“ทีมข่าวอาชญากรรม” ไขข้อกฎหมายประเด็นนี้กับ นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด และรองอธิบดีอัยการสำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน ให้ข้อมูลถึง ผู้ที่อ้างว่าป่วยทางจิต หรือมีอาการป่วยใดๆ ก็ตาม เพื่อใช้ “ลดโทษ” หรือ “ละเว้น” ความผิด กฎหมายระบุไว้ชัดเจนว่า

สำหรับบุคคลที่มีเหตุควรเชื่อว่า “ผู้ต้องหา” หรือ “จำเลย” เป็น “ผู้วิกลจริต” และไม่สามารถต่อสู้คดีได้ ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 14 ในระหว่างทำการสอบสวน ไต่สวนมูลฟ้องหรือพิจารณา ให้พนักงานสอบสวนหรือศาล สั่งให้แพทย์ตรวจ แล้วแจ้งผล

หากเห็นว่าผู้ต้องหาหรือจำเลย เป็นผู้วิกลจริตและไม่สามารถต่อสู้คดีได้จริง ให้งดการสอบสวน ไต่สวนมูลฟ้องหรือพิจารณาไว้ จนกว่าผู้นั้นหายวิกลจริต จากนั้นจะส่งตัวไปรักษา ศาลจะสั่งจำหน่ายคดีเสียชั่วคราวก็ได้

นิยามคนที่มีอาการป่วยทางจิต ผู้วิกลจริต ตาม ประมวลกฎหมายอาญา ระบุไว้ใน มาตรา 65 ผู้ใดกระทำความผิดขณะไม่สามารถรู้ผิดชอบ หรือไม่สามารถบังคับตนเองได้ เพราะมีจิตบกพร่อง โรคจิตหรือจิตฟั่นเฟือน ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษสำหรับความผิดนั้น แต่ถ้าผู้กระทำความผิดยังสามารถรู้ผิดชอบอยู่บ้าง หรือยังสามารถบังคับตนเองได้บ้าง ผู้นั้นต้องรับโทษ แต่ศาลจะลงโทษ “น้อยกว่า” ที่กฎหมายกำหนด

แต่จะอ้างเหตุอย่างการ “เมาสุรา” หรือ “เสพยาเสพติด” ไม่ได้ เว้นแต่ความมึนเมานั้น จะได้เกิดโดยผู้เสพไม่รู้ว่าสิ่งนั้นจะทำให้มึนเมา หรือถูกขืนใจให้เสพ และได้กระทำความผิดในขณะไม่สามารถรู้ผิดชอบ หรือไม่สามารถบังคับตนเองได้ ผู้กระทำความผิดจึงจะได้รับ “ยกเว้นโทษ” สำหรับความผิดนั้น แต่ถ้าผู้นั้นยังสามารถรู้ผิดชอบอยู่บ้าง หรือยังสามารถบังคับตนเองได้บ้าง ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ ตามมาตรา 66

การรับมือบุคคลดังกล่าว นายโกศลวัฒน์ ระบุ ปัจจุบันมีกฎหมายเพื่อแยกบุคคลเหล่านี้ไปรักษาตาม พ.ร.บ.สุขภาพจิต พ.ศ. 2551 เมื่อพบบุคคลที่มีความผิดปกติทางจิตให้แจ้งพนักงานเจ้าหน้าที่ พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ ให้อำนาจพาตัวไปรักษาจนกว่าจะหายดี แม้แต่ในเรือนจำก็มีกฎหมายที่ดูแลเฉพาะกับผู้ต้องขังที่ต้องได้รับการบำบัดรักษาเฉพาะด้าน หรือหากไม่ทุเลา สามารถส่งตัวไปสถานบำบัดเฉพาะทางนอกเรือนจำ

