เมื่อเร็วๆ นี้ มีหนึ่งงานวิจัยเผยแพร่โดย กองคดีธุรกิจการเงินนอกระบบ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เรื่อง DSIนวัตกรรมการป้องกันแชร์ลูกโซ่ออนไลน์ ซึ่งมีการศึกษาและเก็บรวบรวมข้อมูลจากตัวอย่างกลุ่มผู้เสียหาย หรือเหยื่อแชร์ลูกโซ่ จนนำมาสู่ข้อมูลตอนหนึ่งที่ชี้บทสรุป กลโกง 25 ประการ มาเตือนสติเหยื่อหน้าใหม่

กลโกงที่ 1  หลอกให้เกิดความอยากได้ จูงใจด้วยผลตอบแทนสูง ปันผลเกินจริง              

กลโกงที่ 2  สร้างภาพโชว์รวย ใช้ชีวิตหรู โชว์บ้าน โชว์เงินเป็นปึก    

กลโกงที่ 3  สร้างภาพให้เห็นว่าบริษัท/กิจการมีความน่าเชื่อถือ ประสบความสำเร็จรวดเร็ว แบบก้าวกระโดด ฉับพลัน

กลโกงที่ 4  เชิญชวนให้รู้สึกว่า ชีวิตนี้โคตรโชคดีที่ได้มาเจอบริษัท/กิจการนั้นๆ               

กลโกงที่ 5  ให้ไปเชิญชวนบุคคลอื่น แล้วให้ค่าแนะนำการชวนบุคคลอื่นเข้าร่วมในลักษณะแม่ทีม ลูกทีม

กลโกงที่ 6  เชิญชวนเข้าไปพื้นที่ส่วนตัว หรือในโซเชียล เช่น ไลน์ เฟซบุ๊ก กลุ่มที่เป็นห้องลับใช้สนทนาส่วนตัวที่มีแต่ทีมมิจฉาชีพ เพื่อชักจูงให้ร่วมลงทุน            

กลโกงที่ 7 จูงใจด้วยการจ่ายผลตอบแทนตามที่โฆษณาในอัตราสูง โดยจ่ายแค่ครั้งแรกๆ ก่อนหอบเงินหนี     

กลโกงที่ 8 อุปโลกน์ยกตัวอย่างคนที่ได้รับผลตคอบแทน ให้เห็นว่าได้จริง         

กลโกงที่ 9  สร้างภาพว่าเป็นกิจการที่ช่วยเหลือสังคม ได้รับรางวัลมากมาย        

กลโกงที่ 10 แอบอ้างว่ามีการตั้งบริษัท/กิจการที่ถูกต้องตามกฎหมาย แต่ความจริงยังไม่ได้รับอนุญาต

กลโกงที่ 11 แอบอ้างจดทะเบียนหรือร่วมลงทุนกับธุรกิจที่อยู่ในต่างประเทศ

กลโกงที่ 12 แสดงให้เห็นว่า เมื่อเข้าเป็นสมาชิกกับบริษัท/กิจการแล้วจะมีชีวิตที่ดีขึ้นกว่าเดิม

กลโกงที่ 13 แอบอ้างบริษัท/กิจการจะนำเงินไปลงทุนในธุรกิจที่อยู่ต่างประเทศ

กลโกงที่ 14 แสดงให้เห็นว่า มีบริษัท/กิจการในเครืออีกหลายแห่ง เพื่อให้เห็นว่ากว้างขวาง

กลโกงที่ 15 เปิดให้ทุกคนเข้ามาลงทุน หรือเป็นสมาชิกได้ ไม่จำกัดจำนวน สถานภาพ ใคร ๆก็นำเงินมาลงทุนได้

กลโกงที่ 16 ทำให้เหยื่อตรวจสอบทางการเงินไม่ได้ มีธุรกรรมที่ทำให้เกิดความงง และทำให้เข้าใจไปว่าสาเหตุที่คนอื่นลงทุน และร่ำรวย มาจากการลงทุนนี้        

กลโกงที่ 17 เชิญชวนให้เข้างานสัมมนา แสดงว่ามีแผนธุรกิจที่สามารถลงทุนแล้วเติบโตรวดเร็ว กำไรงาม     

กลโกงที่ 18 โฆษณาว่าเป็นธุรกิจแนวใหม่ หรือลงทุนแบบใหม่ (Start up) หรือลงทุนในสินทรัพย์/หลักทรัพย์ใหม่ๆ หรือสินทรัพย์ดิจิทัลที่ทันสมัย มีแนวโน้มหรือเทรนด์ (Trend) มาแรง ลงทุนแล้วได้ผลตอบแทนสูงมาก  

กลโกงที่ 19 รับประกัน หรือการันตีว่าเมื่อลงทุนแล้วจะได้รับผลตอบแทน 100% ไม่มีเสียโอกาส/ไม่ขาดทุนเด็ดขาด

กลโกงที่ 20 เชิญชวนหากชอบทำงานสบาย ง่ายๆ ไม่กระทบงานประจำ ลงทุนน้อย ผลตอบแทนสูง ได้เงินแน่นอนไม่มีความเสี่ยงใดๆ ทั้งสิ้น

กลโกงที่ 21 นำเงินสดเหยื่อไปลงทุน/แลกเปลี่ยนเป็นหน่วยลงทุนที่บริษัทหรือกิจการที่กำหนดขึ้นมาเอง (นำเงินจริงไปแลกเงินสมมุติที่กำหนดขึ้นมา)  

กลโกงที่ 22 ใช้เหยื่อไปชวน/ชักจูงคนใกล้ชิดลงทุน หรือติดกับดักว่ามาแล้วได้ผลตอบแทนจริง     

กลโกงที่ 23 หลอกให้โอนเงินไปลงทุนแล้วจูงใจว่า รอรับผลตอบแทนอย่างเดียว ไม่มีขาดทุน        

กลโกงที่ 24 ทำให้รู้สึก/เข้าใจว่าเป็นการลงทุนกับบริษัทหรือกิจการที่ประสบความสำเร็จมาก อายุน้อยร้อยล้าน               

กลโกงที่ 25 สร้างโปรแกรมสำเร็จรูปเสมือนจริง มาเป็นหน้าจอแสดงผลรายงานการลงทุน/ผลตอบแทน มีแสดงกราฟเรียลไทม์ (Real time)

จากข้อมูลข้างต้นเชื่อว่าแม้ไม่สนใจ แต่กลลวงชักชวนลักษณะนี้ต้องเคยผ่านตากันมาไม่มากก็น้อย เพราะมีข้อสังเกตจากการวิจัยระบุว่า “เกินครึ่ง” ของเหยื่อคดีแชร์ลูกโซ่ได้รับการชักชวนผ่านสื่อออนไลน์ นอกจากนี้ยังพบส่วนมากรู้ว่าเป็นการลงทุนแชร์ แต่เพราะได้ผลตอบแทนสูงจึงยอม “เสี่ยง”

กลุ่มเป้าหมายส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง และร้อยละ 71 เหยื่อเป็นกลุ่มที่มีงานและรายได้ประจำระดับสูงกว่าเดือนละ 40,000 บาท และมีทั้งแพทย์ พยาบาล นักบิน ตำรวจ ทหาร ทนายความ วิศวกร ไปจนพนักงานธนาคาร ก็ตกเป็นเหยื่อเช่นกัน.

ทีมข่าวอาชญากรรม รายงาน

[email protected]