“ประชาธิปไตยยืนหนึ่ง” ตั้งประเด็นชวนจับตาแนวโน้มปัญหาที่อาจต้องเผชิญ และ “พิรุธ” ต่าง ๆ ที่อาจนำมาสู่ความไม่ชอบธรรม การไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง

ภาวะการเมือง สภาพเศรษฐกิจ กับปมซื้อเสียง

นพ.ทศพร เผยว่า การซื้อเสียงอยู่คู่กับการเมืองไทยมาช้านานแล้ว การซื้อเสียงจะมีทั้งซื้อโดยตรงและโดยอ้อม “โดยตรง” เช่น จ่ายเงินรายหัว “โดยอ้อม” คือ เข้าร่วมงานบุญต่าง ๆ หรืองานที่อ้างว่าเป็นสาธารณประโยชน์ก็จะบริจาคเงินเยอะเป็นก้อน แต่ปัจจุบันประชาชนเริ่มเข้าใจ อีกทั้งรู้ว่าคนที่จะซื้อเสียงนั้นแปลว่า เอาเงินมาจากการโกงบ้านเมืองและตัวเองบริหารงานไม่เป็น

ตอนนี้เชื่อว่าประชาชนเข้าใจหมดเรื่องของการซื้อเสียง ยกตัวอย่าง จากคนที่เคยคุยมาก็บอกว่ารับแต่ไม่เลือก จะเลือกคนที่อยากเลือก ก็ไม่แคร์ให้เงินมาก็รับ เพราะปัจจุบันมันไม่เหมือน 20-30 ปีก่อน สมัยนั้นการคมนาคมยังห่างไกลความเจริญ โทรศัพท์มือถือที่จะถ่ายรูปก็ยังไม่มี เวลารับเงินใครมาก็จะถูกขู่ แต่สมัยนี้ไม่ใช่แบบนั้น การเงินซื้อเสียงก็จ่ายไปเถอะ ผมเชื่อว่าไม่เข้าเป้า

กรณีที่เคยมีข้อเสนอให้รัฐจ่ายเงินค่าเดินทาง 500 บาท เพื่อให้คนออกมาเลือกตั้ง และแก้ปัญหาซื้อเสียง นพ.ทศพร ระบุ ส่วนตัวมองว่าเป็นความคิดที่พอใช้ได้ เพราะบางคนต้องเสียค่าเดินทาง หรือกลับไปต่างจังหวัดก็อาจเป็นการช่วยกระตุ้นให้มาเลือกตั้งมากขึ้น วิธีการถือว่าโอเค แต่เหตุผลที่นำมาอ้างนั้นไม่ฉลาด เช่น จะได้เห็นว่าเป็นประชาธิปไตยกินได้ หรือจะได้รู้ว่าเป็นบุญคุณของแผ่นดิน เป็นเหตุผลที่ใช้ไม่ได้ ลิเกเกินไป การให้ค่าเดินทางก็เป็นเหมือนสวัสดิการที่ให้ประชาชนมาเลือกตั้ง

ส่วนจะดูเหมือนเป็นการซื้อเสียงหรือไม่ มองว่าไม่ใช่ เพราะเงินดังกล่าวมาจากงบประมาณแผ่นดิน ซึ่งประชาชนก็ทราบแล้วว่ามาจากภาษีของทุกคน ฉะนั้นไม่ใช่เป็นบุญคุณของใคร แต่คือการเจียดภาษีเอามาคืนให้ประชาชนใช้เป็นค่าเดินทางไปเลือกตั้ง เชื่อว่าประชาชนเข้าใจ

ทั้งนี้ หากให้ชี้ถึงการซื้อเสียงและผลลัพธ์ทางการเมือง นพ.ทศพร กล่าวว่า อย่างที่รู้กันอยู่แล้วว่าการซื้อเสียงไม่มีใครนำเงินส่วนตัวมาซื้อ เช่น ว่าที่ผู้สมัคร ก็ต้องไปนำเงินมาจากผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ส่วนผู้ที่มีตำแหน่งทางการเมืองก็นำเงินบ้านเมืองมา ไม่อย่างนั้นจะนำเงินจากไหนมาจ่าย

