การปักผ้า” ยังคงเป็นงานฝีมือที่สามารถนำไปต่อยอดปักลงบนชิ้นงานได้หลากหลาย ที่นอกจากจะทำให้ชิ้นงานมีความสวยงาม มีความน่าสนใจเพิ่มมากขึ้นแล้วยังเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับชิ้นงานได้เป็นอย่างดี อย่าง “แนน-ภัชรพิงค์ภา ภรเศรษฐ์สิริ” ที่นำเทคนิคการปักลวดลายมาปักลงบน “รองเท้า” เป็นการต่อยอดผสมผสานงานฝีมือกับงานศิลปะเป็นไอเดียสร้างสรรค์ทำให้สินค้าธรรมดา ๆ กลายเป็นสินค้าที่มีเอกลักษณ์สวยโดดเด่นโดนใจลูกค้า…ซึ่งวันนี้ทีมคอลัมน์ “ช่องทางทำกิน” มีข้อมูลมานำเสนอให้พิจารณา…

แนน-ภัชรพิงค์ภา เจ้าของเพจ “รองเท้าแฮนด์เมดปักมือ By Flower Shoes” ผู้ที่ผลิตทำชิ้นงานรองเท้าปักลวดลายขาย เล่าว่า…เดิมทำธุรกิจขายของออนไลน์อยู่แล้ว แต่เนื่องจากเป็นคนชอบงานแฮนด์เมดงานฝีมืองานเย็บปักถักร้อย และก็มีพื้นฐานทางด้านการปักผ้าอยู่แล้ว และส่วนตัวก็ชอบใส่เสื้อผ้าปักมือ แต่หาซื้อรองเท้าปักมือมาใส่คู่กับชุดไม่ค่อยมี เลยมีแนวคิดว่าอยากหาซื้อรองเท้ามาปักลวดลายไว้ใส่เองเพื่อให้เข้าคู่กับเสื้อผ้า ก็เลยไปหาซื้อรองเท้าและนำมาทดลองปักลวดลายตามที่ตัวเองต้องการลงไป หลังจากที่ปักเสร็จก็เลยถ่ายรูปและแชร์ลงในกลุ่มปักผ้า ซึ่งปรากฏว่ามีเพื่อน ๆ จำนวนมากเข้ามาสอบถามว่าขายไหม และสั่งซื้อยังไง จึงมีความคิดที่จะทำขายอย่างจริงจัง

เริ่มมาทำรองเท้าปักลายขายเมื่อช่วงเดือน ก.ค. ปี 2565 โดยตอนแรกก็เริ่มจากหาแหล่งผลิตรองเท้าแฮนด์เมด จนได้เจอกับช่างที่มีประสบการณ์การทำรองเท้ามามากกว่า 20 ปี จึงติดต่อสั่งทำรองเท้าจากช่างทำรองเท้า เริ่มจากคุยรายละเอียดและออกแบบรองเท้าในรูปแบบที่ต้องการให้กับช่าง ซึ่งรองเท้าที่ออกแบบให้ช่างทำออกมามี 4 รุ่น ซึ่งรองเท้าของทางร้านจะเป็นงานทำมือทุกขั้นตอน หลังจากที่ผลิตทำชิ้นงานรองเท้าปักออกมาขายก็ปรากฏว่าได้รับการตอบรับจากลูกค้าเป็นอย่างดี

“งานปักลวดลายลงบนรองเท้าของทางร้านเรานั้นจะใช้เทคนิคการปักแบบไม่ทะลุด้านในรองเท้า ใช้เทคนิคการปักแบบซ่อนด้าย เพื่อทำให้งานออกมาดูเรียบร้อย และไม่มีปมด้ายทำให้เวลาใส่จะไม่ทำให้เจ็บเท้า ที่สำคัญเน้นในเรื่องของคุณภาพเป็นพิเศษ ทั้งตัวรองเท้าก็จะเป็นงานแฮนด์เมดทำมือทุกคู่ เนื้อผ้าก็จะใช้เป็นผ้าดิบฟอกนุ่ม พื้นรองเท้ามีกันลื่น นํ้าหนักเบา สวมใส่สบาย ส่วนลวดลายที่ปักลงบนรองเท้านั้นก็ใส่ใจในรายละเอียดเป็นพิเศษไหมที่ใช้ปักก็ใช้อย่างดีมีคุณภาพ มีความนุ่ม และมันเงา สีไม่ตก ทำให้งานปักมีความสวยงาม“แนนบอกถึงจุดเด่นของชิ้นงาน ที่ทำให้สินค้าได้รับการตอบรับจากลูกค้าเป็นอย่างดีมาโดยตลอด

