อ่านบทสัมภาษณ์ของ คุณฉัตร คำแสง ผู้อำนวยการ 101 PUB – 101 Public Policy Think Tank ศูนย์ความรู้นโยบายสาธารณะเพื่อการเปลี่ยนแปลง ที่ให้ความเห็นเรื่องการควบรวม “ทรู+ดีแทค”  แล้วต้องบอกเลยว่ารู้สึก “กังวล” และ “ห่วงใย” จริงๆ  เลยขออนุญาตหยิบยกความเห็นของคุณฉัตร บางช่วงบางตอนมาเล่าสู่กันฟัง

คุณฉัตร มองว่าการควบรวม บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ทรู และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน)  หรือ ดีแทค  กลายเป็นบริษัทชื่อใหม่ “บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)” เป็นเรื่องแปลกในโมเดลที่ A+B=A ไม่ใช่ A+B=C แต่สาระสำคัญไม่ได้อยู่ที่ชื่อของบริษัทใหม่แต่อยู่ที่ผู้มีอำนาจในการบริหารหรือคณะกรรมการ (บอร์ด) ที่กำกับดูแลมากกว่า หากรายชื่อกรรมการในบริษัทใหม่ยังเป็นคนเดียวกับชื่อบริษัทเดิมก็เท่ากับว่า การดำเนินงาน การบริหาร การออกโปรโมชั่นเข้าหาลูกค้าก็จะมาจากกลุ่มคนๆ เดียว การคุยกับซัพพลายเออร์หรือพาร์ทเนอร์ก็ทำให้ได้เปรียบคู่แข่งคนอื่นเพราะมีอำนาจการต่อรองที่มากกว่า

ฉัตร คำแสง

คุณฉัตรยังบอกว่า ในช่วงที่เรื่องนี้ยังอยู่ในความสนใจของสังคมช่วง 2-3 ปีต่อจากนี้ มองว่าภาพของอุตสาหกรรมยังไม่เปลี่ยนมาก แต่หลังจากนั้น เมื่อต้นทุนเริ่มคงที่ การขึ้นกำไรการทำราคาที่แพงขึ้นจะเริ่มเห็นชัด ถึงตอนนั้นก็จะทำอะไรไม่ได้แล้ว เราจะเข้าสู่การผูกขาดเต็มตัว

จริงๆ แล้ว สำนักงาน กสทช. ในฐานะผู้กำกับดูแล ควรส่งเสริมให้มีการแข่งขันกันในตลาด ไม่ควรดำเนินการใดๆ ที่จะเป็นการลดการแข่งขัน ที่เห็นได้ชัดคือการลดจำนวนผู้เล่นรายใหญ่ในตลาดจาก 3 รายเหลือเพียง 2 ราย ก่อให้เกิดสภาวะตลาดผูกขาดแบบ Duopoly ที่มีรายใหญ่ที่มีอำนาจเหนือตลาดเหลืออยู่เพียงสองรายอย่างถาวร

ในอนาคตแพกเก็จจากฝั่งเจ้าตลาดคือ AIS หรือบริษัทใหม่ที่เกิดหลังจากควบรวมก็จะดำเนินไปในทิศทางเดียวกัน สิ่งนี้จะทำให้เกิดการกระจุกตัวของตลาดโทรคมนาคมสูงมาก และจะเป็นเหมือนในอุตสาหกรรมเซ็กเตอร์อื่นที่ทุกแบรนด์เป็นเจ้าของเดียวกันหมด หรือไม่ก็มีคู่แข่งเพียง 2 รายเท่านั้น

ขณะที่มาร์เก็ตแชร์ของค่ายมือถือรายใหญ่ที่เหลืออยู่เพียง 2 รายคือ ทรูและดีแทค อยู่ที่ 54.2%, เอไอเอส 45.5% ส่วน NT มีส่วนแบ่งเพียง 0.3%

101 PUB ศูนย์ความรู้นโยบายสาธารณะเพื่อการเปลี่ยนแปลง ได้วิเคราะห์ถึงผลกระทบที่ผู้บริโภคจะได้รับการควบรวม ทรู+ดีแทค พบว่าผู้บริโภคอาจต้องจ่ายค่าบริการแพงขึ้น 7-23% หรือ 15-50 บาท/เดือน ซึ่งสูงกว่าการประหยัดต้นทุนของผู้ประกอบการจากการควบรวม โดยกรณีที่มีการควบรวมและรายใหญ่แข่งขันกันรุนแรง ค่าบริการในตลาดจะเพิ่มขึ้น 7-10% แต่หากแข่งขันตามปกติ ค่าบริการจะเพิ่มขึ้น 13-23% อย่างไรก็ตาม หากผู้เล่นรายใหญ่มีการฮั้วกัน ค่าบริการในตลาดจะเพิ่มขึ้น 66-120%

ฟังความเห็นจากนักวิชาการท่านนี้แล้ว น่ากังวลและน่าเป็นห่วงไหมครับ??

แน่นอนมหากาพย์การควบรวม ทรู+ดีแทค ที่ยืดเยื้อมาประมาณ 15 เดือน ซึ่งมีเรื่องราวให้พูดถึงและวิพากษ์วิจารณ์มากมายในหลายมิติทั้งในแง่มุมทางธุรกิจ การแข่งขัน และข้อกฎหมายที่ขัดแย้งมีความเห็นไม่ตรงกัน แม้ว่าท้ายที่สุดการควบรวมแบบมีเงื่อนไขจะเสร็จสมบูรณ์ไปเมื่อวันที่ 1  มี.ค.66 ที่ผ่านมา แต่ก็ยังมีคดีคาราคาซังกันอยู่ในศาลให้ต้องจับตากันอีก

ที่สำคัญคือ บทบาทการทำหน้าที่ของ กสทช. ในการกำกับและควบคุมดูแล ซึ่งที่ผ่านมาถูกวิพากษ์วิจารณ์หนักมาก และแน่นอนว่าหลังจากนี้ บทบาทการทำหน้าที่ของ กสทช. จะยิ่งถูกจับตามองจากสังคมมากขึ้น และต้องทำหน้าที่ควบคุมดูแลให้เข้มข้นขึ้นกับประเด็นข้อห่วงใยที่ว่า สุดท้ายจะเกิดการผูกขาด และประชาชนจะต้องแบกรับภาระต้องจ่ายแพงขึ้นแบบที่ไม่ควรจะเป็นหรือไม่??

…………………………….

คนเถรตรง