เมื่อวันที่ 8 มี.ค. ที่ผ่านมา ถือได้ว่า เป็นวันสำคัญของผู้หญิงทั่วโลก นั่นคือ “วันสตรีสากล (ภาษาอังกฤษ: International Women’s Day หรือ IWD)” ที่ถือกำเนิดขึ้นเพื่อเรียกร้องสิทธิของผู้ใช้แรงงานหญิงที่ถูกกดขี่เอารัดเอาเปรียบ และการถูกเลือกปฏิบัติที่มีต่อชนชั้นแรงงาน ซึ่งในวันดังกล่าวนี้เอง องค์กรที่ทำงานด้านผู้หญิงในหลายประเทศทั่วโลก จึงจัดกิจกรรมรณรงค์เคลื่อนไหวเพื่อให้มีการเปลี่ยนแปลงหรือแก้ปัญหา

ในส่วนของประเทศไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิกขององค์การสหประชาชาตินั้น เราก็ได้แสดงเจตนารมณ์ที่จะมุ่งให้เห็นความสำคัญของสุภาพสตรีเช่นกัน แน่นอนว่า “Healthy Clean” จึงถือโอกาสพูดคุยกับ บริษัท โรช ไดแอกโนสติกส์ (ประเทศไทย) จำกัด และ ผศ.นพ. ณัฐวุฒิ กันตถาวร สูตินรีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญมะเร็งวิทยานรีเวช หัวหน้างานสูตินรีเวชกรรม โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ วิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์

โดย ผศ.นพ.ณัฐวุฒิ กันตถาวร ได้เผยข้อมูลว่า เชื้อไวรัส HPV (Human Papilloma Virus) เป็นสาเหตุสำคัญของการติดเชื้อเนื้อเยื่อบุผิว และก่อให้เกิดโรคบริเวณอวัยวะเพศและทวารหนักทั้งในผู้หญิงและผู้ชาย ด้วยการสัมผัสเชื้อโดยตรง หรือการมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งสำหรับสายพันธุ์ที่เป็นสาเหตุของมะเร็งปากมดลูก มีสายพันธุ์ 16 และสายพันธุ์ 18 ที่ทำให้เกิดได้กว่า 70%

“มีความเป็นไปได้สูงที่ในช่วงชีวิตของผู้หญิงคนหนึ่งจะมีการติดเชื้อสูงถึง 80% ซึ่งการมีเพศสัมพันธ์แม้เพียงครั้งเดียว ก็อาจจะติดเชื้อไวรัสนี้ได้ ถ่ายทอดผ่านทางเพศสัมพันธ์ และที่สำคัญ มากกว่า 99% ของคนไข้มะเร็งปากมดลูกมาจากการมีเพศสัมพันธ์ ไม่เกี่ยวกับเรื่องกรรมพันธุ์อย่างแน่นอน”

“จากข้อมูลมะเร็งปากมดลูกในประเทศไทยนั้น พบว่าจะมีผู้ป่วยด้วยโรคดังกล่าววันละ 159 คนต่อประชากร 100,000 คน สูงเป็นอันดับที่ 15 ของเอเชีย และถึงแม้มีแนวโน้มจะลดลงเรื่อยๆ แต่ก็ยังพบเคสใหม่ๆ มากขึ้นเรื่อยๆ และก็ยังเป็นโรคที่ยังต้องเฝ้าระวังของผู้หญิงอยู่ดี “

หากดูข้อมูลจาก บริษัท โรช ไดแอกโนสติกส์ เอเชียแปซิฟิก จำกัด ซึ่งจัดให้มีการสำรวจ Women’s Health in APAC Survey (วีเมนส์ เฮลธ์ อิน เอเชีย แปซิฟิก) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ ฟรีด้อมทูบี (Freedom to be) ที่ทำการศึกษาผู้หญิง 3,320 คน จาก 8 ประเทศ ในเอเชีย แปซิฟิก รวมทั้ง ประเทศไทย (หญิงไทย 320 คน) ในช่วงปลายปี 2565 เพื่อให้ความรู้ ตลอดจนข้อมูลที่ถูกต้องด้านเฮลธ์แคร์และสาธารณสุขในประเทศไทย ให้มีความเข้าใจและตระหนักถึงปัญหาความไม่เท่าเทียมและความเหลื่อมล้ำในระบบเฮลธ์แคร์ในเอเชียแปซิฟิก (Women’s Health Inequity in Asia Pacific)

ในประเทศไทยพบว่า

  • 61% ของผู้หญิงไทย มองว่าพวกเธอค่อนข้างมีความรู้ ความเข้าใจในโรคมะเร็งปากมดลูก
  • 39% ของผู้หญิงไทย มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคนี้น้อยมาก
  • 66% ของผู้หญิงไทย มั่นใจในการเข้าถึงการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกได้อย่างเหมาะสมและสะดวกมากขึ้น
  • 83% ของผู้หญิงไทย มองว่าพวกเธอมั่นใจว่าจะได้รับการรักษา หากป่วยเป็นโรคมะเร็งปากมดลูก
  • มากกว่าครึ่งของผู้หญิงไทยที่เข้าร่วมการสำรวจนี้มองว่าระบบเฮลธ์แคร์ในไทยมีผลกระทบ (impact) ต่อสุขภาพสตรี (women’s health) เป็นอย่างมาก สอดคล้องกับนโยบายเชิงรุกในการรณรงค์ให้สตรีเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธี HPV DNA (เอชพีวี ดีเอ็นเอ) ทั้งของภาครัฐและเอกชนในปัจจุบัน

