…นี่เป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ ของ สถาบันการเงินชุมชนตำบลโพธิ์หมากแข้ง จ.บึงกาฬ อันสืบเนื่องจากพิษโควิด-19 ซึ่งเกษตรกรสมาชิกสถาบันการเงินฯ ไม่สามารถที่จะชำระหนี้กู้ยืมได้ตรงตามกำหนด จนทำให้เกิด “ผลกระทบเป็นลูกโซ่” จากการที่ “ยอดค้างชำระเงินกู้ยืมพุ่งสูงขึ้น”

สถานะสถาบันการเงินชุมชนสั่นคลอน

อันเนื่องจาก “หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้”

ทั้งนี้ กรณีปัญหาที่เกิดขึ้นกับ สถาบันการเงินชุมชนตำบลโพธิ์หมากแข้ง จ.บึงกาฬ นี้ เป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นคล้ายกันกับสถาบันการเงินชุมชนหลาย ๆ แห่งทั่วประเทศ ซึ่งเป็นผลพวงจากโควิด-19 ที่ทำให้รายได้ของสมาชิกที่ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรนั้นลดลง ประกอบกับเจอสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำซ้ำเติม ด้วยเหตุนี้จึงส่งผลต่อความสามารถในการชำระหนี้สิน ของสมาชิก ทำให้สถานะการเงินของสถาบันการเงินชุมชนเกิดปัญหา จากการที่ “หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้” หรือ “NPLs” เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี กับปัญหาที่สถาบันการเงินชุมชนตำบลโพธิ์หมากแข้งเผชิญ ก็มีสถาบันการเงินหลักเข้าช่วยเป็น “พี่เลี้ยง”

และเกี่ยวกับ “กรณีศึกษาพี่เลี้ยงแก้ปัญหาหนี้” ที่ทาง“ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” นำมาสะท้อนในวันนี้…ทาง สงกรานต์ กินคำเชิด ประธานของสถาบันการเงินชุมชนตำบลโพธิ์หมากแข้ง เล่าว่า… สถาบันการเงินฯ แห่งนี้ได้มีการรวมหุ้นกันของสมาชิก และก่อตั้งเป็นสถาบันการเงินชุมชนเมื่อประมาณปี 2554 และได้รับการขึ้นทะเบียนในปี 2555 โดยการสนับสนุนจาก ธ.ก.ส. และองค์การบริหารส่วนตำบลโพธิ์หมากแข้ง เพื่อให้เป็นศูนย์กลางการบริหารจัดการการเงินในชุมชน โดย “ยึดหลักพึ่งพาอาศัยกันเองในชุมชน” ซึ่งสถาบันฯ เน้นให้การสนับสนุนสินเชื่อแก่สมาชิกในชุมชนที่ส่วนใหญ่มีอาชีพเป็นเกษตรกรสวนยาง เพื่อ “เพิ่มโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ” ให้แก่สมาชิก รวมไปถึง “เพื่อลดปัญหาจากหนี้นอกระบบ”

ในการดำเนินงานนั้น ประธานสถาบันฯ ให้ข้อมูลว่า… นับแต่ก่อตั้ง ที่ผ่านมาสามารถดำเนินงานได้ด้วยดี โดยสมาชิกที่ขอสินเชื่อไปนั้นสามารถส่งชำระหนี้ได้ตามกำหนดปกติ โดยมีกำไรจากการดำเนินงานติดต่อกันมาตั้งแต่ปี 2555 ถึงปี 2562 จนมาเกิดโควิด-19 ช่วงต้นปี 2563 จากนั้นทางสถาบันฯ ก็เริ่มเกิดปัญหาสมาชิกขาดส่งชำระหนี้ ประกอบกับเจอภาวะราคายางพาราตกต่ำเข้าอีก ทำให้รายได้ของสมาชิกลดลง ก็ยิ่งส่งผลต่อการชำระหนี้ เนื่องจาก 80% ประกอบอาชีพทำสวนยางพารา ที่สำคัญ…ยังไม่ทันหมดโควิด-19 ก็เจอพิษเศรษฐกิจตกต่ำซ้ำอีก จนยอดค้างชำระหนี้พุ่งสูง กระทบกับสถาบันฯ

