ยาเสพติด ยังเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศไทย โดยเฉพาะ “ยาบ้า” นั้นปราบเท่าไหร่ก็ไม่หมดไปจากสังคมไทยเสียที ซํ้าร้ายยังพบระบาดเข้าไปในหมู่วัยรุ่น ในชุมชนมากยิ่งขึ้น แม้จะเห็น ๆ กันอยู่ว่ามีแต่สร้างผลเสียต่อร่างกาย
คุณหมอขอบอกสัปดาห์นี้ “นพ.สรายุทธ์ บุญชัยพานิชวัฒนา” ผอ.สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี กรมการแพทย์ ได้ออกมายํ้าถึงผลกระทบของ “เมทแอมเฟตามีน” หรือ “แอมเฟตามีน” กับสุขภาพว่า เสียทั้งกายเสียทั้งจิต เพราะเป็นสารออกฤทธิ์ กระตุ้นระบบประสาทส่วนกลาง กระตุ้นระบบการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ
อาการหลัก ๆ สารเสพติดดังกล่าวจะมีในเรื่องการออกฤทธิ์ “กระตุ้นระบบประสาทส่วนกลาง” ทำให้ “ตื่นตลอดเวลา” หากกระตุ้นมากจะมีอาการไม่อยู่นิ่ง ไม่หลับไม่นอน บางรายกระตุ้นมากจะมีพฤติกรรมก้าวร้าว หรือพฤติกรรมบางอย่างที่ผิดปกติ
นอกจากนี้ ยังไป “กระตุ้นการทำงานของหัวใจ” ทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้น เต้นผิดจังหวะ บางรายทำให้เสียชีวิตได้ รวมถึงบางรายไป“กระตุ้นให้ความดันโลหิตสูง” ซึ่งจะนำมาซึ่งภาวะเส้นเลือดในสมองแตกได้ รวมถึงไป “กระตุ้นอุณหภูมิร่างกายให้สูงขึ้น” ดังนั้นกรณีบางคนที่ใช้ในปริมาณมากก็จะพบปัญหาไตวายเฉียบพลัน หรืออาการทางร่างกายอื่น ๆ ก็เช่นกัน
จากผลกระทบทางกาย ลามมาสู่ผลกระทบทางสุขภาพจิต “นพ.สรายุทธ์” ระบุว่า กรณีที่มีการใช้เป็นระยะเวลานาน สารเสพติดจะทำให้มี “อาการจิตเวช” ออกมา เช่น คลุ้มคลั่ง หูแว่ว ประสาทหลอน หวาดระแวง เสี่ยงต่อการทำร้ายตัวเอง และทำร้ายผู้อื่นได้
“การที่เมทแอมเฟตามีนส่งผลกระทบทำให้เกิดปัญหาทางจิตเวชนั้น ส่วนใหญ่เป็นการใช้มาเป็นระยะเวลานาน แต่ก็ขึ้นอยู่กับร่างกายแต่ละคนด้วย บางคนไม่เคยใช้เลย แต่ไปใช้ในปริมาณมาก แล้วสารเคมีในสมองอาจจะไวมาก แม้ใช้ปริมาณไม่มากก็อาจจะส่งผลกระทบได้แม้ใช้ครั้งแรก อาการทางด้านร่างกายก็เหมือนกันแม้ใช้ครั้งแรก แต่หากร่างกายตอบสนองไวมากก็อาจจะทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจหยุดเต้น”
ดังนั้นเรื่องพวกนี้อันตรายตั้งแต่ใช้ครั้งแรก จึงไม่ใช่สิ่งที่ต้องอยากรู้ อยากลอง บางคนสภาพร่างกายเหมือนกัน ใช้ในปริมาณเท่านั้น เป็นสารที่มีแหล่งผลิตเดียวกัน แต่ปฏิกิริยาที่แสดงออกของสองคนนี้แตกต่างกัน เพราะความไวของร่างกายเป็นเรื่องปัจเจก.
คอลัมน์ : คุณหมอขอบอก
เขียนโดย : อภิวรรณ เสาเวียง