ณ เวลานี้ ประชาชนคนไทยทั้งประเทศ กำลัง “สำลัก” สารพัดนโยบายหาเสียง ที่บรรดานักการเมืองต่างพาเหรดงัดกันออกมา เพื่อเรียกคะแนนเสียง คะแนนนิยม ให้กับตัวเอง

แม้ “บิ๊กตู่” ยังไม่ประกาศวันยุบสภา ออกมาอย่างเป็นทางการ แต่ประเทศไทยก็เดินหน้าเข้าสู่โหมด “เลือกตั้ง” อย่างเต็มรูปแบบกันไปแล้ว 

บรรดา “แคนดิเดต” จากพรรคใหญ่ พรรคตัวเต็ง ต่างลงพื้นที่หาเสียง เร่งสร้างความนิยม เพื่อหวังให้พรรคตัวเองได้รับเสียงข้างมาก จนได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล

ก่อนหน้านี้ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ ได้ออกมาชำแหละนโยบายหาเสียง จาก 9 พรรคการเมือง รวม 86 นโยบาย ทั้งนโยบายให้สวัสดิการ เงินอุดหนุน การสร้างงาน หรือแม้แต่เรื่องของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ

ทั้งหลายทั้งปวง!! ปรากฏว่า ต้องใช้เงินงบประมาณเพิ่มขึ้นทั้งหมด 3.14 ล้านล้านบาทต่อปี หรือเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวจากงบประมาณรายจ่าย ปี 66 ที่มีวงเงิน 3.185 ล้านล้านบาท 

แม้นโยบายหลายอย่างที่พรรคการเมืองงัดกันออกมา จะเป็นนโยบายที่ต้องการแก้ไขความเดือดร้อนให้กับคนไทยทั้งประเทศ แต่ก็เป็นการสร้างปัญหา สร้างภาระทางการคลัง สร้างหนี้สาธารณะให้กับประเทศในระยะยาวไม่น้อยเช่นกัน  

สุดท้าย…ก็หนีไม่พ้น ที่คนไทยทั้งประเทศต้องมานั่งรับผิดชอบ กับหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้น ล่าสุด ณ 31 ม.ค. 66 ไทยมีหนี้สาธารณะ กว่า 10.69 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 61. 26% ของจีดีพีของประเทศ

หากคำนวณคร่าว ๆ ง่าย ๆ กับคนไทยที่มีอยู่ 66 ล้านคน ก็เท่ากับว่า คนไทยเป็นคนละ เกือบ 1.62 แสนบาท เข้าไปแล้ว หรือแค่ลืมตามาดูโลกใบนี้วันแรกก็กลายเป็นหนี้ซะแล้ว

ขณะเดียวกัน นโยบายหาเสียงที่ออกมา แทบมองไม่เห็นวิธีการสร้างรายได้ให้กับประเทศด้วยซ้ำ หรือบอกวิธีหาเงินเข้าประเทศ หรือสร้างรายได้เพิ่ม มีแต่เรื่องของการใช้เงินงบประมาณทั้งนั้น

ดูแค่เพียงเรื่องของ “บัตรคนจน” หรือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ที่เวลานี้กลายเป็นนโยบายที่รัฐบาลต้องทำเพื่อดูแลคนจน ก็ใช้เงินจำนวนไม่น้อย

บัตรคนจน รับโอนเงินเดือนพฤศจิกายน ได้ทั้งหมดเท่าไร-เงินเข้าวันไหน

เวลานี้เดินหน้ามายาวนานถึง 6 ปี ก็ใช้เงินงบประมาณ ไปเกือบ 3 แสนล้านบาท ซึ่งเริ่มต้นมาตั้งแต่ปลายปี 60 จนล่าสุดมาถึงปี 66 จากเดิมที่เคยจัดสรรงบประมาณให้ปีละประมาณ 50,000 ล้านบาท 

แต่ล่าสุด…ก็มีการจัดสรรงบประมาณ เพิ่มเป็น 65,413.80 ล้านบาท ด้วยเพราะมีการเพิ่มวงเงินให้กับกลุ่มเปราะบางเพิ่มขึ้นอีกคนละ 100 บาท เป็นคนละ 300 บาทต่อเดือน เท่ากันกับผู้ที่มีรายได้น้อยและได้สิทธิบัตรคนจน

จึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร? ที่เหล่านักวิชาการจะแสดงความห่วงใยในเรื่องของภาระหนี้ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต!!  

หรือ…แม้แต่เรื่องของขีดความสามารถของประเทศ เพราะแต่ละนโยบายที่ออกมาส่วนใหญ่ก็เพื่อตอบสนองความต้องการเฉพาะหน้าของประชาชนเท่านั้น

ที่สำคัญ หากประกาศออกมาแล้วแต่ “ทำไม่ได้” เพราะติดสารพัดปัญหา โดยเฉพาะกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ก็เท่ากับว่า… เป็นการเอาเปรียบคนไทยทั้งประเทศ

ด้วยเหตุนี้!! ข้อเสนอของนักวิชาการ โดยเฉพาะจาก ทีดีอาร์ไอ ที่ต้องการให้บรรดาพรรคการเมืองออกมาทบทวนนโยบายที่หาเสียงออกมา ว่าเป็นไปได้จริงหรือไม่? ทั้งทางด้านการคลังและด้านกฎหมาย หรือควรปรับปรุงให้เหมาะสม ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น

หรือ!! แม้แต่การ “ปฏิรูป” กฎกติการในการหาเสียงเลือกตั้ง เพราะกติกาที่เป็นอยู่ ทำให้เกิดการแข่งขันนโยบายที่เสี่ยงที่จะเกิดความเสียหายต่อประเทศ

เลือกตั้งท้องถิ่น : ปรากฏการณ์ใหม่-ข้อมูล-สถิติน่าสนใจในศึกเลือกตั้ง อบจ.  63 - BBC News ไทย

อย่างที่บอก เวลานี้ โลกทั้งใบยังต้องเผชิญปัญหาอีกสารพัด โดยเฉพาะปัญหาด้านเศรษฐกิจ ที่กำลังเดินทางเข้าสู่ภาวะถดถอย หรือปัญหาสงครามรัสเซียและยูเครน ที่ยังไม่มีใครรู้ว่าจะไปยุติจบลงเมือไหร่

ดังนั้น!! ประเทศไทยก็หนีไม่พ้นที่ต้องได้รับผลกระทบตามไปด้วย หากแต่ “การเมือง” ยังมุ่งหวังเพียงแค่ “คะแนนเสียง” โดยไม่ดูข้อจำกัดที่มีอยู่ 

สุดท้าย… คนไทยทั้งประเทศนั่นแหละ ที่ต้องกลายเป็น ผู้แบกรับภาระ!!

……………………………………….
คอลัมน์ : เศรษฐกิจจานร้อน
โดย “ช่อชมพู”