ทั้งนี้ นโยบายที่เปิดออกมาของแต่ละพรรคจะโดนใจแค่ไหนอย่างไร?? เรา ๆ ท่าน ๆ ยังพอมีเวลาพินิจพิจารณากันลึก ๆ อีกสักพัก หรือจนถึงช่วงโค้งสุดท้ายของการหาเสียง อย่างไรก็ตาม ว่าด้วย “การกำหนดนโยบายของพรรคการเมือง” นั้น วันนี้ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” มีข้อมูลเชิงวิชาการมาสะท้อนต่อ…ซึ่งเป็น “ข้อมูลเชิงวิชาการเกี่ยวกับการเมืองที่ยึดโยงหลักทางพุทธศาสนา” ที่น่าพินิจ…

มี “มุมวิเคราะห์” สะท้อนไว้ “น่าสนใจ”

ว่าด้วยกรณี “ปัจจัยของพรรคการเมือง”

“ในการกำหนดนโยบาย…เพื่อหาเสียง”

ทั้งนี้ สำหรับบทวิเคราะห์ดังกล่าวนี้ จัดทำขึ้นโดย ผศ.ดร.ภูริวัจน์ ปุณยวุฒิปรีดา นักวิชาการ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) วิทยาลัยสงฆ์พุทธปัญญาศรีทวารวดี ที่ได้มีการนำเสนอผลการศึกษาไว้ผ่านบทความชื่อ “การกำหนดนโยบายของพรรคการเมืองไทยตามรัฐธรรมนูญพุทธศักราช 2560” ซึ่งได้รับการตีพิมพ์ลงใน วารสาร มจร การพัฒนาสังคม ปีที่ 6 ฉบับที่ 3 กันยายน-ธันวาคม 2564 โดยบทความ-บทวิเคราะห์ดังกล่าวมีรายละเอียดโดยสังเขปดังนี้…

ก่อนอื่นเริ่มที่วัตถุประสงค์การศึกษาเรื่องนี้ ซึ่งทาง ผศ.ดร.ภูริวัจน์ ได้ระบุไว้ว่า… มีวัตถุประสงค์เพื่อ ศึกษาวิเคราะห์สภาพทั่วไปและปัญหาอุปสรรคเกี่ยวกับการกำหนดนโยบายของพรรคการเมืองไทย และเพื่อ ศึกษากลไกการกำหนดนโยบายของพรรคการเมืองไทย รวมถึงเพื่อ นำเสนอแนวทางการพัฒนากลไกในการกำหนดนโยบายของพรรคการเมืองไทย โดยการศึกษาหรือวิจัยดังกล่าวนี้ เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพผ่านทางการสัมภาษณ์และการสนทนาเชิงกลุ่ม

…นี่เป็นเป้าหมายสำคัญการศึกษาเรื่องนี้

พร้อมกันนี้ผู้ศึกษาวิจัยก็มีการระบุไว้ว่า… พรรคการเมืองมีความสำคัญต่อระบอบการปกครองเป็นอย่างมาก เพราะแม้แต่การปกครองระบอบที่ไม่เป็นประชาธิปไตยก็ยังจำเป็นต้องมีพรรคการเมืองด้วยเช่นกัน และ… พรรคการเมืองมีบทบาทสำคัญต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากพรรคการเมืองคือสถาบันหลักที่ทำหน้าที่เป็นตัวเชื่อมโยงภาครัฐกับภาคประชาชน โดยจะนำปัญหาหรือความต้องการของประชาชนไปแปลงเป็นนโยบายของพรรค และนำไปปฏิบัติเมื่อได้รับเลือกตั้งเข้าไปทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติหรือฝ่ายบริหาร?? …นี่ก็เป็นการระบุที่น่าสนใจ

กับ “หน้าที่สำคัญของพรรคการเมือง”

ที่ “ต้องกำหนดนโยบายเพื่อประชาชน”

ขณะที่ในแง่ “ความสำคัญของนโยบายพรรคการเมือง” นั้น…ทาง ผศ.ดร.ภูริวัจน์ ได้สะท้อนไว้ว่า… นโยบายของพรรคการเมืองมีบทบาทที่สำคัญอย่างยิ่งต่อการ “กำหนดทิศทางของประเทศ” ซึ่งประเด็นหนึ่งที่น่าพินิจก็คือ… หากนโยบายของพรรคการเมืองในภาพรวมเป็นไปในลักษณะ “นโยบายประชานิยมมากเกินไป” กรณีนี้ก็ “อาจจะส่งผลกระทบต่อระบบการเงินการคลัง…จนส่งผลให้ประชาชนต้องแบกภาระหนี้สาธารณะมากขึ้นเกินความจำเป็น” หรือ… “อาจจะเป็นต้นเหตุให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชันในภาครัฐ” ได้ ดังนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการค้นหามาตรการสำคัญ เพื่อ…

มิให้เกิดนโยบายลักษณะนี้มากเกินไป…

“กันความเสียหาย” จากนโยบายเหล่านี้

จากสภาพปัญหาและจากความกังวลดังที่ระบุมาข้างต้น… นี่จึงเป็นที่มาของการศึกษาวิจัยจากสภาพปัญหา ด้วยการสร้างกลไกวิเคราะห์นโยบายของพรรคการเมืองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2560 เพื่อหารูปแบบและ วิเคราะห์ถึงข้อมูลความเสี่ยง ความคุ้มค่า ผลกระทบ และความเป็นไปได้ในการปฏิบัติจริงจากนโยบายที่ใช้หาเสียง เพื่อจูงใจผู้มีสิทธิในการเลือกตั้งให้เลือกตนและพรรคการเมืองของตน ตลอดจนศึกษาถึงแนวคิดที่ส่งผลต่อการกำหนดนโยบายต่าง ๆ โดยนำข้อมูลเหล่านี้มาวิเคราะห์เพื่อ “พัฒนากลไกในการกำหนดนโยบายของพรรคการเมือง”

ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการพัฒนาประเทศ

รวมถึงไม่ก่อให้เกิดปัญหากระทบประชาชน

ทั้งนี้ ทาง ผศ.ดร.ภูริวัจน์ ระบุถึงผลศึกษาวิจัยไว้ในบทวิเคราะห์-บทความ ซึ่งตีพิมพ์ใน วารสาร มจร การพัฒนาสังคม ที่จัดทำโดย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ด้วยว่า… ก็ได้พบประเด็นสำคัญใน 3 หัวข้อ คือ… 1.สภาพทั่วไปและปัญหาอุปสรรคเกี่ยวกับการกำหนดนโยบายของพรรคการเมืองไทย 2.ปัจจัยและกลไกที่มีต่อการกำหนดนโยบายของพรรคการเมืองไทย 3.แนวทาง การพัฒนากลไกการกำหนดนโยบายของพรรคการเมืองไทย ซึ่งหัวข้อนี้ ควรอิงหลักธรรม ควรทำผ่านแนวทางการนำ “หลักอิทธิบาท 4” มาใช้ “ป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหาย” จาก “นโยบายของพรรคการเมือง”…

ประเด็นในแต่ละหัวข้อนั้นเป็นเช่นไร?

กับหลักอิทธิบาท 4 ทำไมจึงควรใช้?

เช่นไร?-ทำไม?…ดูกันต่อตอนหน้า…