“ประชาธิปไตยยืนหนึ่ง” มีโอกาสสอบถามสถานการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้นไปยัง พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร เลขาธิการสถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม หนึ่งในผู้ออกมาสะท้อนมุมมองกระบวนการยุติธรรมยุคนี้อย่างต่อเนื่อง

เปิดโปงปมร้อน พัวพันสีกากี

พ.ต.อ.วิรุตม์ เผยว่า เรื่องราวลักษณะนี้มีมานาน 30-40 ปี แค่ระยะหลังค่อนข้างรุนแรง อย่างไรก็ตาม ในวงการตำรวจไม่ได้มีความประหลาดใจอะไร เพราะทำมานาน แต่ในอดีตไม่ได้มีสื่อโซเชียลที่ทำให้เรื่องถูกเปิดเผยออกมา ขณะที่ปัจจุบันเมื่อประชาชนเห็นความไม่ชอบมาพากล ก็นำเสนอรายงานโดยไม่ต้องผ่านสื่อหลัก

ที่น่าเศร้าใจคือ เมื่อเกิดเหตุการณ์แล้วเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายกลับมีพฤติกรรมพยายามบิดเบือนทำลายพยานหลักฐาน ยกตัวอย่าง กรณีดาราสาวไต้หวันที่ไปกล่าวหาว่าเมา หรือนำภาพการเดินสูบบุหรี่ไฟฟ้ามาเปิดเผยสู่สาธารณะ และเรื่องราวแบบนี้ โดยเฉพาะนายตำรวจระดับผู้บังคับบัญชา ล้วนแต่อยู่เบื้องหลังการกระทำความผิด เช่น รับส่วย โดยไม่มีใครกล้าลุกขึ้นมาพูดถึงปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นภายในวงการตำรวจ

ดังนั้น การผูกขาดข้อมูลข่าวสารผ่านสื่อหลักได้ถูก “ดิสรัปต์” (disrupt) ไปแล้ว ทำให้สังคมได้เห็นถึงพฤติกรรมมากมายที่เจ้าหน้าที่ตำรวจไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับธุรกิจสีเทา เว็บพนัน และการทุจริต

เซตระบบจากบนลงล่าง

สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่ปัญหาเจ้าหน้าที่ชั้นผู้น้อยนำไปเสนอต่อเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่ แต่กลับเป็นเจ้าหน้าที่ระดับผู้ใหญ่ ที่เป็นผู้เซตระบบดังกล่าวให้เกิดขึ้น โดยมีการแต่งตั้งบรรจุให้บุคคลใดไปนั่งอยู่ในตำแหน่งใด เพื่อรับหน้าที่ใด แต่ในช่วงหลังก็พบมีตำรวจระดับ “นายพล” ที่บริหารจัดการเรื่องเหล่านี้เองด้วย

พร้อมตั้งข้อสังเกต “เงินเทา” เข้าสู่พรรคการเมืองผ่านเจ้าหน้าที่ตำรวจระดับผู้ใหญ่ เพราะหากตำรวจไม่เสนอตัวรับใช้ หรือหาเงินให้ พรรคการเมือง จะไม่มีบทบาทกับตำรวจ แต่การประพฤติทุจริตโดยมิชอบหาเงินให้ฝ่ายการเมืองของเจ้าหน้าที่ตำรวจบางนายวัตถุประสงค์ก็เพื่อปกป้องตนเอง

อย่างไรก็ตาม สำหรับฝ่ายการเมือง คนที่มีบทบาทในการแต่งตั้งโยกย้ายคือประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) แต่ตามบทบาทของระเบียบการบริหารราชการแผ่นดิน นายกรัฐมนตรีย่อมมีหน้าที่รับผิดชอบงานบริหาร รวมถึงเป็นหัวหน้าของข้าราชการทุกหน่วยงาน แต่ด้วยสาเหตุที่หน่วยงานตำรวจถูกแยกออกมาจากกระทรวงมหาดไทย จนมาเป็นสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ทำให้ไม่มีกระทรวงใดเข้ามาควบคุม กลายเป็นองค์กรที่ขึ้นตรงกับนายกรัฐมนตรี แต่นายกฯ ก็ไม่ได้มีเวลาลงมากำกับดูแลในเรื่องของรายละเอียด

“นี่จึงเป็นสาเหตุทำให้ข้าราชการตำรวจระดับผู้ใหญ่ในช่วงหลาย 10 ปีที่ผ่านมา มีฐานะร่ำรวยมหาศาล เพราะขาดการตรวจสอบควบคุมจากภายนอกอย่างสิ้นเชิง”

