การเลือกตั้งใหม่ที่กำลังจะมาถึง สนามนี้จึงเป็นพื้นที่ “ท้าทาย” โดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์ จะ “ทวงคืน” หรือ “ดับสูญ” ต่อไป “ผ่าสนามฯ” ทุกวันศุกร์ นับจากสัปดาห์นี้ ชวนพูดคุยกับ “หัวหอก” สู้ศึกเมืองหลวง แต่ละพรรคการเมืองวางทิศทางแข่งขันกันไว้อย่างไร เริ่มต้นพรรคแรกกับประชาธิปัตย์ ซึ่ง “บาดเจ็บ” หนักสุดครั้งที่ผ่านมา รอบนี้ได้คนรุ่นใหม่ นำทีมโดย ดร.เอ้ หรือ พี่เอ้ “สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์” ในฐานะประธานคณะทำงานนโยบาย กทม. พรรคประชาธิปัตย์ มาเผยถึงการเดินเกมช่วงชิงคะแนนเสียงคนกรุง

ยุทธศาสตร์เจาะพื้นที่เมืองหลวง

นายสุชัชวีร์ เผยว่า พรรคประชาธิปัตย์ยึดมั่นอุดมการณ์เป็นตัวแทนที่แท้จริงแก่ประชาชน ตนเป็นผู้ดูแลนโยบาย ย้ำว่าอุดมการณ์คืออยากให้คน กทม. มีคุณภาพชีวิตดีทั้งใน กทม. และปริมณฑล ปัจจุบันจะขีด กทม. 50 เขต 33 ผู้แทนอาจไม่ใช่ เพราะเกี่ยวพันกับคนที่อยู่โดยรอบ ซึ่งมีปัญหาเกี่ยวพันกันหลายเรื่อง

นโยบายที่จะทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น ส่วนตัวเชื่อว่าทุกพรรครู้ถึงปัญหา ตั้งแต่ลงผู้ว่าฯ กทม. โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ (New Voters) มาแรงสุดคือ “สิ่งแวดล้อม” สมัยก่อนอาจไม่ใช่ เพราะความเลวร้ายด้านสิ่งแวดล้อมยังไม่มาก อีกทั้งเรื่อง “พื้นที่สีเขียว” เรื่อง “ความปลอดภัย” ไม่ใช่ทุกพรรคจะพูดแล้วทำได้ เพราะเป็นปัญหาที่มีรายละเอียดเชิงเทคนิค

ขณะที่เรื่อง “ปากท้อง” กทม. มีความเหลื่อมล้ำเยอะ ทั้งค่าครองชีพ ค่าที่พัก ค่าน้ำมัน และอีกเรื่องที่ติดอันดับตลอดคือ “การศึกษา” เพราะทุกคนรู้ว่าการศึกษาเป็นต้นตอของทั้งปัญหาความยากจน การถูกหลอกถูกเอารัดเอาเปรียบ รวมทั้งการจะยกระดับชีวิตให้อยู่อย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีศักดิ์ศรีในการดำรงชีวิต

ความคาดหวัง เป้าหมาย และจำนวนเก้าอี้

การเลือกตั้งครั้งนี้จะส่ง กทม. ครบ 100% และมองชีวิตต้องมีเป้าหมาย มีความคาดหวัง แต่อย่างที่รู้ การเมืองใน กทม. เป็นการเมืองท้าทายที่สุดในโลก เดาใจยาก สุดท้ายแล้วอาจจะเป็นแค่ไม่กี่ชั่วโมง หรือหลายคนเข้าไปในคูหาแล้วยังคิดไม่ออกว่าจะเลือกใคร หน้าที่เราก็คือต้องมุ่งมั่นทำเต็มที่ ทำนโยบายอย่างพรรคการเมืองโดยแท้จริงที่มีอุดมการณ์ ไม่ใช่ทำแต่เพียงฉาบฉวยเป็นนักเลือกตั้ง

ส่วนตัวแทนที่ส่งลงทั้ง 33 เขต นายสุชัชวีร์ กล่าวว่า เป็นผู้ที่ครบถ้วน ในที่นี้คือมีทั้งคนที่อยู่ในพื้นที่มาตลอด เคยเป็นทั้งสภาเขตกรุงเทพมหานคร (ส.ข.) สภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) หรือแม้กระทั่งเป็นอดีต ส.ส. บุคคลเหล่านี้อยู่ในพื้นที่ เรียกว่าเป็นกลุ่มคนที่รู้ลึกซึ้งในพื้นที่ พรรคเองภูมิใจที่คนเหล่านี้ยังเลือกอยู่กับพรรค

ต่อมาคือคนรุ่นใหม่ เป็นกลุ่มคนที่มีความคิด เปิดกว้าง มีความทันสมัย เป็นมืออาชีพ เป็นคนที่ยังมีแรงและเป็นหน้าใหม่ทางการเมือง และอีกกลุ่มหนึ่งคือคนที่เคยได้ยินชื่ออยู่ แต่ไปทำงานการเมืองในหลาย ๆ ที่มาก่อน สุดท้ายมองเห็นอุดมการณ์ของประชาธิปัตย์ก็มาร่วมงานกัน พรรคจึงมีครบทั้ง 3 กลุ่ม ซึ่งก็คาดหวังทั้ง 3 กลุ่มเช่นกัน 

