ผ่านวันนักข่าว 5 มี.ค. ไปแล้ว วันนั้นก็มีการจัดมอบรางวี่รางวัลด้านข่าว ด้านภาพให้กับสื่อมวลชน ซึ่งปีนี้ “สื่อหลัก” ขาประจำที่เคยส่งประกวดมาตลอด ส่งน้อยลงไป สื่อหน้าใหม่ๆ ที่ไม่ใช่สื่อสิ่งพิมพ์ เป็นสื่อเว็บไซต์ทำข่าวได้รางวัลมากขึ้น ซึ่งต่อไปสิ่งที่เรียกว่าภูมิทัศน์ หรือเรียกว่า “ความเป็นสื่อ” อาจเปลี่ยนไป ไปจนถึงขั้นที่ว่า เป็นสื่อใช้แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย อย่าง เฟซบุ๊ก ติ๊กต็อก โดยที่ไม่ใช่สื่อที่มีการจดแจ้งองค์กรอย่างเป็นทางการ ก็สามารถส่งข่าว ส่งภาพประกวดได้รับรางวัลกันบ้าง แต่ ณ วันนี้ยังสนับสนุนการที่สื่อต้องจดทะเบียนเป็นองค์กร มีบรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณาที่ชัดเจน เพื่อการรับผิดชอบในกรณีทำผิด
แต่เพจอินฟลูเอนเซอร์บางเพจ ก็คนติดตามเสียมากกว่าเพจข่าว ซึ่งถ้ามีปัญหาอะไรก็ลบหนีไปเนียนๆ ได้ หรือไม่ก็โพสต์ใหม่ ขอโทษ อะไรก็ว่าไป อาศัยชาว “แคปทัน” เอามาแฉให้เกิดความรับผิดชอบทางกฎหมาย หมิ่นประมาท, ผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ อะไรว่าไป ..ในโลกยุคข้อมูลข่าวสารมหาศาลขนาดนี้ และการนำเสนอของอินฟลูเอนเซอร์ (กระทั่งสื่อมวลชนที่มีสังกัด) มีการชี้นำอะไรบางอย่าง ต้องตรวจสอบข้อมูลอีกด้านมาคานด้วย เพราะข้อมูลบางอย่างที่ปล่อยออกไป ก็เพื่อหวังผลอะไรบางอย่าง ยิ่งในช่วงการเมืองแรงๆ โอกาสที่ข้อมูลถูกนำเสนอโดยหวังผลการเมืองสูง และอินฟลูเอนเซอร์ต่างๆ ก็มีเสรีภาพในการแสดงจุดยืนทางการเมืองของตนเอง ผู้อ่านก็ต้องเลือกรับสารรอบด้าน
เราจะหวังสื่อมวลชนเป็นกลางได้หรือไม่? พูดถึงเฉพาะสื่อมวลชน ก่อนอื่น คำว่า “เป็นกลาง” คืออะไร หมายถึงการเปิดพื้นที่ให้ทั้งสองฝ่ายที่เป็นคู่กรณีอย่างเท่าเทียมกันหรือไม่ หรือหมายถึงการนำเสนอเหตุการณ์ไปโดยไม่มี “น้ำเสียง” อะไรเลย ซึ่งมันเป็นไปได้ยาก …กระบวนการทำงานของสื่อมวลชนมันถูกกำหนดให้มีจุดยืนต่อเรื่องใดเรื่องหนึ่งอยู่แล้ว จุดยืนที่ว่า คือ “กรอบ (frame) ของสื่อ” กระบวนการของกรอบ ขึ้นอยู่ตั้งแต่ว่า “ผู้สื่อข่าวมีมุมมอง มีจุดยืนต่อเหตุการณ์หรือปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างไร” ก็เลือกที่จะตั้งคำถาม หรือหาหลักฐาน หาข่าวสนับสนุนสิ่งที่ตัวเองคิด
กรอบอันดับต่อมา คือ กรอบของกองบรรณาธิการ กรอบขององค์กร ซึ่งจะกำหนดทิศทางก่อนการนำเสนออีกชั้นหนึ่ง องค์กรสื่อนั้นๆ มีจุดยืนต่อบุคคล, กลุ่มต่างๆ, สถานการณ์และปรากฏการณ์ต่างๆ อย่างไร บรรณาธิการก็จะกำหนดวิธีการนำเสนอ ..เอาง่ายๆ ที่เรียกฝ่ายการเมืองสองฝ่ายเป็น “ฝ่าย คสช.-ฝ่ายประชาธิปไตย” นั่นก็เป็น คำที่แสดงอุดมการณ์รักชอบทางการเมืองและกำหนดทิศทางข่าวแล้ว ..เมื่อตัวองค์กรสื่อไม่ได้ชอบฝ่าย คสช. ข่าวอะไรที่เป็นข่าวดีๆ ของฝั่ง คสช. เขาก็ไม่ได้นำเสนอมากเท่าไรนัก (ไม่ใช่ถึงกับไม่เสนอเลย)
