“คอบร้าโกลด์” เป็นการซ้อมรบแบบพหุภาคี ซึ่งมีความยิ่งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่ง ในระดับภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก จัดขึ้นเป็นประจำที่ประเทศไทย นับตั้งแต่ปี 2525 โดยมีจุดเริ่มต้นมาจากการฝึกในแบบทวิภาคี ทั้งในด้านการทหารและมนุษยธรรม เพื่อฟื้นฟูความสัมพันธ์ ระหว่างสหรัฐกับไทย
ปัจจุบัน คอบร้าโกลด์ มีสมาชิกหลัก ได้แก่ ไทย สหรัฐ สิงคโปร์ ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย เกาหลีใต้ และมาเลเซีย ขณะที่บรูไน ลาว กัมพูชา เวียดนาม อิสราเอล เยอรมนี ปากีสถาน ศรีลังกา บราซิล และสวีเดน มีสถานะเป็นผู้สังเกตการณ์ นอกจากนั้น มีอีกหลายประเทศเข้าร่วมการฝึกฝนด้านมนุษยธรรม รวมถึง จีน อินเดีย และออสเตรเลีย
การฝึกซ้อมรบคอบร้าโกลด์ครั้งล่าสุด ซึ่งเป็นครั้งที่ 42 เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 28 ก.พ. – 10 มี.ค. ที่ผ่านมา พล.ร.อ.จอห์น ซี. อากีลีโน ผู้บัญชาการกองบัญชาการภาคพื้นอินโด-แปซิฟิกของสหรัฐ ( ยูเอสอินโดแปคอม ) กล่าวว่า สหรัฐมุ่งมั่นฝึกซ้อมร่วมกับไทยและพันธมิตรอีกหลายประเทศ ทั้งทางบก ทางทะเล และทางอากาศ ที่รวมถึงการฝึกซ้อมด้านอวกาศเป็นครั้งแรก ตลอดจนการจัดการกับภัยคุกคามทางไซเบอร์
ขณะเดียวกัน การฝึกซ้อมคอบร้าโกลด์ครั้งนี้ ยังจะเป็นการเตรียมความพร้อมร่วมกันระหว่างสมาชิกที่เข้าร่วมทุกประเทศ เพื่อยกระดับศักยภาพให้สอดคล้องไปในทางเดียวกัน ต่อการ “ปกป้องความเป็นเสรีภาพและการเปิดกว้างของภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก เพื่อให้ทุกประเทศในบริเวณนี้สามารถธำรงไว้ซึ่งสันติภาพ เสถียรภาพ และความรุ่งเรือง”
สำหรับการฝึกซ้อมคอบร้าโกลด์ในปีนี้ มี 30 ประเทศเข้าร่วม ทั้งการฝึกหลัก โครงการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม โครงการเสนาธิการผสมส่วนเพิ่มนานาชาติ และร่วมสังเกตการณ์ฝึก รวมผู้เข้าร่วมการฝึกทั้งสิ้น 7,394 นาย จากจำนวนดังกล่าวเกือบ 6,000 นาย เป็นทหารอเมริกัน ซึ่งเป็นสถิติสูงที่สุดในรอบ 1 ทศวรรษ
สหรัฐเป็นประเทศที่ “มีบทบาทอย่างสูงแทบทุกด้าน” ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มานานหลายทศวรรษแล้ว แม้มีการปรับเปลี่ยนดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง แต่โครงสร้างของนโยบายแทบไม่เคยเปลี่ยน นั่นคือ “การรักษาฐานที่มั่นและเขตอิทธิพล” ในภูมิภาคแห่งนี้