นโยบายดึงดูดคะแนนคนกรุง

“นักการเมือง” ต้องไม่ใช่ “นักเลือกตั้ง” นายสุชัชวีร์ให้คำจำกัดความตัวเองว่าเป็นคนทำงานการเมือง เป็นมืออาชีพทางด้านการศึกษา ด้านวิศวะทางเมือง ทางด้านเทคโนโลยีเป็นอาชีพ เป็นวิชาที่ทำมาหาเลี้ยงชีพ หรือทำงานประสบความสำเร็จก่อนจะมาทำงานการเมือง เพื่อนำความสามารถไปเปลี่ยนแปลงประเทศ แต่นักเลือกตั้งจะคิดว่าทำยังไงก็ได้ วิธีการใดก็ได้ให้คนมาเลือก

“เราอยากเป็นพรรคที่สร้างคนทำงานการเมืองอย่างมืออาชีพ แต่จะทำอย่างไรให้ความเป็นมืออาชีพของเรา คนเข้าใจและมาเลือก ถ้าเกิดเราไม่มีความเป็นมืออาชีพ ไม่เข้าใจปัญหาอย่างลึกซึ้ง แค่ฉาบฉวย เราก็จะเป็นเหมือนนักเลือกตั้งที่ไม่ต้องไปคิดอะไร คนอื่นให้ 10 บาท เราให้ 12 บาท ก็มากกว่าแล้ว”

พรรคทุ่มเทนโยบายเรื่องสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย จะเป็นพรรคที่มีความมั่นคงในการแก้ปัญหามลพิษ โดยเฉพาะมลพิษทางอากาศ  เรื่องน้ำท่วมที่ซ้ำซาก จริง ๆ บทบาทพรรคการเมืองในระดับประเทศ จะไปช่วยเติมให้ กทม. และปริมณฑล ปัญหาเหล่านี้ต้องใช้พรรคการเมืองระดับประเทศมาช่วยผลักดันทั้งงบประมาณ การบูรณาการ

ส่วนเรื่องการศึกษา ซึ่งนโยบายที่ตนดูแลคือ เรียนฟรีจนจบปริญญาตรี ถือเป็นนโยบาย “หัวหอก” ที่ทำมาตลอด เชื่อว่าคน กทม. ซึ่งสนใจเรื่องการศึกษาจะถูกใจ

แผนรับมือการลงคะแนนที่ “เดาใจ” ยาก 

ยอมรับคะแนนเสียงของคน กทม. ไม่มีใครรับมือได้  ถ้ารับมือได้จะไม่มีการ “สวิง” ขึ้นลงของคะแนน แต่สิ่งที่เชื่อคือ ต่อให้การเมืองแบบแบ่งฝักแบ่งฝ่ายยังฝังรากลึกในสังคมไทย ก็ยังมีอะไรที่ทับซ้อนกัน ส่วนตัวไม่ชอบการทำงานแบบแบ่งฝักแบ่งฝ่าย เพราะทำให้การทำงานการเมืองเป็นแบบไม่มีความหวัง ทำดีอย่างไรก็ไม่เลือกเรา หรือคนที่ทำไม่ดีอย่างไรก็ยัง “ทู่ซี้” เลือกอยู่ ทำให้คนที่เป็นมืออาชีพ ไม่ออกมาทำงานการเมือง เพราะคนเหล่านั้นเห็นแบบนี้แล้วว่าแบ่งฝักแบ่งฝ่าย

ไม่ว่าจะมีรสนิยมทาง การเมืองอย่างไร แต่ก็อยากให้ปัญหาต่าง ๆ ใน กทม. ทั้งสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย การศึกษาถูกแก้ไขปรับปรุง ผมเชื่อว่ายังมีกลุ่มตรงนี้อยู่ และกลุ่มนี้อาจเป็นกลุ่มที่สวิงข้ามฝั่งได้

ทิศทางคว้าคะแนน New Voters

New Voters เป็นกลุ่มที่ท้าทายมาก เพราะว่าพรรคที่จะจับกลุ่มนี้จะใช้อารมณ์เป็นที่ตั้ง มีการปั้นอารมณ์ ในที่นี้เป็นอารมณ์เกลียดชัง ซึ่งอันตรายต่อสังคมไทยมาก แต่ก็หวังว่าสิ่งที่พรรคทำจะโดนใจลึก ๆมากกว่าโดนอารมณ์ ทั้งนี้ เข้าใจว่าน้อง ๆ เหล่านี้อยากเห็นประเทศดีขึ้นล้านเปอร์เซ็นต์ ต้องการเห็นชีวิตเขาเองอยู่อย่างมีคุณภาพชีวิต  

สุดท้าย แม้ปัญหาของ กทม. จะมีความเหมือนกัน ไม่ว่าจะเลือกตั้งใหญ่หรือเลือกตั้งท้องถิ่น แต่บทบาทของการเลือกตั้งใหญ่ กับการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ต่างกัน บทบาทผู้ว่าฯ แก้ไม่ได้จริง ๆ หรือหากแก้ได้ ก็ไม่มีประสิทธิภาพ ยกตัวอย่าง ผู้ว่าฯ กทม. อาจจะแก้ปัญหาน้ำท่วมจากน้ำฝนได้ แต่ไม่มีทางจะแก้ปัญหาจากน้ำหนุน จากน้ำเหนือได้เบ็ดเสร็จ หากไม่ได้กำลังสนับสนุนจากระดับประเทศ

ส.ส. หรือผู้แทน จะไปผลักดันทั้งเรื่องกฎหมาย ทั้งการบริหาร หากได้ ส.ส. ที่มีความรู้ และมีความเข้าใจปัญหาแก่นแท้จริง ๆ จะผลักดันการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งพรรคมีความพร้อม.