ทิศทางนโยบายระยะยาวจึงจำเป็นต่ออนาคต และเป็นเรื่องที่ต้องผลักดันความสนใจสู่เวทีเลือกตั้งให้มากที่สุด “ประชาธิปไตยยืนหนึ่ง” พูดคุยสภาพปัญหา ชวนวิเคราะห์นโยบายพรรคการเมืองที่เปิดไว้เป็นจริงได้แค่ไหน พร้อมข้อเสนอแนะด้านใดควรผลักดันเร่งด่วน ด้านใดต้องเด็ดขาดกับ ดร.พิรียุตม์ วรรณพฤกษ์ นักวิชาการสิ่งแวดล้อม ที่ปรึกษาโครงการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย
ดร.พิรียุตม์ เผยว่า ปัจจุบันเรื่องสิ่งแวดล้อมมีหลายอย่างเป็นปัญหาและน่ากังวล เช่น หากพูดถึงการจัดการขยะ ซึ่งถูกถ่ายโอนจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ไปกระทรวงมหาดไทย ผิวเผินอาจดีแต่เอาเข้าจริงมีปัญหาเยอะมาก ยกตัวอย่าง หากย้อนกลับไปช่วง คสช. มีอำนาจ รัฐบาลขณะนั้นออก “โรดแม็พ” ที่เรียกว่า การจัดการขยะ มีความพยายามสร้างไกด์ไลน์จัดการขยะที่ดี ผ่านหัวข้อหลัก เช่น
1.พยายามทำให้กองขยะที่กระจัดกระจายหายไปก่อน ในยุคนั้นดูเหมือนเข้มแข็ง 2.เน้นนโยบายนำขยะไปทำพลังงานที่เรียกว่า “Waste to Energy” หากรัฐลงทุนเองก็มีเงินไม่พอ จึงส่งเสริมเอกชนร่วมทุน แต่ละโครงการก็ต้องมีขนาดใหญ่พอสมควรเพื่อให้เกิดค่าตอบแทน ขณะเดียวกันก็ไปผลักดันให้กระทรวงพลังงานรับซื้อไฟในราคาที่ทำให้ตัวโครงการได้รับผลตอบแทนที่คุ้มค่า
หลังจากส่งเสริมเอกชนเข้าร่วมและทำให้ต้องทำโครงการให้มีขนาดใหญ่จึงเป็นที่มาของการรวมกลุ่มพื้นที่ในการจัดการมูลฝอย (Clusters) ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อทำให้กองขยะเป็นกองใหญ่ มีปริมาณมากพอไปป้อน “Waste to Energy” ที่เอกชนลงทุน
ความวุ่นวายมันคือการจัด Clusters แล้วเอกชนหลายรายที่ไม่เข้าใจเรื่องนี้ ยังพูดกันถึงเรื่องโรงไฟฟ้าขยะเอามาเป็นเชื้อเพลิง แล้วความไม่ชัดเจนของภาครัฐ ความไม่เข้าใจของเอกชน ก็ไปทำให้ท้องถิ่นมั่วไปด้วย ดังนั้น จึงได้เห็นในบางจังหวัดแบ่ง Clusters กันวุ่นวายไปหมด เพื่อที่จะทำให้กองขยะมีขนาดใหญ่และทำให้เอกชนเข้ามาลงทุน อย่างไรก็ตาม สังคมเองก็มี “ดิสก์เบรก” คือชาวบ้านหลาย ๆ โครงการก็ขึ้นไม่ได้เพราะชาวบ้านไม่เอาด้วยก็ยกเลิก
สำหรับ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ซึ่งเป็นวิกฤติที่โลกร้อนขึ้น ดร.พิรียุตม์ ระบุ มีการพูดคุยดำเนินการแก้ปัญหามาเกือบ 30 ปี หรือ “3 ทศวรรษ” ก็ยังแก้ไม่ได้ อย่างการประชุม COP26 หรือการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) ที่เมืองกลาสโกว์ สกอตแลนด์ มีข้อสรุปที่น่าสนใจ 2-3 เรื่อง เรื่องแรกคือ Fadeout ถ่านหิน คือ ต้องยกเลิกการนำถ่านหินมาเป็นเชื้อเพลิง ก็สัมพันธ์กับนโยบายของรัฐบาลที่ผ่านมา