กรอบอันดับต่อมา คือ กรอบของสังคม หรืออาจเรียกว่า “กระแส” ก็ได้ ที่สื่อจะต้องจับตาดูทิศทางของสังคมในการกำหนดแนวทางการนำเสนอ ตัวอย่างเช่น อย่างสังคมต้องการการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลชุดใหม่ เพราะอ่วมเหลือเกินในช่วงโควิด กระแสเสียงจากสื่อโซเชียลฯ มีแต่ด่ารัฐบาล สื่อก็มีโอกาสที่จะกำหนดกรอบการนำเสนอโดยคล้อยตามกระแส เพราะเชื่อว่ามันเป็นเนื้อหาประเภทที่ขายได้ ..แต่ประเด็นที่สุ่มเสี่ยงมีความอ่อนไหว เพราะมีผลถึงระดับความขัดแย้งเชิงอุดมการณ์ สื่อก็อาจละเว้นเสนอออกมาไม่เยอะมากนัก เช่น กรณีม็อบประท้วงศาล
กรอบเป็นพื้นฐานเบื้องต้นของการกำหนดการเสนอข่าว จากนั้นก็เป็นกระบวนการคัดเลือกข่าว ตามแบบเรียนนิเทศ วารสารศาสตร์ทั่วไป คือ สื่อทำหน้าที่ gate keeper ผู้รักษาประตู เลือกประเด็นว่าจะเอาเรื่องไหนเสนอ และก็กำหนดวาระของข่าวสาร ผ่านวิธีการเน้นการนำเสนอเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ทั้งเรื่องการให้พื้นที่ ความถี่ ไปจนถึงขนาดทำเลข่าวบนหน้าหนึ่งก็ชี้ให้เห็นว่าสื่อต้องการเน้นประเด็นนั้นเพียงใด ..แต่สรุปว่า เอาแค่กรอบมันมีตั้งแต่ในชั้นความคิดของผู้สื่อข่าวแล้ว ทำให้มันน่าคิดว่า ความเป็นกลางไม่มีอยู่จริงในโลกนี้หรอก
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ควรจะเปลี่ยนไปในการทำข่าวไทยยุคใหม่นี้ เท่าที่ฟังๆ หลายๆ คนพูดคือ “เบื่อข่าวตีปิงปอง” ประเภทใครด่าใคร ใครเมาท์ใคร แล้วนักข่าวต้องวิ่งไปถามให้ด่ากันกลับ แต่ถ้าเอาองค์ประกอบเชิงอารมณ์ ก็ดูรายการที่เอาคู่ขัดแย้งสองฝ่ายมาฟาดกันกลางรายการก็ได้ อารมณ์ประมาณดู ..หรือ ข่าวประเภทไปแหย่นายกฯ ให้โมโหแล้วมู้ดดี้ว่าสื่อ..ซึ่งไม่รู้ว่าจะไปแหย่คนแก่ให้ได้อะไรขึ้นมา ..แทนที่จะได้อะไรเป็นเนื้อเป็นหนังจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหม แต่เห็นนักข่าวเดี๋ยวนี้ถามชอบตีโวหารกันเหลือเกิน
แล้วข่าวแบบไหนที่สังคมต้องการ ตอบว่า ถ้าจะเอาเรตติ้งก็ ข่าวแนวๆ ตีปิงปอง ข่าวชาวบ้าน ข่าวบันเทิงนี่แหละ เพราะมันแสดงความเห็นได้ง่าย ใช้อารมณ์ความรู้สึกก็ได้ไม่ต้องไปหาข้อเท็จจริงมาหักล้างอะไรบ้าง …แต่หลังๆ การบริโภคข่าว เชื่อว่า คนต้องการสาระมากขึ้น อย่างเช่น การตีแผ่ปรากฏการณ์อะไรต่างๆ ปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น ก็ต้องอธิบายเป็นขั้นตอนว่า