“ประชาธิปไตยยืนหนึ่ง” ชวนวิเคราะห์สถานการณ์หลากมุมมองเชื่อมโยงการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง “สิทธิมนุษยชน” ในประเทศไทย จุดใดควรเร่งแก้ไขบ้าง

ชงพรรคการเมือง (ควร) ชูโรง

อังคณา เผยว่า “สิทธิพลเมืองและรัฐสวัสดิการ” คือเรื่องเร่งด่วนที่พรรคการเมืองควรชูโรง เพราะสิ่งเหล่านี้จะเป็นหน้าที่ของรัฐบาลชุดถัดไป โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ผู้พิการ ผู้สูงอายุ ที่ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมสูงอายุและเผชิญปัญหาขาดแคลนทรัพยากรบุคคลที่จะเข้ามาดูแล ปัญหาบ้านพักคนชราไม่เพียงพอ อีกทั้งเบี้ยผู้สูงอายุก็ค่อนข้างจำกัด

สิทธิในการมีชีวิตคนไทยทุกคน ควรเกิดมาและได้รับการดูแลถ้วนหน้าและเหมาะสมจากรัฐบาล ประเด็นสำคัญที่พรรคการเมืองควร “โฟกัส” คือ รัฐสวัสดิการถ้วนหน้า สิทธิด้านอนามัยการเจริญพันธ์ุ และ Care Income (คุณค่าและค่าตอบแทนงานของแม่และคนงานดูแล) คือการที่บุคคลใดให้ความดูแลบุคคลหนึ่ง แต่ใครจะเป็นคนดูแลผู้ดูแลอีกทอดเพราะคนเหล่านี้มักเป็นผู้เสียสละมากสุด

ดังนั้น อยากให้หันมาพูดเรื่องนี้กันมากขึ้น พร้อมมองว่าไม่ควรคัดเลือกคุณสมบัติของประชาชนเพื่อระบุว่า บุคคลนั้น ๆ ผ่าน และได้รับสิทธิประโยชน์จากรัฐ แต่ต้องคิดครอบคลุมว่าต้องทำอย่างไรให้ทุกคนได้รับสิทธิถ้วนหน้า

“ทำไมการที่ประชาชนจะได้รับสิทธิประโยชน์จากรัฐ จะต้องไปแสดงหรือพิสูจน์ความยากจน ตรงนี้มันคือพฤติกรรมที่ลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์มาก ๆ”

นอกจากนี้หากย้อนไปช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 หลายประเทศมีการชุมนุมเกิดขึ้นปกติ แต่การชุมนุม การประท้วงในประเทศไทยถูกมองเป็นกลุ่มเห็นต่าง ทำให้การใช้ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 ที่ผ่านมา ไม่สอดคล้องหลักสิทธิมนุษยชนรัฐให้อำนาจตำรวจที่เป็นฝ่ายบังคับใช้กฎหมายมากเกินไป

ขณะที่ สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เช่น ประชาชนสามารถวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลโดยไม่ถูกข่มขู่ทางกฎหมาย การที่ทีมงานหรือทีมกฎหมายมุ่งฟ้องประชาชนที่วิพากษ์วิจารณ์ ทำให้ประเทศไทยไม่นำไปสู่บรรยากาศความเป็นประชาธิปไตย ซึ่งรัฐบาลที่จะได้รับเลือกตั้งควรมีความอดทนอดกลั้นต่อการถูกตรวจสอบหรือการถูกวิจารณ์จากประชาชน

นักต่อสู้หญิง และการปกป้องจากรัฐ

ประเด็นการถูกโจมตีผ่าน IO เพื่อด้อยค่าการทำงานนักปกป้องหญิง ทางการเมืองจะช่วยได้อย่างไรบ้าง

อังคณา ระบุ IO มีอยู่ต่อไปได้เพราะไม่ต้องแสดงตัวตน ทำตัวนิรนาม จะด่าว่าใครก็ได้ตามอำเภอใจ ขณะที่รัฐบาลมีหน้าที่ต้องคุ้มครองแต่สุดท้ายเมื่อไปแจ้งความก็ไม่สามารถเอาผิดได้

