เพราะอย่างไรเสีย “ชื่อชั้น” ทาง “การเมือง” ของ “อภิสิทธิ์” ในสนามการหาเสียง ยังอยู่ในชั้น “บรมครู” ที่ยังมีแม่ยก และ “เอฟซี” ให้การสนับสนุนไม่น้อย โดยเฉพาะกับสนามเลือกตั้งใน “เมืองหลวง”

และยิ่ง “นิพนธ์ บุญญามณี” รองหัวหน้าพรรค และผู้อำนวยการเลือกตั้ง ออกมาตอกย้ำถึงความเป็นไปได้ ที่จะมีอดีต ส.ส. รุ่นใหญ่ อย่าง “ชวน หลีกภัย” และ “บัญญัติ​ บรรทัดฐาน” ซึ่งเป็นนักการเมืองรุ่น “แตกลายงา” พร้อมใจกัน “ขับเคลื่อน” เพื่อให้ “ประชาธิปัตย์” เดินหน้าไปสู่เป้าหมายที่ต้องการ ยิ่งทำให้เป็นที่ “จับตา” ของพรรคการเมืองทุกพรรคต่อการ “ขยับตัว” ของประชาธิปัตย์

และที่ถือว่าเป็นการเดินหมากทางการเมืองที่ยอดเยี่ยมของ “ชวน หลีกภัย” ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในยามที่มีผู้สบประมาทว่า ในการเลือกตั้งครั้งนี้ “ประชาธิปัตย์” จะเป็นพรรคการเมืองที่จะได้ ส.ส. น้อยกว่าปี 2562 เพราะลูกพรรคของ “ประชาธิปัตย์” ที่เป็น ส.ส. และที่เป็นสมาชิกพรรคที่เคยมีบทบาทในพรรคอย่าง “ดร.ไตรรงค์ สุวรรณคีรี” ก็ยัง “ลาออก” ไปอยู่กับพรรครวมไทยสร้างชาติ ซึ่งเป็นพรรคของ “ลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา “นายกรัฐมนตรี” ที่ตั้งตัวเป็นปรปักษ์ทางการเมืองกับ “ประชาธิปัตย์” ในการเลือกตั้งครั้งนี้ เพราะ ส.ส. และอดีต ส.ส. ส่วนใหญ่ในภาคใต้ของ “ประชาธิปัตย์” ล้วนถูกพลังดูดไปอยู่กับ “ลุงตู่” ทั้งสิ้น

แต่หลังจากที่ “ชวน หลีกภัย” ประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ผ่าน “สื่อ” ว่า ในการเลือกตั้งครั้งนี้ จะลงสมัครเป็น ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ หรือ “ปาร์ตี้ลิสต์” รวมทั้ง “บัญญัติ บรรทัดฐาน” และ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” เพื่อร่วมกันสู้ศึกเลือกตั้ง “พรรคประชาธิปัตย์” ก็มีความกาววาวขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ความ “หม่นหมอง” ของประชาธิปัตย์ ที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ เกิดจากความ “ปริร้าว” ภายในพรรคที่เกิดจากการ “ลาออก” จากการเป็นหัวหน้าพรรคของ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” และเกิดจากการแข่งขันเป็นหัวหน้าพรรคของ “ประชาธิปัตย์” ที่เห็นได้ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็น “กรณ์ จาติกวณิช” ที่ออกไปตั้ง “พรรคกล้า” ก่อนจะมาร่วมงานกับ “สุวัจน์ ลิปตพัลลภ” ในนามของ “พรรคชาติพัฒนากล้า” และ “พีระพันธ์ุ สาลีรัฐวิภาค” ที่ลาออกมาสร้าง “พรรครวมไทยสร้างชาติ” และ “อัญเชิญ” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา “ลุงตู่” เป็น “นายกรัฐมนตรี”

แต่….พรรคประชาธิปัตย์ ก็มี “จุดแข็ง” อย่างหนึ่งคือมี “กติกา” ที่ “ชัดเจน” และ “ลูกพรรค” ต้องยอมรับในกติกาของพรรค ไม่พอใจก็ “ลาออก” และ “ต่อสู้” กันทางการเมืองตามวิถีทางของแต่ละคน ที่สำคัญอาจจะขัดแย้งไม่ยอมรับ แต่เมื่อถึงคราคับขัน คนของพรรคประชาธิปัตย์ ก็จะหยุด “ขัดแย้ง” และกลับมาร่วมมือกันเพื่อ “กอบกู้” และร่วมกัน “ทำศึก” เพื่อต่อสู้กับ “คู่แข่ง” หรือ “ศัตรู” ทางการเมืองอย่าง “เข้มแข็ง”

