เป็นข่าวครึกโครมไปทั่วโลกกับกรณีที่อัฟกานิสถานถูกกองกำลัง “ตาลีบัน” เข้าไปยึดครอง และกำลังจะจัดตั้งรัฐบาลเพื่อบริหารประเทศต่อจากนายอัชราฟ กานี ประธานาธิบดีอัฟกานิสถาน ที่ลี้ภัยไปอยู่ในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ มีการนำเสนอภาพที่ผู้คนในประเทศต่างแห่กันลี้ภัยไปยังประเทศโลกที่ 3 ผ่านสื่อต่าง ๆ มากมาย โดยภาพและคลิปข่าวที่มีคนเกาะล้อเครื่องบินจนหล่นลงมาเสียชีวิต สร้างความสะเทือนใจให้กับผู้คนทั่วโลกเป็นอย่างมาก สิ่งเหล่านี้กำลังสะท้อนให้เห็นบางอย่างที่ผู้คนในประเทศรับไม่ได้กับสิ่งที่ “ตาลีบัน” เคยทำเอาไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้กฎหมายของกลุ่มที่ทำให้เกิดชนชั้น เกิดการเอารัดเอาเปรียบประชาชนทั่วไป รวมไปถึงการข่มเหงสิทธิสตรี แม้ว่าตอนนี้ทาง “ตาลีบัน” จะประกาศว่าผู้หญิงชาวอัฟกันสามารถทำงานและศึกษาเล่าเรียนได้อย่างเสรี แต่ก็ต้องอยู่ภายในขอบเขตของกรอบกฏหมายอิสลาม
หลายคนอาจยังนึกภาพไม่ออกว่า การที่ ตาลีบัน เข้ามาปกครองอัฟกานิสถานด้วยรัฐบาลที่มาจากการ “ยึดอำนาจ!!” จะส่งผลต่อประชาชนชาวอัฟกันอย่างไรบ้าง คอลัมน์ “ดูอะไรดี” จึงขอรีวิวภาพยนตร์อนิเมชั่นเรื่อง “The Breadwinner” เพื่อสะท้อนมุมมองของความเหลื่อมล้ำทางสังคม ตอกย้ำว่า “สตรี” มีความสามารถและควรได้รับสิทธิเท่าเทียมกับทุกเพศในฐานะมนุษย์ด้วยกัน
The Breadwinner เป็นหนังเมื่อปี 2017 ได้รับเลือกให้เข้าฉายที่เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติโตรอนโต (2017) ถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ครั้งที่ 90 ในสาขาภาพยนตร์อนิเมชั่นยอดเยี่ยม ได้คะแนนในเว็บไซต์ Rotten Tomatoes สูงถึง 94% อำนวยการสร้างโดย Cartoon Saloon สตูดิโอสัญชาติไอร์แลนด์ เนื้อหาดัดแปลงมาจากนวนิยายขายดีของ “เดบาร่าห์ เอลลิส” นักเขียนและนักเคลื่อนไหวชาวแคนาดา ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากการสัมภาษณ์ผู้หญิง และเด็กสาวในค่ายผู้ลี้ภัยที่ประเทศปากีสถาน นอกจากนี้ยังได้ “แอนเจลินา โจลี” มานั่งแท่น Executive Producer
