วันที่ 5 มี.ค. ถือเป็น วันนักข่าวของไทย กำหนดวันนี้เนื่องจากเป็น วันก่อตั้งสมาคมนักข่าวไทย ซึ่งต่อมากลายเป็นสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จริงๆ วาระที่เขาต้องเคลื่อนไหวกันหนักๆ ช่วงนี้คื การต่อต้านร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. … ซึ่งจะมีการตั้งสภาสื่อมวลชนขึ้นมากำกับดูแลเนื้อหาสื่อที่ “ไม่ถูกต้องเหมาะสม” โดยอำนาจลงโทษของสภาฯ สูงสุดคือ การประจาน

ที่เขาค้านกันเพราะ ลักษณะสื่อมวลชนปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปแล้ว…ง่ายๆ มียูทูบ ติ๊กต็อก เฟซบุ๊ก ใครๆ ก็เป็นสื่อได้ แล้วทีนี้ การควบคุมจะเข้าไปสู่ตรงนั้นได้หรือไม่ เพราะพวก “ทำสื่อเอง” บางทีก็เป็น พวกปั่นข่าวลวง ข่าวปล่อย ยิ่งช่วงที่มีความขัดแย้งทางการเมือง การนำเสนอของ “สื่อบางจำพวก” เลือกที่จะละทิ้งความจริงรอบด้าน แต่เสนอย้ำสิ่งที่ตรงกับอุดมการณ์ความเชื่อของตัวเองเท่านั้น หรือหนักไปถึงปล่อยข่าวลวง ตัดต่อคลิปทำลายฝ่ายตรงข้าม พวกนี้จะควบคุมอย่างไร? หรือต้องรอให้มีเจ้าทุกข์ฟ้องตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ หรือพวกนี้ต้องลงทะเบียนสื่อมวลชนด้วย? แล้วถ้าเขาไม่ลง เพราะอ้างสิทธิเสรีภาพทางการสื่อสาร ทำอย่างไร?

แล้วอีกอย่างหนึ่ง เขากลัวเรื่ององค์ประกอบของสภาฯ ที่ว่าจะมีคนของภาครัฐเข้าไปแทรกแซงเรื่องการเสนอข่าว เงินสนับสนุนสภาฯ ก็มาจาก กสทช. ..และมีโอกาสที่จะควบคุม “สื่อมวลชน” คือสื่อที่มีองค์กรชัดเจน มีบรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณารับผิดชอบเนื้อหาข่าวได้หรือไม่? กฎหมายฉบับนี้จริงๆ จะเข้าสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ตั้งแต่สมัยรัฐบาล คสช. แล้ว แต่ถูกคัดค้าน เรียกร้องให้ทบทวนมาก เรียกว่า “กฎหมายปิดปากสื่อ” ต่อไปเสนอข่าวอะไรรัฐบาลไม่ชอบใจ สภาฯ ตีความเป็น “กระทบต่อความมั่นคงและศีลธรรมอันดี” หมด ทำอย่างไรล่ะ

เรื่องของกฎหมายก็ว่ากันไปสมัยรัฐบาลหน้า เพราะสภาฯ จะหมดอายุอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม ที่น่านำมาชวนคุยกันวันนี้คือเรื่องการทำงานของสื่อมวลชน …อาชีพนี้ได้ชื่อว่าอาชีพ “กระโถนท้องพระโรง” อยู่พอสมควร ประเภททำดีก็เสมอตัว ทำชั่วคนจำด่าไปอีกนาน และเป็นอาชีพที่ถูกวิจารณ์มากที่สุด โดยเอาอารมณ์ และอุดมการณ์ของผู้วิจารณ์เป็นที่ตั้ง อย่างเช่น คุณชอบพรรคการเมือง ก. แต่สื่อเสนอข่าวพรรคการเมือง ก. ในแง่ไม่ดี ทั้งที่มันเป็นข้อเท็จจริงที่ผ่านการตรวจสอบมาแล้ว คุณก็ยังว่า “สื่อเสี้ยม” และบอกว่า สื่อไม่น่าเชื่อถือ