แม้หนึ่งในวัตถุประสงค์หลักของการซ้อมรบคอบร้าโกลด์ คือการส่งเสริมความสัมพันธ์กับประเทศเจ้าบ้าน แต่ท่ามกลางบรรยากาศการแข่งขันอันตึงเครียดด้านภูมิศาสตร์การเมืองโลก โดยเฉพาะการขับเคี่ยวกันอย่างหนัก ระหว่างสหรัฐกับจีน ภารกิจทางทหารครั้งนี้จึงกลายเป็น “ตัวบ่งชี้ความสมดุล” ของการจัดการความสัมพันธ์ ระหว่างประเทศที่เข้าร่วมการฝึกซ้อม โดยเฉพาะเจ้าภาพอย่างไทย กับสองชาติยักษ์ใหญ่ นั่นคือ สหรัฐและจีน ซึ่งเข้าร่วมการฝึกฝนด้านมนุษยธรรมของคอบร้าโกลด์เป็นประจำ ตั้งแต่ปี 2557
จำนวนทหารที่สหรัฐส่งเข้าร่วมในปีนี้ เป็นการส่งสัญญาณอย่างมีนัยไปถึงจีน ว่ารัฐบาลวอชิงตัน “พร้อมเคลื่อนไหว” เพื่อรักษาผลประโยชน์ของตัวเองในภูมิภาคแห่งนี้ ท่ามกลางการแผ่ขยายอิทธิพลอย่างรวดเร็วของจีน ขณะที่หลายจุดในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก เรียกได้ว่า “เป็นจุดร้อน” ของข้อพิพาทที่ส่งผลกระทบสืบเนื่องไปทั้งโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คาบสมุทรเกาหลี ทะเลจีนตะวันออก ทะเลจีนใต้ ไต้หวัน และเมียนมา
ยิ่งไปกว่านั้น บรรดามหาอำนาจโลกยังรวมตัวเป็นกลุ่มความร่วมมือพหุภาคี แต่ทับซ้อนกันไปมา โดยล่าสุด คือกติกาความร่วมมือ “ออคัส” ที่มีสมาชิกคือ สหรัฐ สหราชอาณาจักร และออสเตรเลีย ด้านจีนและรัสเซียจับมือยกระดับความสัมพันธ์เป็น “หุ้นส่วนยุทธศาสตร์ที่ไร้ขอบเขต” สหรัฐยิ่งต้องรักษา “ภาพลักษณ์” ของการเป็น “มหามิตร” และการเป็นหุ้นส่วนรายใหญ่ในภูมิภาคแห่งนี้
อนึ่ง ย้อนกลับไปเมื่อ 50 ปีที่แล้ว ในวันที่ 27 ม.ค. 2516 ผู้แทนระดับสูงของสหรัฐ ร่วมลงนามกับรัฐบาลสาธารณรัฐประชาธิปไตยเวียดนาม ( เวียดนามเหนือ ) สาธารณรัฐเวียดนาม ( เวียดนามใต้ ) และผู้แทนของเวียดกง ในสนธิสัญญาปารีส ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เพื่อการยุติสงครามเวียดนาม และการฟื้นฟูสันติภาพ ตลอดจนเสถียรภาพให้กับประเทศแห่งนี้
ผลของสนธิสัญญาทำให้เวียดนามทั้งสามฝ่ายหยุดยิง แต่ที่ยิ่งไปกว่านั้น คือการยุติการเข้ามามีบทบาทโดยตรงของสหรัฐในสงครามเวียดนาม เนื่องจากหนึ่งในเงื่อนไขของสำคัญ คือ สหรัฐต้องถอนทหารออกทั้งหมด ภายใน 60 วัน นับตั้งแต่การมีผลของสนธิสัญญา
ภาพของการละทิ้งพันธมิตรทางทหารในครั้งนั้น ทำให้น่าคิดว่า ความเป็นมหามิตรของสหรัฐต่อชาติใด จะมั่นคง ยั่งยืน และต่อเนื่องได้นานเพียงไหนนั้น การฝึกร่วมทางทหารขนาดใหญ่เป็นประจำสม่ำเสมอ อาจไม่ใช่ “คำตอบสุดท้าย” เท่ากับ การพูดคุยและต่อรองของบรรดานักการเมืองในกรุงวอชิงตัน.
ภัทราพร ไพบูลย์ศิลป
เครดิตภาพ : GETTY IMAGES