“สุภิญญา กลางณรงค์” ผู้ร่วมก่อตั้งโคแฟค (ประเทศไทย) พื้นที่ตรวจสอบข่าวลวงในโลกออนไลน์ สะท้อนภาพสถานการณ์และบทบาทข่าวสารช่วงเลือกตั้ง เพื่อให้ทุกคนตั้งรับอย่างมีสติ ไม่ตกเป็นเครื่องมือข่าวสารที่ไม่เป็นจริง
เช็กทิศทางลมข่าวลวง
สุภิญญา มองว่า ปัจจุบันไม่ได้หายไปไหน เพียงเปลี่ยนรูปแบบเป็นคอนเทนต์ที่เชื่อมโยงกับสถานการณ์ ยกตัวอย่าง ช่วงโควิด-19 ก็จะเห็นข่าวลือ ข่าวลวงเรื่องของวัคซีนและสุขภาพมาแรง ส่วนขณะนี้กำลังเข้าสู่โหมดเลือกตั้ง การเมืองก็อาจมาแรง บางเรื่องบางอย่างคนอาจจะรู้แล้วว่าไม่จริง ก็อาจชะลอการแชร์ พอมีประเด็นอะไรใหม่ ๆ คนก็อาจพร้อมแชร์ในเรื่องที่ไม่จริง แม้จะมีการแก้ไขข่าวแล้วว่าไม่จริง เพราะหากตรงกับความเชื่อของคน คนก็พร้อมแชร์ โดยเฉพาะเรื่องการเมือง
“จากที่เก็บข้อมูลจึงเป็นเรื่องท้าทายมากว่า ข้อเท็จจริงบางอย่างถูกตรวจสอบ แก้ไขแล้วแต่ยังวนซ้ำด้วยเหตุที่ว่า ยังมีคนรู้ว่ามันไม่จริง ซึ่งคน ๆ นั้นอาจจะเพิ่งเห็นข่าวนั้นเป็นข่าวแรกในชีวิตก็ได้ ความยากในการต้องตรวจสอบให้ทันเวลา แก้ไขข้อมูลให้ถูกต้อง แต่ที่ยากกว่านั้นคือเรื่องที่มีการตรวจสอบแล้ว แก้ไขแล้ว แต่มันยังไม่ถึงคนจำนวนมากที่ยากขึ้นอีก คือต่อให้รู้ว่าไม่จริงแต่ก็ยังแชร์เพราะตรงกับจุดยืนทางการเมือง”
ทั้งนี้ ยอมรับว่าสิ่งที่เป็นประเด็นดังกล่าวยากเกินกว่าโคแฟคจะหาทางแก้ได้ เพราะแนวคิดโคแฟคคือการให้ทุกคนตื่นตัว เป็นผู้รับสารที่ “แอคทีฟ” และเป็นผู้ตรวจสอบข่าวด้วยตัวเอง แต่ถ้าคนเหล่านั้นมีอคติ มายาคติ ฉันทาคติ หรือว่ามีธงแล้ว การให้แค่ข้อเท็จจริงอย่างเดียวไม่ได้ผลเปลี่ยนแปลงความคิด หรือการรับรู้ ถือเป็นโจทย์ที่ยากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับการเมือง สังคม วัฒนธรรม หรือสุขภาพ
จุดยืนตรวจสอบช่วงเลือกตั้ง
ส่วนตัวมองว่า เลือกตั้งครั้งนี้น่าจะ “อลหม่าน” อีกครั้งหนึ่งของประเทศไทย เพราะนอกจากสภาพทางการเมืองที่จะไม่มีเบ็ดเสร็จเด็ดขาดแล้ว ยังมีพรรคการเมืองเยอะมาก ขั้วการเมืองกระจัดกระจาย ฉะนั้นความสับสนมีแน่นอน สิ่งที่โคแฟคอยากทำและร่วมกันคือควรมีการรวมกลุ่มหรือภาคีที่จะนำเสนอข้อเท็จจริง เพื่อช่วยให้คนไม่สับสน เริ่มตั้งแต่ข้อมูลเลือกตั้งขั้นพื้นฐาน
“อยากจะรวม ๆ ให้หน่วยงานรัฐพูดให้ชัดเจน หรือถ้าประชาชนสับสนมีข่าวลือเหมือนการเลือกตั้งที่ผ่าน ๆ มา เช่น มีข่าวลือให้นำปากกาไปเอง เพราะที่มีให้ ณ คูหาอาจใช้ไม่ได้ จากประสบการณ์เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ก็จะมีข่าวประมาณนี้ ซึ่งหน่วยงานรัฐหรือ กกต. ต้องรับมือว่าอาจจะมีข่าวลืออะไรบ้าง ที่ทำให้คนสับสนในการกาบัตร หรือเตรียมตัว”
สุภิญญา เผยว่า เบื้องต้นโคแฟคเตรียมพร้อมเพื่อลองมอนิเตอร์ข้อมูลเหล่านี้ว่ามีอะไรบ้าง โดยมีเครือข่ายชุมชนทั่วประเทศสนับสนุนเพราะใกล้เลือกตั้งแล้ว จะมีการจับสังเกตจากเริ่มส่งไลน์อะไรกัน ส่งข้อมูลอะไรกัน จากนั้นให้ส่งมา Database ของ cofact.org เพื่อนำไปตรวจสอบข่าวที่เป็นไวรัล ข่าวที่ลืออยู่นั้นจริงหรือไม่