ประธานของสถาบันการเงินชุมชนดังกล่าวฉายภาพ “ปัญหาหนี้ค้างชำระสะสม” ที่เกิดขึ้นอีกว่า… ช่วงเวลาที่เกิดปัญหานั้นทางสถาบันฯ ได้พยายามบริหารจัดการอย่างเต็มที่แล้ว แต่ก็ต้านทานไม่ไหว จนช่วงปลายปี 2564 ต่อเนื่องถึงช่วงต้นปี 2565 สถาบันฯ ก็ประสบปัญหาหนี้ค้างชำระของสมาชิกที่ไม่มีความสามารถในการจ่ายหนี้ได้อยู่ในระดับที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ โดยหนี้เหล่านี้เป็น หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPLs โดยมียอดค้างชำระจากสมาชิกมากกว่า 500 ราย มียอดหนี้ค้างชำระรวมกันทั้งหมดอยู่ที่ประมาณ 5 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นปัญหาทางการเงินอย่างมากกับทางสถาบันฯ จากหนี้ก้อนดังกล่าวนี้

อย่างไรก็ดี ช่วงที่มีปัญหานั้น สงกรานต์ บอกว่า… โชคดีที่ทาง ธ.ก.ส. เข้ามาช่วยเหลือ โดยได้จัดส่งเจ้าหน้าที่มาให้คำแนะนำแนวทางจัดการหนี้ของสมาชิก โดย นำมาตรการ “ปรับปรุงโครงสร้างหนี้” และการ “ลดอัตราดอกเบี้ย” มาใช้ ซึ่งเมื่อเรียนรู้ขั้นตอนแล้ว จึงกำหนดแนวทางจัดการ ดังนี้… 1.ให้พนักงานสถาบันฯ 2 คน ทำหน้าที่เป็นผู้ไปดูแลลูกหนี้แบบถึงตัวถึงบ้าน 2.กรณีเป็นหนี้ก้อนใหญ่และติดตามได้ยาก ก็จะร่วมกับคณะกรรมการติดตามตัวให้มาพูดคุยเจรจากันเบื้องต้น…

“หลังปฏิบัติตามแนวทางที่ ธ.ก.ส. แนะนำ ปรากฏยอดค้างชำระหนี้ที่เคยสูงก็ค่อย ๆ ลดลง จนหนี้ที่เคยค้างชำระก็ปรับมาเป็นหนี้ที่กลับมาอยู่ในระบบปกติแล้ว” …สงกรานต์ ระบุถึงผลลัพธ์หลังได้รับคำแนะนำจาก “พี่เลี้ยง”

ขณะที่ ศศิพงศ์ โพธิ์ศรี ผู้อำนวยการสำนักงาน ธ.ก.ส. บึงกาฬ ระบุว่า… หลังพบปัญหาทาง ธ.ก.ส. ก็เข้าไปส่งเสริมให้ความรู้สมาชิกเรื่อง “วินัยทางด้านการเงิน” เพื่อส่งเสริมให้เกิดการออม และให้ความรู้ต่าง ๆ เพื่อให้ทางสถาบันฯ เดินหน้าต่อไปได้ ซึ่งการที่ให้ชุมชนจัดการดูแลกันเองเป็นการทำให้เกิดการเกื้อกูลกันในชุมชน เพราะคนในชุมชนจะรู้ปัญหากันเองได้ดี

ด้าน สุภาษิต ศุภวุฒิ ผู้ช่วยผู้จัดการ ธ.ก.ส. เสริมว่า… หลังทราบปัญหาของสถาบันการเงินชุมชนตำบลโพธิ์หมากแข้ง จ.บึงกาฬ ธ.ก.ส. ก็เข้าช่วยเหลือด้านความรู้ในการปรับปรุงโครงสร้างหนี้และแก้ปัญหาหนี้ และก็ยังได้ “เติมทุนอัตราดอกเบี้ยต่ำ” ผ่านวงเงินสินเชื่อฟื้นฟูอีก 3 ล้านบาทให้เพิ่มเติม เพื่อให้สมาชิกได้ “นำไปลงทุนประกอบอาชีพ สร้างรายได้ เพื่อให้ชำระหนี้ได้ตามปกติ” เพื่อให้สมาชิก “ก้าวข้ามกับดักหนี้” ได้ และสถาบันฯ นี้ก็กลับมาดำเนินงานได้ปกติ

…ทั้งนี้ กรณีสถาบันการเงินชุมชนตำบลโพธิ์หมากแข้งนี่ถือเป็นอีก “ตัวอย่างที่ดี” ในการ “แก้ปัญหาหนี้โดยชุมชน” ที่น่าจะเป็นอีก “ต้นแบบการแก้ปัญหาหนี้” ในพื้นที่อื่นได้ …ขณะที่การ “ช่วยผู้ติดหนี้มีทุนทำอาชีพต่อ” นี่ก็ “น่าสนใจ”

“เติมทุน” แล้ว “ทำให้ปลดกับดักหนี้ได้”

นี่ “ดีทั้งต่อลูกหนี้ และสถาบันการเงิน”

“ดีกว่าเข้มแบล็กลิสต์แล้วหนี้เน่ายาว!!”.