ความไม่ชอบมาพากลอันดับแรกมันเกิดจากอะไร มีข้อขัดหลักกฎหมายอย่างไร ทำ ข่าวเชิงสืบสวนสอบสวน ว่า มันทุจริตกันได้อย่างไร ใครได้ผลประโยชน์ ใครอยู่เบื้องหลัง เชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างตัวละครในข่าวกันอย่างไร จนต่อจิ๊กซอว์สมบูรณ์เป็นข่าว 1 ชิ้น ที่ทำให้คนเห็นว่า “งานสื่อไม่ใช่แค่เอาไมค์ไปจ่อแหล่งข่าว แต่คือการเสาะหาหลักฐาน ดำเนินกระบวนการจนถึงบทสรุปที่คนผิดถูกลงโทษ”
กับข่าวอีกประเภทหนึ่งคือ “ข่าวที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์” คือ ไม่จำเป็นต้องเป็นเหตุการณ์ที่เป็นข่าว แต่เป็นปรากฏการณ์อะไรบางอย่าง ที่ได้จากการสังเกต มองว่ามันมีความสำคัญ หาที่มาที่ไปของมัน หาหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ รวบรวมเป็นฐานข้อมูลขนาดใหญ่ อย่างเช่น …ก่อนหน้านี้อยู่ๆ ก็พบว่า อากาศในกรุงเทพฯ หายใจลำบากขึ้น ก็สืบสาเหตุไปมา ว่าเกิดจากไอเสียจากการจราจรหรือเปล่า แต่ไปๆ มาๆ ก็พบว่า ฝุ่นควันไม่ได้ตลบมาจากกรุงเทพฯ เท่านั้น มีการตรวจ hot spot ผ่านดาวเทียม พบว่า มีการเผาเศษวัสดุทางการเกษตรจากทางภาคเหนือ จากเมียนมา
ข่าวลักษณะนี้คือ นักข่าวเห็นสิ่งรอบตัวแล้วตั้งประเด็น ก่อนจะหาสาเหตุ ไปจนพบว่ามันเป็นปัญหาใหญ่ กระทบทั้งสุขภาพและสิ่งแวดล้อม นำไปสู่การผลักดันนโยบายสาธารณะต่อไป อาทิ พรรคภูมิใจไทยในการเลือกตั้งปี 62 เคยมีนโยบายเรื่องทำงานที่ออฟฟิศ 4 วัน ทำงานที่บ้าน 1 วัน เพื่อลดการเผาไหม้เชื้อเพลิงบนท้องถนน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เคร่งครัดเรื่องการเผามากขึ้น (และอาจลามไปในเรื่องการตรวจสอบเรื่องการใช้งบโครงการได้ ว่ามีทุจริตหรือไม่ แบบแอ๊บเผากันเพื่อเบิกงบบริหารจัดการดับไฟแต่ละรอบ)
การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีสื่อสารมวลชน ทำให้เกิดปรากฏการณ์ที่สำคัญคือ การรายงานแบบเรียลไทม์ และการปฏิสัมพันธ์ตอบโต้กับแหล่งข่าวได้ …ซึ่งในช่วงรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งนี้ นักการเมืองเก่าๆ แก่ๆ ก็อาจต้องหัดปรับตัวให้ทันต่อสื่อใหม่ด้วย ไม่ใช่แค่การปรับลุคส์แต่งตัวกระชากวัย
เราจะเห็นได้ว่า นักการเมืองรุ่นใหม่ (โดยเฉพาะพรรคก้าวไกล) มีพื้นที่สื่อสารกับประชาชนทางโซเชี่ยลเน็ตเวิร์กมาก ไม่ต้องใช้วิธีลงรูปแล้วโพสต์อะไรยาวๆ ให้คนอ่าน แต่ใช้ติ๊กต็อก ใช้คลิปวีดิโอสั้นซึ่งคนสามารถรับชมได้รวดเร็ว และ บางทีกลายเป็น meme ส่งเสริมบุคลิกนักการเมืองคนนั้นให้ดู “น่ารัก เข้าถึงง่าย” มากขึ้น … บางคนอาจพูดว่า “คนแก่ๆ เขาไม่ค่อยเสพสื่อโซเชียลฯ กันหรอก..นั่นเป็นการประเมินที่ไม่น่าจะถูกเสียทีเดียว เพราะคนแก่วัยเกษียณไม่รู้จะทำอะไร หลายๆ คน ก็แก้เหงาโดยการเปิดยูทูบ เปิดติ๊กต็อกดูไปเรื่อย หาอะไรเบาสมองๆ ..ถ้าเปิดไปแล้วเจอหาเสียงหนักๆ ก็เลื่อนทิ้ง
