…นี่เป็นส่วนหนึ่งจากการระบุผ่าน “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ไว้ตั้งแต่เมื่อปี 2563 โดย พระราชธรรมนิเทศ หรือ พระพยอม กัลยาโณ เจ้าอาวาสวัดสวนแก้ว ในโอกาส “วันมาฆบูชา” วันที่องค์พระศาสดาแห่งศาสนาพุทธ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดง “โอวาทปาติโมกข์” แก่พระสงฆ์เป็นครั้งแรก หลังตรัสรู้ 9 เดือน ซึ่งโอวาทฯ หรือหลักคำสอนนี้ เป็นหลักการและวิธีปฏิบัติในทางพุทธ ที่สรุปความสำคัญได้ว่า…

“ทำความดี ละเว้นความชั่ว”…

และรวมถึง “ทำจิตใจให้บริสุทธิ์”

กล่าวสำหรับการระบุถึง สถานการณ์บาปบุญคุณโทษในสังคมชาวพุทธไทย ไว้โดย พระพยอม นั้นจากวันมาฆบูชาเมื่อปี 2563 มาถึงวันมาฆบูชาในปี 2566 นี้ สถานการณ์นอกจากจะไม่ได้ดีขึ้นแล้ว…ยังดูจะ “ย่ำแย่” ลงเรื่อย ๆ อีกต่างหาก!! และกับแง่มุมต่าง ๆที่ทางพระพยอมท่านระบุผ่าน “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ไว้…มาถึงวันนี้ก็ยิ่ง “น่าพินิจ-น่าคิด”

พลิกแฟ้มนำมาเน้นย้ำไว้ในโอกาสวันมาฆบูชาเวียนบรรจบ…แง่มุมที่ยิ่งน่าพินิจ-น่าคิด โดยสังเขปมีว่า… “เมื่อก่อน แม้แต่ไถนา เมื่อถึงวันพระเขาก็จะหยุดไถนากัน เพื่อให้วัวควายได้พัก เจ้าของก็ไปทำบุญที่วัด… เดี๋ยวนี้วันโกนไม่ละ…วันพระไม่เว้น ไม่ละไม่เว้นที่จะทำบาป” …เป็นเนื้อความอีกส่วนหนึ่งจากที่ทาง พระพยอม ท่านระบุไว้ และรวมถึง…

“เทคโนโลยี ตอนนี้เป็นสิ่งที่น่ากลัว เพราะมีอิทธิพลกับคนมาก และสามารถจูงใจให้คนออกห่างจากวัดเยอะมาก… เทคโนโลยีมันเจริญ แต่ความเชื่อมต่อระหว่าศาสนา คน วัด เริ่มห่าง-ห่าง-ห่าง…ไปเรื่อย ๆ… สิ่งที่เร้าใจให้คนห่างศีลห่างธรรมได้มากที่สุดในตอนนี้คือ เทคโนโลยีสมัยใหม่ ดังที่หลวงพ่อพุทธทาสท่านได้เคยกล่าวไว้ว่า… เทคโนโลยีที่พัฒนาการต่อไปนี้ มันจะทำให้ศีลธรรมวินาศนาการ วิวัฒนาการทางเทคโนโลยีจะนำไปสู่…

วินาศนาการทางศีลธรรม

ทั้งนี้ จากที่ท่าน พุทธทาส และ พระพยอม ท่านได้ระบุไว้นั้น กับ “เทคโนโลยี” น่ะก็แน่นอนว่าย่อมจะ “ไม่ใช่สิ่งผิด-ไม่ผิด” หากแต่ “ปัจจัยที่ส่งผลต่อกรณีศีลธรรมวินาศนาการ” นั้น…คือการที่ “คนใช้เทคโนโลยีไปในทางที่ผิด”

สำหรับประเด็น “คนออกห่างจากวัดเยอะ”… ประเด็นนี้ในมุมหนึ่งในด้านหนึ่งก็ต้องยอมรับว่า… “การปฏิบัติตนไม่เหมาะสมของผู้ที่ห่มผ้าเหลืองเป็นพระสงฆ์” ก็ดูจะ “มีส่วน” ด้วยเช่นกัน ซึ่งทั้งทำแวดงวงพระสงฆ์แวดวงพระพุทธศาสนาพลอยมัวหมอง และก็ทำให้ผู้คนชาวพุทธส่วนหนึ่งรู้สึก “ไม่อยากเข้าวัด…เพราะเคลือบแคลง-ไม่มั่นใจในพระสงฆ์”