บางคนประกาศ “ความฉลาด” ของตัวเองลงอินเทอร์เน็ตบ่อยๆ ว่า “สื่อนี้เหรอ ข่าวแบบนี้เหรอ ฉันไม่เสพหรอก” แต่ก็อารมณ์แบบเกลียดตัวกินไข่ คือจริงๆ ดู ตามติดแหละแต่ทำไม่ยอมรับ ..หลายคนคาดหวังเรื่อง “สื่อต้องนำเสนออะไรที่มีสาระ‘กว่านี้’” ซึ่งคำว่า ‘กว่านี้’ ไม่รู้ขอบเขตสาระที่ว่าเขาต้องการระดับไหน อย่าลืมคำว่า สื่อ ‘มวลชน’ หมายถึง การเผยแพร่เนื้อหาออกไปในระดับวงกว้างที่เรื่องมันจะเข้าใจยากอย่างไรก็ตามก็ต้องย่อย ต้องวิเคราะห์ให้เข้าใจทั่วถึงกัน ถ้าจะเอาสาระหนักๆ แนะนำว่า น่าจะไปหารายงานการวิจัย journal อะไรต่างๆ มาอ่าน

สิ่งที่ต้องกลับมาทำความเข้าใจเกี่ยวกับสื่อมวลชนคือ “สื่อมวลชนมีเนื้อหาหลากหลาย” ทั้งเป็นข่าว ทั้งไม่เป็นข่าว แต่เป็นเนื้อหาปกิณกะ บันเทิง ตอบสนองความสนใจของคนบางกลุ่ม ..แล้วคำว่า ‘ข่าว’ คืออะไร ตอบแบบกลับสู่สามัญเลยคือ ‘เรื่องของคนอื่นที่ถูกบอกเล่ามา’ ก็ถ้าเรื่องของเรามันเรียกว่าเรื่องส่วนตัว อะไรเป็นข่าวได้ก็ต้องผ่านการ ‘ไขข่าว’ หรือการบอกเล่า การเผยแพร่ข่าวไม่จำเป็นต้องเป็นพื้นที่สื่อมวลชน ปากต่อปากในชุมชนเล่าสู่กันฟังก็เป็นข่าว

แต่เมื่อมาถึงความเป็นสื่อมวลชน ก็มีองค์ประกอบเข้ามากำกับข่าวเข้าไปอีก ..ข้อมูลข่าวสารของแต่ละวันมีจำนวนมหาศาล ก็ต้องเลือกอะไรที่สำคัญ อันดับแรกคือ

1. ผลกระทบต่อประชาชนและสังคม เช่น ข่าวการแพร่ระบาดของโรค ข่าวการขึ้นราคาสินค้า
2. ข่าวเกี่ยวกับการเตือนภัย เช่น ข่าวเล่ห์เหลี่ยมแกงค์คอลเซนเตอร์ ข่าวพบปลาหมึกบลูริงมีพิษมาขายในตลาด
3.ข่าวเพื่อนำไปสู่การมีประชามติต่อเรื่องใดๆ เรื่องหนึ่ง เช่น ข่าวนโยบายรัฐบาล เพื่อให้ประชาชนแสดงความเห็นผ่านช่องทางต่างๆ สะท้อนไปยังรัฐบาล อย่างเช่น ข่าวลงทุนในไทย 30 ล้านมีสิทธิซื้อที่ดิน ก็เป็นข่าวที่ทำให้เกิดประชามติว่าประชาชนไม่เห็นด้วย กรณีนี้คิดว่ารวมถึงข่าวการเมืองเกี่ยวกับการหาเสียงเลือกตั้ง ที่เสนอตัวเลือกในรูปแบบนโยบาย นำไปสู่ประชามติของประชาชน
4. ข่าวที่บอกเล่าความเป็นไปของสังคม ซึ่งอาจมีความสำคัญต่อคนบางกลุ่มโดยตรง หรือแค่ให้คนบางกลุ่มรับรู้ว่ามีปัญหานี้ มีเรื่องนี้เกิดขึ้น แล้วนำไปต่อยอดความคิดเอง เช่น ข่าวเรื่องการไล่ที่ชุมชนรถไฟ
5.ข่าวปกิณกะ บันเทิง เล่าเรื่องคนดัง เรื่องอะไรที่เป็นเทรนด์ของสังคม ให้คนอ่านข่าวรู้ว่ากระแสต่างๆ ปัจจุบันเป็นอย่างไรบ้าง เช่น ข่าวละครเรื่องไหนที่กำลังเป็นกระแสฟีเวอร์อยู่ในสังคม และเกิดการเลียนแบบตัวเอก แฟชั่นแบบไหนที่กำลังฮิต