แม้ปี 2563 จะมีการปิดเว็บไซต์ บัญชีแอคเคานท์ต้องสงสัยแต่ก็ไม่สามารถรู้รายละเอียดว่ามีชื่อเว็บไซต์ใดบ้าง ขณะผู้ถูกลดทอนคุณค่า ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ก็ไม่ได้รับการชดเชยเยียวยา เพราะไม่มีประจักษ์พยานหลักฐานที่ระบุได้ว่าหน่วยงานใดของรัฐที่กระทำ สุดท้ายก็เข้าสู่วงจรปล่อยให้ความผิดลอยนวล

อังคณา มองฝ่ายนิติบัญญัติควรเร่งเสนอร่างกฎหมายให้การเยียวยาผู้ถูกละเมิดจากกลุ่ม IO ที่ไม่ได้อยู่ในสถานะจำเลยหรือผู้เสียหายในคดีอาญาให้เข้าเกณฑ์ พ.ร.บ.ค่าตอบแทนแก่ผู้เสียหาย ค่าทดแทน และค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญาฯ ดังนั้น ต้องการให้พรรคการเมือง ฝ่ายนิติบัญญัติ ศาลและองค์กรอิสระแสดงเจตนารมณ์ และออกแบบกลไกให้ชัดเจน แต่ละองค์กรจะมีบทบาทอย่างไร และเมื่อเป็นรัฐสภาแล้วจะขับเคลื่อนให้สัมฤทธิผลอย่างไรบ้าง

“ตัวอย่างสถานการณ์ที่นักกิจกรรม หรือนักปกป้องสิทธิฯ ผู้หญิงโดนกระทำ เช่น ถูกล่วงละเมิดทางเพศผ่านข้อความ ไม่ว่าจะคอมเมนต์เกี่ยวกับเรือนร่าง เรื่องใต้สะดือ การถูกตัดต่อภาพโป๊เปลือย เมื่อไปแจ้งความ เจ้าหน้าที่กลับให้ผู้เสียหายขีดไฮไลต์ข้อความที่ให้รู้สึกว่าถูกล่วงละเมิด หรือบรรยายความรู้สึกเสียหายจากการอ่านข้อความนั้น การที่ผู้เสียหายต้องกลับมาย้ำวนกับเหตุการณ์เดิม หรืออ่านข้อความเดิมซ้ำ ทำให้เกิดความทุกข์ทรมานต่อจิตใจผู้เสียหายวนเวียนไม่สิ้นสุด”

ฝากจุดโฟกัสหาเสียง

หากผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นเพศหญิงให้สังเกตการเคลื่อนไหว IO จะเริ่มมีบทบาทเข้ามาคอมเมนต์ลักษณะด้อยค่าเหยียดหยามหรือล่วงละเมิดผ่านข้อความ ซึ่งผู้หญิงทุกคนที่ลงสนามการเมืองเพื่อแข่งขันเป็นตัวแทนประชาชนไม่ควรได้รับ หรือต้องตั้งรับกับพฤติกรรมเช่นนี้ แต่ควรได้รับการพิสูจน์ผ่่านผลงานไม่ใช่การปรามาสเรื่องวัยวุฒิ หรืออายุ ควรให้ความเคารพซึ่งกันและกัน ในฐานะความเป็นมนุษย์ รวมถึงสิทธิในการเลือกตั้งของเหล่านักโทษในเรือนจำ หรือคนที่ถูกจำคุกจากคดีทางการเมืองที่ไม่ใช่คดีอาชญากรรมร้ายแรง

อังคณา ทิ้งท้ายมุมมองว่าทุกพรรคการเมืองควรร่วมกันแสดงเจตจำนงชัดเจนในการเสนอแก้รัฐธรรมนูญ เพื่อเปิดทางสู่การปรับแก้กฎหมายอีกหลายฉบับที่ค้างพิจารณา พร้อมคาดหวังการหาเสียงจะเป็นไปอย่างสร้างสรรค์ ไม่มีการใส่ร้ายป้ายสี หรือลดทอนคุณค่าต่อกัน ไม่ซื้อสิทธิขายเสียง

“สถาบันพรรคการเมืองจะต้องชูนโยบายเด่นของตนเอง ซึ่งต้องเป็นนโยบายที่ทำได้จริง เพื่อเป็นการให้คำมั่นสัญญาต่อประชาชนที่จะจดปากกาในคูหาเลือกตั้งให้รับหน้าที่นำพาประเทศไทยไปสู่ความเจริญก้าวหน้าและความเท่าเทียมถ้วนหน้าของคนในสังคม”.