นอกจากนี้ ระบุถึงความต้องการร่วมมือกับสื่อมวลชน กรณที่ต้องตรวจสอบเชิงลึก จำเป็นต้องถามจากแหล่งข่าว รวมถึงอยากเรียกร้องการร่วมกันกับภาคีองค์กรต่าง ๆ ให้มีการนับคะแนนหรือเปิดเผยคะแนนเรียลไทม์ที่ทุกคนตรวจสอบได้ เพราะว่าคะแนนดิบคือข้อเท็จจริงเบื้องต้น ที่จะนำไปสู่การเลือกตั้งที่ยุติธรรม จุดนี้โคแฟคทำคนเดียวไม่ได้
อย่างไรก็ตาม ในกลุ่มพรรคการเมืองโคแฟค ยังไม่ได้ทำงานร่วมกันมากนัก เพราะต้องรักษาความเป็นกลาง เป็นอิสระแต่ก็อยากให้ทุกพรรคนำเสนอข้อมูลข่าวสารอย่างตรงไปตรงมา ไม่ใช้ IO (ไอโอ) ซึ่งคงยากในยุคนี้ ดังนั้น จึงต้องหวังที่ผู้บริโภคให้รู้เท่าทันว่าไอโอคืออะไร
ประเมินรูปแบบข่าวหลอก ข่าวลวง
สุภิญญา มองอันดับแรกนอกจากการส่งไลน์ที่เป็นเรื่องเก่าแล้ว จะมีคอมเมนต์ในเฟซบุ๊ก ในเพจข่าวที่ไปปล่อยข่าว “ดิสเครดิต” กัน ดังนั้น เพจหรืออินฟลูเอนเซอร์ต่าง ๆ ต้องจับตาดู เพราะบางเรื่องไม่ใช่ความจริงทั้งหมด พร้อมคาดการณ์จะมีการใช้โซเชียลมีเดียมากขึ้นกว่าการเลือกตั้งเมื่อปี 2562
สุดท้ายสิ่งที่ห่วงมากสุดคือขาวลวงที่มากับทฤษฎีสมคบคิดทั้งหลายที่นำไปสู่ความเกลียดชังกัน ก็อาจนำไปสู่ความขัดแย้ง เพราะประเทศไทยมีเรื่องขัดแย้งกันมายาวนานและขัดแย้งกันอย่างลึกซึ้ง ทำให้คร้งั นี้ไม่อาจคาดเดาว่าข่าวลือจะมาแบบใด เพราะมีหลายขั้วหลายเฉด
“การเลือกตั้งในครั้งนี้ ทุกคนจึงต้องตั้งสติรับข้อมูลข่าวสาร และการเสพความคิดเห็นซึ่งน่าจะร้อนแรง อีกอย่างก็ห่วงสุขภาพประชาชนที่ติดตามด้วย เพราะเราก็ไม่อยากให้คนเบื่อการเมืองแล้วไม่อยากออกไปเลือกตั้งเพราะถ้าคนรู้สึกว่าเลือกไปก็เท่านั้นก็อาจจะส่งผลต่อภาพรวม”
เทคนิคติดตาม-จัดการข่าวแชร์
เบื้องต้นใช้คาถา “ชัวร์ก่อนแชร์” เป็นเบอร์ 1 ดีอยู่แล้ว แต่มากกว่านั้นในยุคนี้ไม่พอ “ต้องเช็ก” “ต้องแก้ไข”ด้วย หากเห็นข้อมูลใดแล้วไม่แชร์อันนั้น เป็นเรื่องที่ดีแล้วถ้าไม่ชัวร์ แต่ถ้าให้ดีคือ ช่วยกันหยุดยั้ง แก้ไขข่าวลวงนั้นด้วย เพราะปัจจุบันข่าวลือข่าวลวงที่แพร่สะพัดไปเพราะคนเกรงใจกันไม่กล้าโต้แย้ง แต่หากจะโต้แย้งกันก็ควรจะต้องมีศิลปะ มีการตรวจสอบข้อมูลที่ถูกต้องไม่ใช่ทะเลาะกันเรื่อยเปื่อย
อีกเทคนิคคืออยากให้ทุกคนลองตรวจสอบตัวเอง โดยเฉพาะเรื่องการเมืองว่า มีจุดยืนทางการเมืองไปทางไหน หากตัวเองมีจุดยืนทางการเมืองชอบพรรคไหน แนะนำให้เปิดใจรับฟังข้อมูลจากพรรคที่ไม่ชอบด้วย แล้วมาหารกัน ยังไงก็ไม่มีใครเปลี่ยนใจจากพรรคที่ตัวเองชอบได้ แต่ก็ควรอยู่บนโลกแห่งความเป็นจริง
“เปิดใจฟังฝั่งตรงข้ามนำข้อมูลมาบาลานซ์ เป็นอีกเทคนิคบาลานซ์ข่าวได้ดีที่สุด ถ้าเราติดตามแต่ช่องทางสื่อ ช่องทางพรรคหรือช่องทางคนที่เราชอบอย่างเดียว เราก็จะอยู่ในฟองสบู่ของเราเอง หรือว่าอยู่ในสิ่งที่เรียกว่าห้องแคบ ๆ มีอคติกับคนอื่น ๆ”
สุภิญญา ย้ำความสำคัญของการเปิดใจฟังแหล่งข้อมูลฝ่ายตรงกันข้ามกับพรรค หรือคนที่เราชอบ เพื่อให้ใจกว้างขึ้นจะได้เกิดความสมดุลในข้อมูลข่าวสาร.