เช่นเดียวกับหมากเกมของ “ชวน หลีกภัย” ที่ประกาศชัดว่า จะลงสมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ หรือ “ปาร์ตี้ลิสต์” ด้วยการบอกกับประชาชนว่า ถ้ายังต้องการให้ “ชวน หลีกภัย” เป็น ส.ส. ก็ต้องช่วยกันเลือกประชาธิปัตย์ ด้วยการกาบัตรเลือกตั้งทั้ง 2 ใบ เพราะถ้า “กาบัตร” เฉพาะผู้สมัครในเขตเลือกตั้ง “ชวน หลีกภัย” จะไม่ได้เป็น ส.ส. แม้ว่า “หมากกล” นี้ จะเป็นลูกไม้ที่ตื้น ๆ แต่ได้ผลในเรื่องของ “จิตวิทยา” ในการช่วยให้ “ประชาธิปัตย์” ได้ “คะแนนเสียง” ในระบบบัญชีรายชื่อเพิ่มขึ้น

แฟน “ประชาธิปัตย์” ที่ในการเลือกตั้งครั้งนี้ จะเผื่อใจเลือก “ประชาธิปัตย์” เฉพาะผู้เป็น ส.ส.เขต และ “ปันใจ” แบ่งคะแนนเสียงไปให้พรรคการเมืองอื่น ในการเลือก ส.ส.บัญชีรายชื่อ เมื่อเกิดห่วง “นายชวน” ห่วง “บัญญัติ” ห่วง “อภิสิทธิ์” จะไม่ได้เป็น ส.ส. ก็จะต้องเข้าคูหา และ “กาบัตรเลือกตั้ง” ให้กับ “ประชาธิปัตย์” ทั้ง 2 ใบ

“ลูกไม้” การเมืองของ “ประชาธิปัตย์” ในครั้งนี้ ยังได้ผล โดยเฉพาะใน “สนามเลือกตั้งของภาคใต้” ที่แม้ว่าวันนี้ “ประชาธิปัตย์” ที่เคยส่ง “เสาโทรเลข” ลงเลือกตั้ง ก็ได้รับการขานรับจากคนภาคใต้ แต่วันนี้ จะไม่ได้รับการ “ขานรับ” แล้วก็ตาม ซึ่งในการเลือกตั้งครั้งนี้ จะเห็นว่า “เสาโทรเลข” เหล่านี้ไม่มีอีกแล้ว ใน “สนามเลือกตั้ง” ผู้สมัครหน้าใหม่ของ “ประชาธิปัตย์” คือ “คนยุคใหม” ที่เป็นคนหนุ่มคนสาว ที่จำนวนหนึ่ง ไม่เคยผ่าน “การเลือกตั้ง” ไม่ว่าจะเป็น “ท้องถิ่น” หรือ “ระดับชาติ” มาก่อน นั่นคือการ “ปรับลุค” และ “ปรับตัว” ทางการเมือง เพื่อรับการเลือกตั้งของ “ประชาธิปัตย์” ที่สำคัญยิ่งในครั้งนี้

ซึ่งที่ต้อง “จับตามอง” หลังจากที่ “ปิดสภาหมดสมัยการประชุม” เมื่อ “ชวน หลีกภัย” ผนึกกำลังกับ “รุ่นใหญ่” ของพรรคประชาธิปัตย์ ขึ้นเวทีในการปราศรัยกับ “ประชาชน” ก็จะได้เห็น “ลีลา” และ “ลูกไม้-แม่ไม้” ทางการเมืองของนักการเมือง “แตกลายงา” อย่าง “ชวน หลีกภัย” ที่หลาย ๆ คน “ประมาท” ว่าเป็น “มีดโกนทื่อ” เชื่อว่าครั้งนี้ “มีดโกน” ของ “ชวน หลีกภัย” จะ “ไม่ทื่อ” อย่างที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ เพราะอาจจะเป็นการขึ้นเวที “ลุยไถ” เป็นครั้งสุดท้ายของการเป็น “นักการเมืองอาชีพ” ในการขึ้นเวทีเพื่อสัประยุทธ์กับคู่ต่อสู้เพื่อนำพา พรรคประชาธิปัตย์ ไปสู่ชัยชนะ

ในสนามเลือกตั้งของภาคใต้ให้ได้ และน่าจะ “สอดคล้อง” กับคำพูดของ “นิพนธ์ บุญญามณี” ที่ย้ำอีกครั้งว่า ในการเลือกตั้งครั้งนี้ “ประชาธิปัตย์” ดีขึ้น ๆ โดยตลอด ไม่เหมือนกับ “ประชาธิปัตย์” ในการเลือกตั้งในปี 2562 เป้าหมายของเราที่ตั้งไว้ที่ 30-35 เสียง วันนี้เปลี่ยนแล้วจากการลงพื้นที่ จากการตรวจสอบกระแสตอบรับของ “ประชาชน” เรามั่นใจว่าในสนามการเลือกตั้งในภาคใต้ เรายจะได้ ส.ส.เขต 40-45 คน นี่คือ ความมั่นใจของ “ขุนพล” ที่รับผิดชอบการเลือกตั้งของประชาธิปัตย์ในครั้งนี้.

ไชยยงค์ มณีรุ่งสกุล