ดังนั้น จะเห็นได้ว่าแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย ที่เรียก PDP ล่าสุดจะไม่มีโรงไฟฟ้าถ่านหิน ตรงนี้มาจาก 2 ด้าน คือ ภายในประเทศ ชาวบ้านก็ต่อต้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน อีกด้านหนึ่งมาจาก Commitment ในเวทีโลกที่จะให้ Fadeout ถ่านหิน
อีกเรื่องคือ ยกเลิกเครื่องยนต์สันดาป นั่นก็คือรถยนต์ที่ใช้อยู่ ปัจจุบันไปใช้รถยนต์ไฟฟ้า (EV) แทน เพราะภาคการขนส่งก็เป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งคงต้องถามว่าขณะนี้ประเทศไทยมีความพร้อมด้านรถ EV ขนาดไหน อีกเรื่องคือ ต้องไม่ทำลายป่า ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นข้อสรุปที่ย้ำกันมากในการประชุม COP26
“ถ้าเราดูสถานการณ์ปัจจุบันนี้ โลกถูกใช้มาอย่างสะบักสะบอมแล้ว มันก็เกิดวิกฤติการณ์เยอะไปหมด เช่น สภาพการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ มันอยู่ในขั้น Extream แล้วมันก็จะรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ จากนี้ไปจึงเป็นเหมือนการเยียวยาโลก หรือการสร้างสมดุลใหม่ของโลกใบนี้”
จากนโยบายสิ่งแวดล้อมที่เริ่มหาเสียงกันออกมา ดร.พิรียุตม์ มองในภาพรวมเห็นว่าหากพูดถึงนโยบายของพรรคการเมืองที่ต่อไปจะเข้าไปเป็นรัฐบาล และอยากเดินหน้าแก้ปัญหาจริงจังจะต้องหยิบเอาความมุ่งมั่น (Commitment) ที่ประเทศไทยเคยให้ไว้กับเวทีโลก ถึงจะเป็นผู้นำคนไหนเป็นผู้ไปตกลงไว้ต่างก็ไปในฐานะตัวแทนของประเทศไทย เช่น จะเป็น “Net Zero Carbon” ภายใน 40-50 ปีข้างหน้า เรื่องนี้มีความจำเป็นต้องมาทำให้เห็นผลกันต่อ เพราะด้านสิ่งแวดล้อมถือว่าเรื่องนี้สำคัญที่สุด
“ที่ผ่านมารัฐไม่เคยให้ความรู้ ความเข้าใจเรื่อง Net Zero Carbon และคาร์บอนเครดิตกับชาวบ้านเลย เพราะฉะนั้นในกระบวนการหาเสียงเลยทำให้ไม่มีเรื่องเหล่านี้ขึ้นมา เพราะนักการเมืองรู้สึกว่าพูดไปชาวบ้านคงไม่รู้เรื่อง ซึ่งจริง ๆ แล้วรู้เรื่องหรือไม่รู้เรื่องก็ไม่รู้ เพราะยังไม่เคยมีใครลองหาเสียงเรื่อง Net Zero Carbon เลย กระบวนการหาเสียงจึงมีแต่เรื่องที่เป็นประชานิยม”