และในมุมนี้ในด้านนี้… พระพยอม ท่านก็ได้เคยระบุผ่าน “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ไว้ ใจความว่า… “มีเรื่องพฤติกรรมแย่ ๆ พฤติกรรมไม่ดี ของพระสงฆ์ ที่วินัยไม่มี มีแต่ข่าวเสื่อมเสีย มีทั้งยุ่งเกี่ยวผู้หญิง และยาเสพติด เดี๋ยวนี้บางวัดถึงขนาดมีพระโดนจับสึกเพราะผู้หญิง และยาเสพติด เฉลี่ยแล้ว 1 ต่อ 3 ตอนนี้มีพระติดยาเสพติดเยอะ มีวัดบางวัดที่มีพระถึง 8 รูปต้องสึก ถูกจับ เพราะยาเสพติด ทีนี้พอมีการเข้มงวดตรวจสอบขึ้นมา ตามวัดนั้นพระก็หายไปเยอะ ใครจะบวชต้องผ่านการตรวจสอบประวัติ พอมีการคัดสรรเข้มงวด ตอนนี้ก็เลยไม่ค่อยมีใครบวช วัดโล่งไปเลย…

แต่ไปแน่นที่คุก จนมีสำนวนใหม่ว่า…

วัดกำลังจะร้าง…ตะรางกำลังจะเจริญ”

นอกจากเพราะมีการใช้เทคโนโลยีไปในทางที่ไม่เหมาะสม-ในทางที่ผิด และเพราะในแวดวงพระสงฆ์มีผู้ที่ประพฤติไม่เหมาะสม-ประพฤติผิด ซึ่งผู้คนได้รับรู้เรื่อย ๆ โดยตลอดจนแทบจะ “ชาชิน” โดยเฉพาะเรื่องยุ่งเกี่ยวยาเสพติด ยุ่งเกี่ยวผู้หญิง หรือ ยุ่งเกี่ยวผู้ชาย ยุคนี้ก็อื้ออึงครึกโครมไม่น้อย… กับการที่ “คนออกห่างจากวัดเยอะ” นั้น…ก็ยังมีอีกประเด็นที่เป็นสาเหตุ นั่นก็คือ “เพราะภาวะเศรษฐกิจไม่ดี” แต่อย่างไรก็ดี กับประเด็นเศรษฐกิจนี้ทาง พระพยอม ท่านก็ได้เคยระบุผ่าน “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ไว้ตั้งแต่เมื่อปี 2563 ด้วย และในส่วนนี้ก็เป็นส่วนที่ถึงปี 2566 นี้ก็ยัง “น่าพินิจ-น่าคิด” เช่นกัน กล่าวคือ…

“เศรษฐกิจไม่ดี ญาติโยมไม่มาวัดก็ไม่เป็นไร แต่ขอให้มีสติอยู่ที่บ้าน ระลึกนึกถึงพระพุทธเจ้า… ถ้าตัวเองยังเดือดร้อน ก็หันทำบุญให้กับตัวเองก่อน พยายามประคองตัวให้อยู่รอดปลอดภัยก่อน… …พระพยอมท่านกล่าวไว้  

ทั้งนี้ จากที่ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” พลิกแฟ้มนำแง่มุมต่าง ๆ ดังกล่าวข้างต้นมาเน้นย้ำไว้อีกในโอกาส “วันมาฆบูชา” ปีนี้ แม้ไม่ใช่ข้อมูลแง่มุมใหม่…แต่ก็ถือได้ว่ายังคงร่วมสมัย-ยัง “น่าพินิจ-น่าคิด” รวมถึงที่ พระพยอม ท่านได้ระบุไว้ด้วยว่า…

“ประเทศไทยยังเป็นประเทศที่มีทรัพยากร อาหารการกิน พืชผักผลหมากรากไม้ ที่พอจะใช้ประทังชีวิตอยู่ได้ ถ้าไม่สุรุ่ยสุร่าย เศรษฐกิจจะไม่ดียังไง ขอเพียงตัดใจเรื่องส่วนเกิน ไม่กินเกิน ไม่นุ่งห่มตกแต่งแพงเกิน ส่วนเกิน ๆ ต่าง ๆ ตัดออกไป ตัดเหล้ายา ตัดของสวยของงามออกไปบ้าง ใช้สอยเอาเป็นหลัก…ใช้สวยเอาเป็นรอง แค่นี้แหละ…จะทำให้อยู่ได้ในภาวะเศรษฐกิจคับขัน เจริญพร” …ทาง พระพยอม หรือ พระราชธรรมนิเทศ ท่านแนะไว้

แล้วก็อย่าลืม… “วันโกนละ…วันพระเว้น”

“ละเว้นทำสิ่งไม่ดี” ซึ่งปฏิบัติทุกวันยิ่งดี

ผู้ที่ปฏิบัติก็จะ “ไม่เสี่ยงวินาศนาการ”.