“ส่วนใหญ่ที่พบว่าเป็นมะเร็งแล้ว คือคนที่ไม่ได้ตรวจเลย” และอันที่จริงโรคนี้ สามารถตรวจพบได้ตั้งแต่เริ่มมีเชื้อ เป็นขั้นเริ่มต้น ก็สามารถรักษาได้ก่อนจะลุกลามไปถึงการเป็นมะเร็งเสียด้วยซ้ำ หากตรวจเรื่อยๆ จะไม่ค่อยพบว่าเป็นมะเร็งปากมดลู​ก

แต่สิ่งที่เป็นอุปสรรคที่ทำให้ผู้หญิงรีรอที่จะไปตรวจวินิจฉัย หรือการตรวจคัดกรอง คือบางคนอาจจะอาย หรือขาดความรู้ หรือความไม่เข้าใจในความสำคัญของการตรวจ หรือบางครั้งพวกอาจจะมีอุปสรรคในการเข้าถึง เพราะขาดเรื่องทุนทรัพย์ หรือการจัดการทางด้านเฮลธ์แคร์ที่ไม่ดี สิ่งเหล่านี้ ล้วนนำไปสู่ผลกระทบด้านลบต่อสาธารณสุขในระยะยาว ปัญหาเรื่องนี้จะพบได้น้อยมากในประเทศที่เจริญแล้ว แต่ในประเทศที่กำลังพัฒนายังคงพบมากอยู่ ซึ่งระบบประกันสุขภาพของประเทศไทยเราก็ครอบคลุมได้ทั้งหมด “แต่เป็นสิ่งที่คนไทยส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยจะรับรู้ ว่าหากตรวจคัดกรองได้เร็ว ก็จะป้องกันความสูญเสียได้อีกมากขึ้น”

สำหรับการ “ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก” ก็คือภาพจำของคนว่าแต่ก่อนจะมีการใช้ปากเป็ดใส่เข้าไปตรงบริเวณช่องคลอด ทำให้รู้สึกกลัวว่าจะเจ็บ ทำให้ไม่ไปตรวจ ล่าสุด มีชุดเก็บตัวอย่างด้วยตัวเองได้ง่ายๆ นั่นคือ HPV DNA Self-Sampling Test ซึ่งเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการตรวจหาเชื้อ HPV ที่ให้ผู้หญิงสามารถเก็บสิ่งส่งตรวจได้ด้วยตัวเอง ลดปัญหาความกังวลที่จะเจ็บตอนจะเก็บสิ่งส่งตรวจ หรือจากการเขินอายแพทย์ สำหรับการตรวจคัดกรองด้วยวิธี HPV DNA สามารถใช้สิทธิตามหลักประกันสุขภาพ​ของแต่ละคน และติดต่อเจ้าหน้าที่เพื่อขอชุดตรวจแบบเก็บตัวอย่างด้วยตนเองได้ที่โรงพยาบาลของรัฐ ที่เปิดให้บริการการเก็บสิ่งส่งตรวจด้วยตัวเอง

ส่วนอาการบ่งบอกของการเป็น “มะเร็งปากมดลูก” คือ

  • ระยะเจอเชื้อ แทบจะไม่มีอาการอะไรเลย
  • ระยะก่อนมะเร็งก็ไม่มีอาการ
  • แต่เมื่อมีเลือดออกผิดปกติตามช่องคลอด เลือดออกหลังมีเพศสัมพันธ์ มีเลือดออกในช่วงที่ไม่ใช่ประจำเดือน และมีเลือดออกหลังหมดประจำเดือน เป็นอาการที่ควรเร่งมาพบแพทย์

ทั้งนี้ ในยุคปัจจุบันมีการฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก มีการฉีดตั้งแต่ชั้น ป.5 หรืออายุ 11 ขวบ ก็สามารถรับการฉีดได้ฟรี ครอบคลุมได้ตลอดชีวิต “แต่ถึงแม้จะฉีดไปแล้ว ก็ยังมีสายพันธุ์อื่นๆ นอกจาก สายพันธุ์ 16 และสายพันธุ์ 18 ก็ยังจำเป้นที่ต้องเข้ามาตรวจคัดกรองอยู่ดี” โดยคำแนะนำในการคัดกรอง คือผู้ที่มีเพศสัมพันธ์ ให้เริ่มตรวจที่อายุ 25 ปี แต่ถ้าไม่เคยมีเพศสัมพันธุ์เลยให้เริ่มตรวจที่อายุ 30 ปี ส่วนการตรวจถี่แค่ไหนก็ขึ้นกับวิธีการที่ใช้คือ Pap Smear จะทุกๆ 2 ปี ส่วน HPV DNA Test ควรตรวจทุกๆ 5 ปี

“การขจัดมะเร็งปากมดลูกนั้นเป็นพันธกิจระดับโลก ซึ่งสิ่งสำคัญที่จะทำให้อัตราการเจ็บป่วยด้วยโรคมะเร็งปากมดลูกลดลงได้นั้น ผู้หญิงต้องมีความรู้ความเข้าใจ มีการฉีดวัคซีน และตรวจคัดกรอง อย่ารอให้มีอาการ เพราะการตรวจสามารถทำได้เลย หากมีอาการแล้ว คือเกิดการเจ็บป่วยมะเร็งปากมดลูกแล้ว ฉะนั้น..การป้องกันนั้นง่ายกว่าการรักษา ยิ่งตรวจเร็ว ยิ่งรู้ผลไว ก็รักษาให้หายขาดได้แน่นอนครับ”