ทั้งนี้ ก่อนที่จะพูดเรื่องดังกล่าวได้ ดร.พิรียุตม์ กล่าวว่า ต้องทำความเข้าใจถึง Net Zero Carbon ที่ไป Commitment ไว้ คืออะไรถึงจะมาตอบคำถามเรื่องคาร์บอนเครดิตได้ ยกตัวอย่าง การไปสู่ Net Zero Carbon เช่น ขีดวงแค่ประเทศไทยอย่างเดียว คือกิจกรรมอะไรก็แล้วแต่ที่ทำให้เกิดคาร์บอนฯ เช่น โรงไฟฟ้า รถยนต์ เรื่องการขนส่ง เรื่องขยะ ที่ทำให้เกิดคาร์บอนฯ ไปสู่ชั้นบรรยากาศ 1 ปีจะมีก้อนหนึ่งไม่รู้จำนวนเท่าไหร่ สมมุติว่า 1 แสนตัน ก็ต้องกลับมาดูว่ามีกิจกรรมอะไรที่ช่วยดูดซับคาร์บอนฯ ลงมาได้
ปัญหาคือขณะนี้ไม่มีหน่วยงานไหนออกมาบอกว่า ตอนนี้ปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ มากกว่าขีดความสามารถในการดูดซับคาร์บอนฯ เท่าไหร่แล้ว ทำอะไรกันบ้างเพื่อไปถึง Net Zero Carbon ที่ผ่านมายังไม่มีใครมาคลี่แผนปฏิบัติการนี้เลย ส่วนการจะทำเรื่องคาร์บอนเครดิต ปัญหาก็คือพูดกันง่ายแต่ทำยาก เพราะไม่มีใครที่จะไปเดินดูได้ว่าบ้านนี้ปลดปล่อยคาร์บอนฯ เท่าไหร่ เพราะมันไม่มีมิเตอร์วัด ขณะนี้ประเทศไทยต้องมีฐานข้อมูลชัดเจนว่าปล่อยคาร์บอนฯ กับดูดซับคาร์บอนฯ แตกต่างกันอยู่เท่าไหร่
หากทำให้ง่ายขึ้น ดร.พิรียุตม์ เสนอว่า เมื่อทุกคนรู้อยู่แล้วว่าต้นไม้คือสิ่งที่ช่วยดูดซับคาร์บอนฯ ได้ดี รัฐควรสนับสนุนการปลูกป่า และทำหน้าที่ว่าจะปลูกอีกจำนวนเท่าใด ไม่ใช่ปล่อยให้เอกชนปลูกแค่ทำเป็นกิจกรรมเพื่อสังคม แต่ไม่มีการดูแล หรือปลูกตามยถากรรม แต่ไม่ตรวจสอบกลับ
พร้อมฝากข้อเสนอรัฐบาลชุดใหม่ ก่อนจะแก้ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมอันดับแรกเลยคือ คุณเชื่อเรื่องการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศหรือไม่ เพราะถ้าเชื่อคุณจะมีวิธีแก้ไขเรื่องนี้ได้ คุณก็วางแผนไปถึงการเป็น Net Zero Carbon ได้ และจะมีขั้นตอนในการแก้ไข ถ้าจะไปสู่ Net Zero Carbon ต้องปลูกป่าเพิ่มเติม และต้องดูแลซึ่งควรสร้างอาชีพใหม่คือ คนดูแลต้นไม้ ซึ่งช่วยรองรับแรงงานที่ตกงานจากอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยี
“หากรัฐบาลใหม่มีวิสัยทัศน์ เรื่องการจัดโครงสร้างทางสังคมแบบใหม่ก็น่าสนใจ จริง ๆ แล้วไม่ต้องคิดอะไรมาก เพียงแค่เหลียวกลับไปมองดูประเทศเพื่อนบ้านที่ทำสำเร็จว่าทำกันอย่างไร เช่น จีน เกาหลีใต้ แล้วก็นำมาปรับใช้ เชื่อว่าสามารถแก้ปัญหาได้ อาจจะไม่ใช่ในระยะเวลารวดเร็ว แต่ก็สามารถช่วยบรรเทาเยียวยาโลกนี้ออกไปได้อีก”
ดร.พิรียุตม์ ทิ้งท้ายอยากเห็นพรรคการเมืองที่ไม่ได้เกิดขึ้นมาแค่อยากเป็นรัฐบาล หรือแค่ร่วมรัฐบาลอย่างเดียว ควรจะมีแนวนโยบายที่ชัดเจน แล้วก็ต้องมองเห็นอนาคตของประเทศ และของโลกนี้ ต้องกำหนดทิศทางแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ชัดเจน.