เรื่องราวของ The Breadwinner เกิดขึ้นที่ประเทศอัฟกานิสถาน ในช่วงที่ถูก ตาลีบัน ปกครอง เมื่ออดีตครูหนุ่มผันตัวไปเป็นทหารที่สู้รบจนขาขาด แต่ถูกจับตัวเข้าคุกฐานทำผิดกฎหมาย (กฎหมายของประเทศในเรื่องนี้ห้ามเด็กอายุ 10 ปีขึ้นไปเรียนหนังสือ ยิ่งเป็นเด็กผู้หญิงแล้วยิ่งไม่มีความจำเป็นแต่อย่างใด หากบ้านไหนมีหนังสือที่ไม่ได้เกี่ยวกับศาสนาเอาไว้ในครอบครอง ผู้นั้นจะมีความผิดต้องถูกจับตัวไปคุมขังทันที) ภรรยาพยายามจะขอไปเข้าเยี่ยม แต่กลับถูกผู้คุมกฎทำร้ายร่างกายจนบาดเจ็บ (กฎหมายห้ามไม่ให้สตรีเพศออกจากบ้านยกเว้นเสียแต่จะมีผู้ชายหรือสามีพาไปไหนด้วยกัน) “ปาวนา” เด็กสาวผู้มีอายุเพียง 10 ขวบ ทนเห็นพ่อแม่ลำบากไม่ไหว จึงปลอมตัวเป็นเด็กผู้ชายไปทำงาน และหาทางช่วยพ่อของเธอที่ถูกจับกุม เธอจะช่วยเหลือคนในครอบครัวได้หรือไม่ ติดตามได้ใน The Breadwinner ทาง Netflix
ความโดดเด่นของ The Breadwinner คือการดำเนินเรื่องที่ไม่สลับซับซ้อน ถ่ายทอดอารมณ์ของการ์ตูนเก่า ๆ ที่แฝงไว้ด้วยอารมณ์ของความหม่นหมองมากมาย เช่น ในมุมของผู้หญิงที่ต้องสวมใส่เสื้อผ้ามิดชิดจนผู้คนมองไม่เห็นรูปร่างหน้าตา ออกไปทำงานก็ไม่ได้ ออกไปซื้อของก็ไม่ได้ เรียนหนังสือก็ไม่ได้ เกิดการกดขี่และความไม่เป็นธรรมจากสังคมรอบข้าง ยิ่งครอบครัวไหนขาดเสาหลักผู้เป็นพ่อด้วยแล้ว ย่อมได้รับความลำบากและทุกข์ทรมานสาหัส กฎเกณฑ์ที่สร้างขึ้นเสมือนต้องการจะให้เพศหญิงเป็นเพียงเพศที่่ต้องทำตามเพศชายไปจนตายเท่านั้น จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมผู้ชมทั่วโลกที่ชมภาพยนตร์เรื่องนี้จบแล้ว ถึงออกตัวประณามการใช้แนวคิดและกฎเกณฑ์ข่มเหงสตรีเพศดังกล่าว
อีกสิ่งหนึ่งที่ทำออกมาได้ดีมาก ๆ ก็คือบทและคาแรกเตอร์ของตัวละครซึ่งจัดวางน้ำหนักได้อย่างสมดุลย์ ทั้งฝ่ายตัวละครหลักและตัวร้าย โดยตัวละครหลักอย่าง “ปาวนา” แสดงให้เห็นว่าผู้หญิงก็มีความสามารถในการทำงานทุกอย่างได้ดีเยี่ยมไม่แพ้เพศชาย บางครั้งก็มีความคิดที่เฉียบคมในการแก้ไขปัญหาได้ดีกว่าอีกด้วย ในส่วนของตัวร้ายก็ใช่ว่าจะเลวร้ายไปเสียทุกคน ในหมู่ของผู้คมกฎก็ยังมีผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการใช้กำลัง และความรุนแรงกดขี่ข่มเหงผู้ที่อ่อนแอกว่า
The Breadwinner ยังมีสิ่งที่น่าสนใจนอกเหนือจากเส้นเรื่องที่ชวนดราม่า เพราะในเรื่องจะมี “นิทาน” เปรียบเทียบกับชีวิตจริงไปในตัวด้วย โดยตัวละครหลัก “ปาวนา” จะเล่าเรื่องนิทานที่เธอแต่งขึ้นเปรียบเปรยกับเหตุการณ์ที่พบเจอในแต่ละช่วงแต่ละซีน ทำให้ผู้ชมไม่เบื่อหน่ายจากความดราม่าของเธอเพียงอย่างเดียว รวมทั้งยังมีการผจญภัยของตัวละครที่อยู่ในนิทานให้ได้ติดตามไปตลอดทั้งเรื่อง จนทำให้เกิดคำถามที่ว่า “…ถ้าคุณจะแต่งนิทานให้สอดคล้องกับชีวิตจริงของตัวเอง นิทานของคุณจะมีเรื่องราวเป็นอย่างไร?”
ภาณุพงศ์ ส่องสว่าง