อย่างไรก็ตาม คงไม่นำมาเพื่อแค่ซื้อเสียง แต่เผื่อใช้ในชีวิตประจำวัน สร้างความร่ำรวย วนเป็นวัฏจักรบ้านเมืองก็ไม่เกิดการพัฒนาเท่าที่ควร นี่คือตัวอย่างผลกระทบที่เห็นได้ชัดจากการซื้อเสียง

ท่ามกลางช่องทางสื่อสารและเทคโนโลยี นพ.ทศพร ระบุ ภาคประชาชนมีส่วนช่วย สังเกตการณ์ซื้อเสียงได้ โดยอยากให้ทุกคนที่มีโทรศัพท์มือถือช่วยกันหากใครนำเงินมาแจกก็ให้ถ่ายภาพไว้แล้วไปแจ้งตำรวจ พร้อมเสนอให้มีการแก้ไขกฎหมายหรือระเบียบที่เกี่ยวข้องเรื่องของการแจ้งเบาะแส หากพิสูจน์ได้และดำเนินคดีถึงที่สุดแล้ว ผู้แจ้งควรจะได้รับสินบนนำจับ

“สมมุติจับการซื้อเสียงได้มีรางวัล 100,000 บาท เชื่อว่าจะทำให้คนพร้อมที่จะออกมาทำ เพราะบางครั้งคนที่ซื้อเสียงก็เป็นคนรู้จักกัน ทำให้ไม่อยากแจ้งความจึงปล่อยผ่านไป ถ้ามีรางวัลให้เยอะ ๆ เชื่อว่าจะมีการจับได้มากขึ้น”

พลังประชาชนปิดทุจริตคะแนน

หากให้เสนอการเฝ้าระวังการทุจริตเลือกตั้งของภาคประชาชนในแต่ละช่วงการเลือกตั้ง นพ.ทศพร กล่าวว่า อยากให้ประชาชนในแต่ละพื้นที่ช่วยกันตื่นตัว ไปช่วยกันดูแลการลงคะแนนตั้งแต่ตอนเช้า ไปดูว่าหีบว่างเปล่าจริงหรือไม่ มีใครแปลกปลอมมาลงคะแนนแทนคนอื่นหรือเปล่า หรือจะมีใครเวียนเทียนเข้ามา จนถึงการนับคะแนนเลือกตั้งก็ต้องมาช่วยกันเฝ้าดูว่าการนับคะแนนถูกต้องหรือไม่

ขณะที่ การจัดหน่วยเลือกตั้งควรจะให้มีแสงสว่างเพียงพอ และประชาชนที่ไปฟังการนับคะแนนจะต้องเห็นอย่างชัดเจน ไม่ใช่หลายหน่วยจะเห็นยกบัตรขึ้นให้ประชาชนดูแล้วขานเลข ปรากฏว่าประชาชนอยู่ไกลมากจนมองไม่เห็น ก็ไม่มีประโยชน์

ตรงนี้เป็นเรื่องที่ต้องทำให้ประชาชนตื่นตัวมาช่วยกันเฝ้าดู และหากเป็นไปได้คือการตั้งองค์กรระดมภาคประชาชนมาช่วยกันจับตาการเลือกตั้ง พรรคการเมืองทุกพรรคจะเข้าร่วมตรงนี้ก็ได้ ยิ่งมีตัวแทนพรรคการเมืองทุกพรรคมาช่วยกัน เชื่อว่าจะช่วยให้การเลือกตั้งมีความบริสุทธิ์ยุติธรรมมากขึ้น

นพ.ทศพร แสดงความเห็นด้วยกับการมีผู้ตรวจการเลือกตั้ง เพราะในอดีตกว่า 20 ปีก่อนมีองค์กรกลาง เหมือนเป็นองค์กรเอกชนคอยจับตาการเลือกตั้ง ซึ่งน่าจะทำอีก แต่ต้องจับตาอย่างเข้มข้นไม่ใช่ตั้งขึ้นมาแล้วก็ทำเหมือนเป็น เสือกระดาษ เชื่อว่าถ้ามาทำช่วงนี้น่าจะดีขึ้น เพราะแต่ละคนมีโทรศัพท์มือถือ มีการสื่อสารที่สามารถจะดูแลได้เต็มที่.