ในรอบ 2 เดือนที่ผ่านมา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ และทีม เสธ.คนสนิท ออกจดหมายเปิดใจผ่านทางเฟซบุ๊กมาแล้ว 3 ฉบับ อธิบายความเป็นมาเป็นไป ตั้งแต่มีการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 57 จนถึงปัจจุบันแบบคนที่เข้าใจปัญหาทางการเมือง การปกครองของประเทศไทยแบบลงลึกถึง “แก่นแท้” และมองไปข้างหน้าแบบคนเข้าใจโลก เข้าใจความเปลี่ยนแปลงที่ไม่อาจหยุดยั้งได้

จดหมายเปิดใจ 3 ฉบับของ พล.อ.ประวิตร บอกอะไรกับสังคมไทย? 1. บอกว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นคนทำรัฐประหาร ส่วน พล.อ.ประวิตร ไม่เกี่ยว! เพราะเกษียณอายุราชการไปตั้งแต่ปี 48 แต่ถูกชวนเข้าร่วมรัฐบาล

2. คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่มีความรู้ความเชี่ยวชาญทางด้านการเมือง เพราะเป็นทหารอาชีพมาทั้งชีวิต ฝึกฝนเรียนรู้มาในด้านการปกป้องอธิปไตยของชาติ

3. พล.อ.ประวิตร สนับสนุนให้ตั้งพรรคพลังประชารัฐ เพื่อสู้ศึกเลือกตั้ง และเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ ให้กลับมาเป็นนายกฯ ตามที่เจ้าตัวปรารถนา 4.ในช่วงเวลาเป็นแกนนำรัฐบาล มีทั้งเรื่องที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับการตัดสินใจในคณะรัฐมนตรี (ครม.) แต่จำเป็นต้องสงวนท่าทีตามมารยาททางการเมือง

5. พล.อ.ประยุทธ์ ตัดสินใจเองว่าจะแยกทางจากพรรคพลังประชารัฐ ที่เคยสนับสนุนขึ้นเป็นนายกฯ เพื่อไปร่วมงานการเมืองกับพรรครวมไทยสร้างชาติ

6. แม้จะมีเหตุผลที่หลายคนเห็นว่า พล.อ.ประวิตร ควรหยุด และกลับไปใช้ชีวิตสบาย ๆ แต่ที่ตัดสินใจทำงานต่อ เพราะผูกพันกับคนที่ร่วมสร้าง “พรรคพลังประชารัฐ” ขึ้นมาเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลบริหารประเทศครบ 4 ปีเต็ม ๆ ทุกคนล้วนมีความหวัง มีความฝันจะทำงานการเมืองต่อไป จึงไม่คิดแค่เอาตัวรอด ทิ้งเพื่อนพ้องน้องพี่ที่ร่วมสร้างพรรคด้วยกันมา

7. คิดถึงทางออกของชาติบ้านเมืองว่าควรจะทำอย่างไรกันดี เป็นการทบทวนจากประสบการณ์ชีวิต แล้วหาข้อสรุปว่าเกิดอะไรกับประเทศ โดยคนกลุ่มหนึ่งซึ่งมีบทบาทสูงต่อความเป็นไปของประเทศ หรือจะเรียกให้เข้าใจง่ายว่า “กลุ่มอีลีท” ผู้มีอิทธิพลต่อการกำหนดความเป็นไปของประเทศ มองความเป็นมาและพฤติกรรมนักการเมืองด้วยความไม่เชื่อถือ ลามไปสู่ความข้องใจใน “ประชาธิปไตย” และความรู้ของประชาชน ในการเลือกนักการเมืองเข้ามาบริหารประเทศ

8. ความไม่เชื่อมั่นต่อนักการเมือง และการเลือกของประชาชน ทำให้ผู้มีบทบาทกำหนดความเป็นไปของประเทศเห็นดีเห็นงามกับการหยุดประชาธิปไตย เพื่อ “ปฏิรูป” หรือ “ปฏิวัติ-รัฐประหาร” กันใหม่ หวังแก้ไขให้ดีขึ้น แต่ไม่สำเร็จ!

9. หลังจาก พล..ประวิตร เข้ามาทำงานร่วมกับนักการเมือง และตั้งพรรคการเมือง จนมาเป็นหัวหน้าพรรค จึงได้รับประสบการณ์อีกด้าน ทำให้เข้าใจถึงความจำเป็นที่จะต้องนำพาประเทศไปด้วย “ระบอบประชาธิปไตย” เพราะในความเป็นจริงทางการเมือง ไม่ว่านักการเมืองส่วนใหญ่จะเป็นอย่างไร แต่ที่สุดแล้วอำนาจการบริหารประเทศต้องกลับเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตย ส่วนผู้ที่มีอำนาจตัดสินว่าจะให้ใครเป็นรัฐบาลบริหารประเทศก็คือ “ประชาชน”

โดยมีความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ นั่นคือในการเลือกตั้งทุกครั้ง “ผู้ยึดครองอำนาจด้วยวิธีพิเศษ” จะตั้ง “พรรคการเมือง” ขึ้นมาสู้ แม้จะหาทางได้เปรียบในกลไกการเลือกตั้ง แต่ผลที่ออกมา “ฝ่ายอำนาจนิยม” จะพ่ายแพ้ต่อ “ฝ่ายประชาธิปไตยเสรีนิยม” ทุกคราว โดยความรู้ความสามารถของ “กลุ่มอีลีท” ทำให้ประชาชนศรัทธาได้ไม่เท่ากับนักการเมืองที่คลุกคลีกับชาวบ้านจนได้รับความรัก ความเชื่อถือมากกว่า นี่คือต้นตอปัญหาที่สร้างความขัดแย้ง ขยายเป็นความแตกแยก ระหว่าง “ฝ่ายอำนาจนิยม” กับ “ฝ่ายเสรีนิยม” ที่หาจุดลงตัวร่วมกันไม่ได้

10. แม้ “จิตวิญญาณ” ของ พล.อ.ประวิตร ยังมั่นคงกับ “สำนึกอนุรักษนิยม” แต่ความเข้าใจต่อความจำเป็นที่ประเทศต้องเดินหน้าไปด้วย “ประชาธิปไตยเสรีนิยม” ได้เกิดขึ้นอย่างลึกซึ้ง.

—————————
พยัคฆ์น้อย