ยกตัวอย่าง แนวคำพิพากษา ฎีกาที่ 65/2542 จำเลยอ้างเป็นผู้วิกลจริต หรือมีสติวิปลาสในทำนองคนบ้า โรคจิตพวกจิตเภท อันเป็นที่รู้กันทั่วไปว่าเป็นแต่เพียงโรคทางจิตชนิดหนึ่งที่ทำให้ความคิดและบุคคลิกภาพผิดปกติ แต่ปรากฏตามคำฟ้องของโจทก์ว่า จำเลย มีอาชีพค้าขาย ซึ่งปกติของคนมีอาชีพค้าขายต้องเป็นผู้เฉลียวฉลาด รู้จักแสวงหากำไรประกอบกับตามคำให้การและรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นก็ปรากฏว่า จำเลยลงลายมือชื่อได้ถูกต้อง และตามคำร้องขอให้ปล่อยชั่วคราว ลงวันที่วันเดียวกันจำเลยสามารถลงลายมือชื่อ-สกุล ได้เรียบร้อยสวยงาม อีกทั้งยังมีลักษณะเหมือนคนปกติ ก่อนจำเลยถูกฟ้อง จำเลยก็มีบุตรชายได้ตามปกติ ถึง 2 คน จำเลยจึงมิใช่คนวิกลจริตที่ไม่สามารถต่อสู้คดีได้

ฎีกาที่ 809/2548 จำเลยกับผู้ตายซึ่งเป็นบิดาไม่มีเหตุโกรธเคือง ทั้งไม่มีมูลเหตุใดทำให้ต้องฆ่าผู้ตาย ซึ่งเป็นผู้ให้กำเนิดและเลี้ยงดูโดยตลอด จำเลยเป็นผู้มีอาการทางประสาท โวยวายว่าจะมีผู้อื่นมาฆ่า บิดาและมารดาเคยนำจำเลยไปรักษา แต่เมื่อไปถึง รพ. จำเลยวิ่งหนี ไม่ยอมเข้าไปรักษา ก่อนเกิดเหตุ 2 เดือน จําเลยมีอาการคลุ้มคลั่งกลัวคนมาฆ่า ในวันเกิดเหตุน้องชายจําเลยได้ยินเสียงเอะอะโวยวายของจำเลยว่ากลัวคนจะมาฆ่า และเห็นจำเลยยืนถือไม้หน้าสามยืนข้างผู้ตายนอนและมีเลือดไหลออกจากจมูกของผู้ตาย พร้อมกับตะโกนว่าจำเลยฆ่าผู้ตาย

ตามพฤติการณ์แห่งคดี จึงน่าเชื่อว่าจำเลยมีความผิดปกติในความคิดและการรับรู้ แม้เท็จจริงเพียงเท่านี้ยังไม่เป็นการชัดแจ้งว่า จำเลยกระทำความผิดในขณะไม่สามารถรู้ผิดชอบ หรือไม่สามารถบังคับตนเองได้เพราะมีจิตบกพร่อง แต่การที่จำเลยเกิดหวาดกลัวว่าจะมีคนมาทําร้าย และหลังเกิดเหตุจําเลยวิ่งหลบหนีไปนั้น แสดงว่าจําเลยมีอาการปกติทางจิตใจหรือบกพร่อง แต่ก็เชื่อว่าจำเลยยังสามารถรู้ผิดชอบอยู่บ้าง ศาลจึงลงโทษ “น้อยกว่า” ที่กฎหมายกำหนดไว้

ฎีกาที่ 2594/2542 จำเลยเป็นโรคจิตเภท มีอาการระแวง พูดจาวกวน มีประวัติว่า รพ. รับตัวไว้รักษา 4 ครั้ง และหลังเกิดเหตุเพียง 3 วัน รพ. ก็รับตัวจำเลยไว้รักษาอีกครั้งหนึ่ง ครั้งนี้จำเลยมีอาการหงุดหงิดง่าย พูดและยิ้มคนเดียว รพ. จำต้องดูแลรักษาอย่างต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้อาการกำเริบ ดังนี้เมื่อกรณีมีเหตุควรเชื่อในเบื้องต้นว่าจำเลยเป็นผู้วิกลจริตและไม่สามารถต่อสู้คดีได้ ศาลส่งตัวจำเลยไปให้แพทย์ หรือ รพ. อื่นที่เห็นสมควร ตรวจสภาพจิตและเรียกแพทย์ผู้ตรวจมาให้ถ้อยคำหรือให้การต่อศาล ดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 14 แล้วจึงพิจารณาพิพากษาคดีต่อไป.

ทีมข่าวอาชญากรรม รายงาน

[email protected]