ทั้งนี้ “นพ.โอฬาริก มุสิกวงศ์ สูตินรีแพทย์ รพ. เจ้าพระยาอภัยภูเบศร และโฆษกรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.)” บอกว่า ทุกวันนี้อัตราการผ่าตัดคลอดประเทศไทยอยู่ที่ 50% และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา ปัจจัยเกิดจาก 2P คือ 1.Pregnant หรือตัวคนท้องเอง และ 2.Provider ผู้ให้การรักษา บางคนเป็นเรื่องของความเชื่อ บางคนเป็นเรื่องของการจัดการเวลา (Time Management) บางคนหญิงตั้งครรภ์อยู่คนเดียว แฟนอยู่คนละจังหวัด ไม่รู้ว่าเจ็บท้องกลางคืนใครจะมาส่ง เราก็ให้ข้อดีข้อเสีย สุดท้ายตัดสินใจร่วมกันกับคนไข้ว่าจะเลือกคลอดแบบไหน ซึ่งแบบนี้จะดีกว่าในการผ่าตัดคลอด แต่การผ่าตัดต้องทำในช่วงเวลาที่มีความพร้อม เช่น กลางวัน หมอพร้อม ห้องเลือดพร้อม วิสัญญีพร้อม หมอเด็กพร้อม เพราะเหตุการณ์วิกฤติสามารถเกิดขึ้นได้
ขณะที่ องค์การอนามัยโลก อัตราการผ่าคลอดเหมาะสมอยู่ที่ 15% และผ่าโดยมีข้อบ่งชี้ อาทิ รกอยู่ด้านล่างขวางช่องคลอดไว้ คลอดเองไม่ได้ มีก้อนที่บริเวณช่องคลอด หรือฝาแฝดคนหนึ่งเอาก้นลง อีกคนเอาหัวลง รวมถึงกรณีเด็กนอนขวาง เป็นต้น
ทางเราพยายามมีกิจกรรมเพื่อให้คุณแม่คลอดธรรมชาติ ได้แก่ 1.ให้ความรู้ระหว่างตั้งครรภ์อยู่ในโรงเรียนพ่อแม่ ว่าข้อดีข้อเสียการผ่าตัดคลอดคืออะไร เวลาไปห้องคลอดจะเจออะไรบ้าง เมื่อมีประสบการณ์และทัศนคติที่ดีจะทำให้ความกลัวห้องคลอดเราลดลง 2.เพื่อนคู่คลอด ให้สามีไปอยู่ในห้องคลอดด้วยหรือคนที่เราสบายใจ ซึ่งคน คนนี้ก็ต้องเข้าโรงเรียนพ่อแม่เช่นกัน และ 3.มีการระงับปวดในห้องคลอด โดยเพิ่มการฉีดยาแก้ปวดบางตัวที่ทำให้ปวดน้อยลงระหว่างคลอด และคิดว่าการมีกิจกรรมเหล่านี้ทำให้การคลอดเองมีความสำเร็จมากขึ้น
ทั้งนี้ การผ่าคลอดมีผลเสียต่อแม่และลูกทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยระยะสั้นของแม่คือ โอกาสเสียเลือด แผลติดเชื้อ อันตรายต่ออวัยวะข้างเคียงมากขึ้น ส่วนเด็กออกมาเวลาดูดนมจากเต้าน้อยลง เพราะแม่สะลึมสะลือจากการถูกดมยา นอกจากนี้ ลูกที่คลอดออกมาจะได้รับเชื้อแบคทีเรียตัวที่อยู่ในช่องคลอดลดลง ทำให้มีโอกาสเกิดภูมิแพ้มากขึ้นในช่วงแรกของชีวิต
ส่วนผลกระทบระยะยาวที่เกิดกับแม่นั้นทำให้ท้องลูกคนถัดไปยากขึ้น มีโอกาสเกิดภาวะรกฝังลึกเกาะแน่น ครั้งต่อไปต้องผ่าตัดคลอด มีโอกาสต้องถูกตัดมดลูกออก ปวดท้องน้อยเรื้อรัง เลือดออกกะปริดกะปรอย.
อภิวรรณ เสาเวียง