ซึ่งก็เลือกเสพได้ตามความพึงใจ เพราะสื่อมวลชนที่เป็นสื่อมวลชนจริงๆ ไม่ใช่สื่อเฉพาะกิจเพื่อรณรงค์เรื่องใดเรื่องหนึ่ง ก็มีความหลากหลายของเนื้อหา แถมเดี๋ยวนี้มีช่องให้แสดงความคิดเห็นในโซเชียลฯ ถ้าอ่านแล้วมีความเห็น หรือคิดว่า สื่อควรทำการบ้านประเด็นใดเพิ่มเติมก็เสนอเข้าไปได้ เพราะคนองค์กรสื่อก็ไม่ใช่ว่าจะรู้อะไรรอบด้านไปเสียหมด มันได้เปรียบกว่าคนอื่นตรงที่อาศัยความเป็นองค์กรในการเข้าหาแหล่งข่าวและได้รับความไว้วางใจแค่นั้นแหละ

หลังๆ มานี่ มักจะเจอความเห็นเกรียนๆ ในข่าวประเภท “ข่าวแบบนี้กูต้องรู้ไหม”, “ข่าวนี้สังคมได้อะไร” ก็ต้องถามกลับไปยังคนแสดงความเห็น ว่า “ไม่ถูกจริตแล้วอ่านทำไม?” อย่างที่บอกคือเนื้อหาสื่อมีเยอะแยะ เลือกอ่านที่ตัวเองชอบไปและแสดงความเห็นไป ไมใช่มาด้อยค่าสื่อหรือคนที่เขาสนใจข่าว .. เอาจริง บางข่าวนั้นมีมิติทางสังคมซ่อนอยู่เยอะ ถ้าคนอ่านจะคิดตาม ไม่ใช่แบบ..พอเห็นกระแสเทไปสนใจข่าวนี้ก็หมั่นไส้ มาถามหาว่าข่าวมีประโยชน์อะไร

ล่าสุด มีข่าวเยาวชนวัย 18 ปี มีลูกเล็ก แล้วลูกก็หายไป ล่าสุด หญิงสาวยอมรับสารภาพว่า พลั้งมือทำลูกตก แล้วเอาไปทิ้งน้ำ .. มันก็คงจะมีคนที่สงสัยว่า คดีแค่นี้ทำไมเกาะติดจัง ก็เพราะ มันมีคุณสมบัติความเป็นข่าว คือ มันมีความไม่ชอบมาพากล เด็ก 8 เดือนอยู่ๆ หายไปได้อย่างไร เมื่อสืบค้นลึกลงไปก็เจอปัญหาเกี่ยวกับครอบครัวแม่เด็กอย่างที่คาดไม่ถึง ..

