นอกจากตัวผู้สมัคร “แม่ทัพ” รอบนี้น่าจับตา เพราะได้ตัว “สกลธี ภัททิยกุล” อดีต ส.ส.กทม. และอดีตรองผู้ว่าฯ กทม. มาเป็นหัวหน้าทีมดูแลการเลือกตั้งเมืองหลวง

จากบทบาทและประสบการณ์คลุกคลีคนกรุง ในฐานะหัวหน้าทีมว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.กทม. “สกลธี” เตรียมแผนนำทัพเจาะพื้นที่อย่างไรบ้าง

กางยุทธศาสตร์ชิงพื้นที่

สกลธี เผยว่า ในภาพรวมเป็นการผสมผสานกันระหว่างตัวผู้สมัครกับกระแสของพรรค เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า 70% คือกระแส ดังนั้นการวางตัวจะผสมผสานกัน เขตใดที่คิดว่าต้องเป็นบุคคลที่เจนจัดในพื้นที่ เขตใดที่เป็นโซนชั้นในเข้ามาหน่อย ต้องการคนโปรไฟล์ดี มีการศึกษา ดูกระฉับกระเฉง เป็นวัยทำงาน ก็จะเป็นอีกแบบ นี่คือการจัดตัวผู้สมัคร

ส่วนยุทธศาสตร์การหาเสียง ก็จะผสมผสานกันทั้งตัวผู้สมัครเอง ก็ว่ากันไปได้เลยในแต่ละพื้นที่ ผู้สมัครแต่ละคนจะพยายามลงเจาะไปตามบ้าน ตามจุดต่าง ๆ ในชุมชนให้ละเอียด ซึ่งจะต่างจากการหาเสียงผู้ว่าฯ กทม. เพราะครั้งนี้เป็นภาพกว้างต้องละเอียดทุกเม็ด

ความหวัง เป้าหมาย จำนวนเก้าอี้

หากถามจริง ๆ ก็ต้องอยากได้ทุกคน ครบ 100% แต่หากมองในภาพความเป็นจริง จะแข่งกันหนักจากเรื่องตัวพรรคแล้ว มาดูตัวผู้สมัคร คือแต่ละพรรคจะได้ตัวที่ดีของ 4-5 เขตมาแข่งกัน เลยทำให้ยากขึ้นอีก ทั้งยังมีการตัดคะแนนกันค่อนข้างเยอะ

“หากถามแบบไม่กั๊ก หรือว่าถามแบบอยากได้จากความเป็นจริง ก็อยากได้ซักประมาณ 6-10 ที่นั่ง ดูจะสมเหตุสมผล ถ้าจะบอกว่าอยากได้ถึง 15-20 ที่นั่ง มันก็คงเป็นไปไม่ได้ มันดูเว่อร์เกินไป ก็หวังประมาณนี้ แต่ว่าอยากให้ทุกเขตได้อยู่แล้ว และส่งผู้สมัครลงครบทั้ง 33 เขต”

นโยบายดูดคะแนนคนเมือง

สกลธี ระบุ นโยบายส่วนใหญ่จะคิดขึ้นจากปัญหา หรือ Pain Point ของคน กทม. ที่ประสบปัญหา เช่น หลัก ๆ คือปัญหาจราจร ขนส่งสาธารณะ สิ่งแวดล้อม ที่จะชูเป็นนโยบาย แต่จะแตกรายละเอียดออกมา ซึ่งคาดว่าจะใกล้เคียงกับการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. มาก แต่ครั้งนี้เป็นภาพระดับประเทศ ทั้งนี้ จากที่เคยทำโพลหรือจากประสบการณ์ที่เป็นคน กทม. ก็มองเรื่องหลักที่เป็นปัญหาคือ จราจร เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม อยู่ที่ใครจะนำมาแตกแขนงเป็นรายละเอียดได้โดนใจมากกว่ากัน

รับมือผลลัพธ์สุดคาดเดา

หากถามว่าจะนำคะแนนเดิมที่เคยได้มาวัดคะแนนเสียงประชาชนในครั้งนี้จะวัดได้หรือไม่ ต้องบอกว่าคงวัดได้แค่ระดับหนึ่ง เพราะทุกอย่างเริ่มจาก กทม. ที่เป็นส่วนกลาง หากทำ กทม. ได้ดี ตามหัวเมืองต่าง ๆ ทั่วประเทศก็จะดีตามไปด้วย เพราะทุกอย่างจุดเริ่มต้นอยู่ที่เมืองหลวง เป็นหน้าที่ของทีม กทม. ที่จะเชื่อมโยงกับทีมนโยบายพรรคในการที่จะให้ไปด้วยกัน