สมาร์ตโฟนเข้าถึงคนไทยได้มากขนาดไหน คนทุกเพศทุกวัยก็มีโอกาสเข้าถึงโซเชียลเน็ตเวิร์กได้มากขึ้นเท่านั้น การหาเสียงโดยทำคลิปวิดีโอที่มีอารมณ์ขัน มีเสน่ห์ มันสร้างคะแนนได้เยอะ ดีกว่ามาประกาศปาวๆ ..ไม่เลือกเราเขามาแน่.. คือเสน่ห์และอารมณ์ขันมันช่วยให้จดจำตัวตนของบุคคลที่หาเสียงนั้นได้..ชัดเจนที่สุดคือครั้งเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ยังมีการเต้น “วิโรจน์ก้าวไก่” มีคลิปนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์, ศ.ดร.ชัชชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ลงพื้นที่ต่างๆ แบบลงพื้นที่ไปเล่าอะไรไปสบายๆ ง่ายๆ กระทั่ง พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ที่ดูจะคุ้นกับเทคโนโลยีการสื่อสารน้อยที่สุด ยังมีลูกชายคือ ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง ทำคลิปวิดีโอให้บุคลิกพ่อดูสบายๆ และมีอารมณ์ขัน
ในพรรคก้าวไกล บางทีตัวใหญ่ๆ ในพรรคก็บลัฟกันเองเรื่องทีมฟุตบอลที่ชอบ คือ ไม่จำเป็นจะต้องพูดถึงเรื่องการเมืองตลอดเวลา แต่เล่าโน่นเล่านี่ให้รู้สึกว่า มีความเป็นกันเอง ตอบคอมเมนต์เอง พูดคุยทักทายแซวแฟนคลับบ้าง บอลลิเวอร์พูลชนะแมนฯ ยูฯ 7-0 ก็เอามาหยอกๆ กันให้แฟนคลับพรรคเข้าไปผสมโรง มันลดช่องว่างระหว่างความเป็นงานเป็นการของการเมือง มาโชว์บุคลิกอีกด้านของผู้สมัคร ตลก เป็นกันเอง
ก็ยังเห็นหลายพรรคที่หาเสียงเน้นป้าย เปิดปราศรัย ลงพื้นที่อะไรอยู่ เข้าใจว่า ก็อยากได้ภาพคนมารับ มาฟังงานปราศรัย แต่แนวรบด้านโซเชียลฯ นี่ประมาทไม่ได้ มันสร้างคะแนนนิยมได้เยอะถ้าเลือกสิ่งที่นำเสนอเป็น ล่าสุดเห็นผู้สมัคร ส.ส.กรุงเทพฯ เลือดใหม่ของพรรคประชาธิปัตย์แล้ว ..พบว่า “เหมือนเปิดเพจมาหาเสียง” แต่มันแห้งแล้งและดูเข้าถึงยาก ..(แม้กระทั่ง ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง ว่าที่ผู้สมัครเขตคลองเตย วัฒนา ที่ใช้เพจสมัยเป็นโฆษกผู้ว่าฯ กทม. ก็ยังเน้นเรื่องงาน ลงพื้นที่ มากกว่าบุคลิก) ถ้าให้ดูเรื่องทำสื่อโปรโมตตัวเองของคนพรรคเดียวกัน ไปดูของ ศ.ดร.สุชัชชวีร์ ที่ไม่ได้มีแค่เรื่องงาน แต่เรื่องครอบครัว ชีวิตในวันว่างๆ ก็มี ให้แฟนคลับเข้าไปดู
แนวรบด้านโซเชียลฯ นี่แหละ คือตัวสร้างคะแนนนิยมที่สำคัญ เพราะมันสร้างเสน่ห์แบบกระจายออกระดับมวลชนทั่วประเทศ ไม่ใช่เห็นแค่เฉพาะพื้นที่ที่ไปลง
………………………………………………………
คอลัมน์ : ที่เห็นและเป็นอยู่
โดย “บุหงาตันหยง”