ถ้าเรามองแค่เป็นข่าว “แม่ใจยักษ์” มันก็จบแค่นั้นแหละ.. แต่บางเรื่องมัน “สองคนยลตามช่อง” มันสามารถขยายประเด็นได้หลายอย่าง ทั้งเรื่องปัญหาแม่ท้องไม่พร้อม ในสังคมไทยปัจจุบันยังมีเยอะอยู่หรือไม่ เมื่อท้องไม่พร้อมก็เลี้ยงไม่ดี เด็กโตมากลายเป็นประชากรไร้คุณภาพในอนาคต .. ลองไปสำรวจดูตามแหล่งชุมชนแออัด พวกเยาวชนมีลูกตั้งแต่อายุไม่เท่าไรมีมากน้อยแค่ไหน แล้วเลี้ยงดูอย่างไร เลี้ยงดูเองหรือส่งให้คนแก่ในบ้านเลี้ยง .. แล้วเยาวชนพวกนี้มีปัญหาเรื่องวุฒิการศึกษาในสังคมต้องจบ ป.ตรี หรือไม่ หางานได้ตามปกติหรือไม่ ..ถ้าต้องไปขายบริการทางเพศ มีปัญหาเรื่องการเข้าถึงการตรวจโรค การป้องกันตัว ตลอดจนความรู้เรื่องนี้มากน้อยแค่ไหน

หรือมองในประเด็นที่แคบลงมา ปัญหาแม่เลี้ยงลูกไม่ได้ เพราะอาการซึมเศร้าหลังคลอด หรือที่เรียกว่า baby blue ในปัจจุบัน แม่มือใหม่เผชิญปัญหานี้มากน้อยแค่ไหน และหาทางออกอย่างไร ถ้าพบว่าปัญหามีมาก จิตแพทย์ในการรับมือเรื่องนี้มีพอหรือไม่ ..เอาจริง หลายเรื่องมันมีประเด็นให้ขยายความได้ตั้งเยอะ ไปจนถึงระดับสังคมมหภาคด้วยซ้ำ อย่างข่าวดาราอวดรวย ก็กำลังโดนขยายข่าวไปถึงเรื่องของที่มาของเงินที่แท้จริง หรือมองเชิงทฤษฎีวิพากษ์คือเรื่องความเหลื่อมล้ำในสังคม เรื่องการสร้างมายาคติให้เกิดการบริโภคเกินความจำเป็น นำมาสู่ปัญหาหนี้สิน และเลยเถิดไปหนี้นอกระบบ

ในหลายๆ เรื่องที่เป็นข่าว มันมีอะไรอยู่ใต้พื้นผิวทั้งนั้น ลองอ่านอย่างวิเคราะห์แล้วคิดแค่ถอดรหัสออกมาดูว่า มันกำลังอธิบายว่า “สังคมเราตอนนี้เป็นแบบไหน” .. แต่ที่ต้องขึ้นหัวว่า “แทบทุกข่าว” เพราะอะไรที่เสนอหน้าต่อสื่อมวลชน บางเรื่องคิดให้หัวแทบแตกก็คิดไม่ออก ว่า จะนำเสนอเพื่อ? ตัวอย่างเช่นข่าวนายไชย์พล วิภา แห่งบ้านกกกอก หรือข่าวครูปรีชาหวย 50 ล้าน ที่บางสื่อตะบี้ตะบันเล่นข่าวอยู่ไม่รู้แล้วเหมือนไม่รู้ว่าจะเอาอะไรมาเล่น  ..เราได้เจอข่าวอันน่าอัศจรรย์มากมายจากคดีนายไชย์พล เช่น ข่าว “ลุงพลกินตีนไก่” ..แบบว่า การกินตีนไก่นี่จนด้วยเกล้า ไม่รู้จะถอดรหัสในข่าวอย่างไร ..ทำใจเสียว่าเรื่องมันเกิดช่วงโควิด เขาคงไม่มีอะไรเล่น เลยไปทำเรียลิตี้บ้านกกกอก ..ฟ้องเรื่องความหิวแสงที่ชาวบ้านบางคนก็เกาะนายไชย์พลหากินเป็นอินฟลูเอนเซอร์ ซึ่งความหิวแสงนี่อาจเป็นเทรนด์ในอนาคตที่ทุกคนก็อยากมีตัวตนก็ได้

มองข่าว มองลึกๆ รอบด้าน เราจะพบความน่าสนใจที่ซ่อนอยู่ในข่าวที่เราว่าไร้สาระก็ได้

………………………………………………………
คอลัมน์ : ที่เห็นและเป็นอยู่
โดย “บุหงาตันหยง”