จับตาเสียงคนรุ่นใหม่

ถือเป็นจุดที่ท้าทายเพราะ New Voters ไม่ว่าจะเป็นครั้งแรก หรือครั้งที่ 2 ที่เคยผ่านการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. มาแล้ว ถือว่ามีบทบาทสำคัญ เพราะเป็นสัดส่วนคาดว่าประมาณ 20% ใครได้ตรงนี้ก็ถือว่าอุ่นใจ ดังนั้น ด้วยวัยของตัวเองเป็นวัย “ไฮบริด” กึ่งเก่า-กึ่งใหม่ ก็จะพยายามผสมผสานโดยอาจจะมีลูกเล่นในการหาเสียงที่ “แหวก” มากขึ้น โดยได้บอกหัวหน้าพรรคไว้ว่า การหาเสียงของ กทม. จะไม่เหมือนภาคอื่น จะขออิสระในการทำเต็มที่เหมือนตอนที่หาเสียงผู้ว่าฯ กทม. ที่จะให้ดูวัยรุ่น ไม่ดูเป็นการเมืองจ๋า นำมารวมกับนโยบายอื่น ๆ ที่คิดว่าเด็กสมัยนี้ต้องการ

ทั้งนี้ หากให้ยกตัวอย่างนโยบายเด่น เช่น เรื่องจราจร พรรคจะเน้นแก้ปัญหาตรงนี้ เพราะตัดถนนเท่าไหร่ก็ไม่พอ ปริมาณรถก็มากขึ้นเรื่อย ๆ ทางแก้อย่างที่เคยหาเสียงไว้ตอนเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. คือต้องทำขนส่งสาธารณะให้ครอบคลุม ราคาเข้าถึงได้ และสะดวกมากยิ่งขึ้น โดยจะนำนโยบายที่เคยหาเสียงสมัยลงผู้ว่าฯ กทม. มาต่อยอด อาทิ

นโยบายล้อ ราง เรือ การเพิ่มรถ FEEDER ที่มาช่วยส่งต่อประชาชนเข้าสู่ระบบขนส่งสาธารณะ รวมทั้งเมืองที่มีมลพิษมากขึ้นเรื่อย ๆ ตอนนี้กระแสรถไฟฟ้าหรือรถ EV มาแรง ต้องเสริมให้คนได้ใช้ทั้งเรื่องฐานภาษี หรือการครอบครองให้ง่ายขึ้น เข้าถึงได้ รวมถึงสถานีชาร์จด้วย

“ในส่วน กทม. จะเน้นเรื่องจราจรและขนส่งเป็นหลัก ส่วนกลุ่มวัยรุ่นจะมีนโยบายอื่น ๆ อีกที่แยกเฉพาะออกไป เพราะความสนใจของแต่ละช่วงวัยก็ไม่เหมือนกัน”

ดึงคะแนน New Voters

พรรควางแนวนโยบายเกี่ยวกับแนวทางประกอบอาชีพในอนาคตของกลุ่มคนเหล่านี้ ที่เป็นกลุ่มวัยใกล้เรียนจบ อนาคตจะเริ่มทำงาน ฉะนั้นการวางนโยบายเรื่องการสร้างงาน สร้างอาชีพจึงสำคัญ ประกอบกับปัจจุบันคนทำงาน “ฟรีแลนซ์” มากขึ้น จึงเป็นนโยบายที่เอื้อให้คนที่เรียนจบใหม่เป็นผู้ประกอบการได้ง่าย มีสถานที่ที่กลุ่มคนเหล่านี้จะไปศึกษาหาความรู้ เริ่มต้นอาชีพ และเป็นผู้ประกอบการ เพราะบางคนอาจไม่ชอบทำงานบริษัท รวมถึงเรื่องของการลดหย่อนภาษีต่าง ๆ หรือการเก็บภาษีให้ดีขึ้น

ปัญหาของประชาชนทั้งจราจรติดขัด ยาเสพติด หนี้นอกระบบ ฝุ่นละออง PM 2.5 ปัญหารถสาธารณะ ขยะล้นเมือง ความยากจน และค่าครองชีพ เหล่านี้ต้องได้รับการแก้ไข ซึ่งตนเชื่อมั่นมาตลอดว่า กทม. ดีกว่านี้ได้ โดยสกลธีย้ำทีมพลังประชารัฐ พร้อมดูแลเมืองหลวงและบ้านของพวกเราทุกคน ก้าวข้ามผ่านความขัดแย้งด้วยพลังของความรักไปพร้อมกัน.