วยการเปิดกว้างและกลยุทธ์การเปิดกว้างที่เป็นประโยชน์ร่วมกันทุกฝ่าย ส่งเสริมการพัฒนาที่มีคุณภาพ และสร้างรูปแบบการพัฒนาแบบใหม่ จีนยินดีร่วมมือกับประเทศลุ่มน้ำล้านช้าง-แม่โขง รวมทั้งประเทศไทย โดยคำนึงถึงความอยู่ดีกินดีของประชาชนในหกประเทศอย่างแท้จริง มุ่งแสวงหาความร่วมมือ ส่งเสริมการพัฒนาอย่างเต็มที่ เพื่อสร้างแถบการพัฒนาเศรษฐกิจล้านช้าง-แม่โขงที่ยืดหยุ่นยิ่งขึ้น สร้างประชาคมชะตาร่วมล้านช้าง-แม่โขงที่แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น และสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ ของความร่วมมือล้านช้าง-แม่โขง.

ภัทราพร ไพบูลย์ศิลป