อุดช่องว่างการตรวจสอบกันเอง สู่ปฏิรูป “เป็นจริง”

พ.ต.อ.วิรุตม์ เสนอ 4 ข้อที่เชื่อว่าจะปฏิรูปตำรวจจริงได้คือ 1.เลิก ลดขั้นยศ และระบบวินัยที่มีสายการบังคับบัญชาแบบทหาร 2.ผู้ว่าราชการจังหวัดต้องตรวจสอบ ควบคุม สั่งงานได้ (ตำรวจต้องขึ้นตรงกับผู้ว่าราชการจังหวัด) 3.กระจายตำรวจเฉพาะทาง 13 หน่วยไปสังกัดกระทรวงรับผิดชอบ มีอำนาจสอบสวนแบบคู่ขนาน 4.อัยการต้องเข้าตรวจสอบ หรือมีบทบาทในคดีสำคัญ หรือที่มีปัญหาตั้งแต่เกิดเหตุ

และสำคัญที่สุดต้องปฏิรูป “โครงสร้าง” ตำรวจ เพราะโครงสร้างปัจจุบันไม่เอื้อต่อการปฏิบัติหน้าที่ แต่เอื้อต่อการเก็บส่วย เก็บสินบน และทุจริตประพฤติมิชอบ เนื่องจากโครงสร้างตำรวจคล้ายโครงสร้างกองทัพ เมื่อตำรวจชั้นผู้น้อยเห็นการประพฤติทุจริต ทำให้พวกเขาไม่กล้าพูด รวมถึงบางครั้งก็ต้องจำยอมไปทำตามคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย หากไม่ปฏิบัติตามก็มักถูกกลั่นแกล้ง โดยการย้ายไปที่อื่น เรื่องนี้ต้องอย่าปล่อยให้มีการแต่งตั้งโยกย้ายตามอำเภอใจ แต่ควรพิจารณาความรู้ความสามารถ

ออกแบบ “แม่ทัพนครบาล”

พ.ต.อ.วิรุตม์ มองว่าจริง ๆ แล้ว ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) ควรเป็นลูกน้องของผู้ว่าฯ กทม. เพราะปัจจุบันทั้งคู่คล้ายเป็นอิสระจากกัน ทั้งที่ต้องมีความรับผิดชอบร่วมกันในพื้นที่นครบาล การเป็นอิสระจากกัน ทำให้ผู้ว่าฯ กทม. ไม่สามารถแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ได้ ทั้งปัญหาอาชญากร อาชญากรรม ยาเสพติด บ่อนการพนัน

อย่างไรก็ตาม ถ้ากำหนดให้ ผบช.น. อยู่ใต้อำนาจของผู้ว่าฯ กทม. หากผลการปฏิบัติงานของ ผบช.น. ไม่ดี ไม่ตอบโจทย์ประชาชน จะมีผลนำไปสู่การพิจารณาของประชาชนว่า ในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ครั้งถัดไป ประชาชนจะยังเลือกคนเดิมอีกหรือไม่ ดังนั้น ต้องทำให้ผู้ว่าฯ กทม. สามารถกำกับควบคุมตำรวจนครบาลให้ได้

“ส่วยตำรวจทุกบาทได้มาจากหยาดเหงื่อ ชีวิต เลือดเนื้อน้ำตา และหายนะของประชาชน ฉะนั้น นายพลตำรวจทุกคนที่รับส่วย แท้จริงคืออาชญากรร้าย ผู้ทำให้สังคมไม่ปลอดภัยและไม่สงบสุข”

ตั้งใจจริง ตำรวจปฏิรูปได้แน่

พ.ต.อ.วิรุตม์ ย้ำว่า การปฏิรูปโครงสร้างตำรวจและกระบวนการยุติธรรมไม่ใช่เรื่องยาก หากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องมองเห็นปัญหานี้ และต้องการแก้ไขอย่างแท้จริง ไม่ใช่ด่วนสรุปว่า ในบรรดาคนหมู่มากก็ต้องมีทั้ง “คนดี” และ “คนชั่ว” ปะปนกันไป

“ส่วนตัวเห็นว่า หากจะทำให้การปฏิรูปเกิดผลสัมฤทธิ์ ผู้ที่จะเข้ามาแก้ไขในเรื่องนี้ ต้องมีใจที่จะทำและมุ่งมั่นจริง ๆ”.