ทุนเบื้องต้น ใช้เงินลงทุนประมาณไม่เกิน 20,000 บาทส่วนใหญ่เป็นค่าวัสดุอุปกรณ์ที่จำเป็น

ทุนวัสดุ อยู่ที่ประมาณ 40% จากราคา ซึ่งราคาขายรองเท้าปักลายมีตั้งแต่ 790-2,590 บาท ราคาขึ้นอยู่กับรายละเอียด และความยากของลวดลายที่ปัก…นอกจากที่ร้านของแนนยังมีรองเท้าแบบที่ไม่ปักลวดลายขายอีกด้วย ซึ่งราคารองเท้าเปล่าแบบไม่ปัก เริ่มต้น 490-590 บาท

วัสดุอุปกรณ์ ที่ใช้หลัก ๆ ประกอบด้วย รองเท้า, ไหมปัก, กรรไกร, เข็มปักผ้า, ปากกาลบด้วยความร้อน เป็นต้น

ขั้นตอนการทำรองเท้าปักลาย

เริ่มจากออกแบบรูปทรงรองเท้าตามที่ต้องการ จากนั้นก็พูดคุยรายละเอียดกับช่างทำรองเท้า เลือกผ้าที่จะใช้ทำรองเท้าให้ช่างเสร็จแล้ว จากนั้นช่างก็จะขึ้นชิ้นงานตามแบบให้เสร็จแล้วก็ทำการตรวจสอบคุณภาพว่าสวมใส่สบายหรือไม่ หากไม่มีการปรับแก้ก็ให้ช่างผลิตรองเท้าตามแบบตามจำนวนที่ต้องการได้เลย

หลังจากที่ได้รองเท้าแบบเสร็จสมบูรณ์แล้วก็นำมาปักลวดลายได้เลย โดยให้ใช้ปากกาแบบที่สามารถลบออกได้ด้วยความร้อนวาดลวดลายลงบนรองเท้า โดยจัดวางตำแหน่งของลวดลายให้สวยงามลงตัวตามที่ต้องการ เมื่อร่างแบบที่ต้องการลงบนรองเท้าเสร็จแล้ว ก็มาถึงขั้นตอนการปัก โดยเลือกใช้เข็มปักขนาดไซซ์ตามที่ต้องการ และมาเตรียมไหมปักตามสีที่ออกแบบไว้ เมื่อได้ไหมปักมาแล้วก็ตัดให้ยาวพอเหมาะ ร้อยใส่เข็มปักจากนั้นก็ปักลายตามแบบที่ร่างไว้ได้ทันที โดยค่อย ๆ ปักเพื่อให้ไหมปักมีฝีปักที่เรียบเสมอกัน หลังจากที่ปักเสร็จเรียบร้อยดีแล้วก็ให้ใช้ความร้อนเป่าผมลบรอยปากกาออก ตรวจสอบลวดลายที่ปักให้เรียบร้อยอีกครั้ง เท่านี้ก็เป็นอันเสร็จขั้นตอนการทำ

“สำหรับคนที่สนใจงานปักลวดลายลงบนรองเท้านี้ แต่ไม่มีทักษะด้านการปักมาก่อนก็ไม่ใช่เรื่องยากที่จะเรียนรู้ สามารถฝึกหัดทำได้ไม่ยาก แค่ต้องใช้ความอดทน ความพยายามฝึกฝนหัดทำบ่อย ๆ แรก ๆ อาจเริ่มปักจากลายที่ง่าย ๆ ก่อน และพยายามฝึกฝนไปเรื่อย ๆ ก็จะทำให้เกิดความชำนาญขึ้นมาเอง พอมีความชำนาญมากขึ้นแล้วก็ค่อยไปปักลวดลายที่ยากขึ้น“ เจ้าของชิ้นงานแนะนำสำหรับคนที่สนใจทำชิ้นงานประเภทนี้

สำหรับผู้ที่สนใจ “รองเท้าแฮนด์เมดปักลาย” หรือรองเท้าแฮนด์เมดแบบไม่ปักลาย ของ แนน-ภัชรพิงค์ภา สามารถเข้าชมชิ้นงานหรือสั่งทำสั่งซื้อได้ทางเฟซบุ๊ก : รองเท้าแฮนด์เมดปักมือ By Flower Shoes…นี่ก็เป็นอีกหนึ่งไอเดียที่เป็นการนำ “งานฝีมือ” มาผสมผสานกับ “งานศิลปะ” ต่อยอดเพิ่มมูลค่าให้ชิ้นงาน จนสามารถใช้เป็น “ช่องทางทำกิน” ได้อย่างน่าสนใจ.

บดินทร์ ศักดาเยี่ยงยงค์ : รายงาน