กรมทางหลวง (ทล.) ได้รับจัดสรรงบประมาณปี 2566 (งบผูกพัน ปี 2566-2568) รวม 17,540 ล้านบาท สำหรับก่อสร้างขยายช่องจราจรทางหลวงจากขนาด 2 ช่องไปกลับ เป็น 4 ช่องไปกลับจำนวน 26 โครงการทั่วประเทศ ระยะทางรวม 356.8 กิโลเมตร (กม.) จะทยอยประกวดราคาเพื่อเริ่มก่อสร้างภายในปี 2566 แล้วเสร็จปี 2568

ไล่เรียง 26โครงการ ประกอบด้วยภาคเหนือ 7โครงการ ระยะทาง 69.447กม. งบ 4,620ล้านบาท ได้แก่

1.ทางหลวงหมายเลข 118 (ทล.118สายเชียงใหม่-เชียงราย) ตอน อ.แม่สรวย-บรรจบ ทล.1 ตอน 1 จ.เชียงราย ระยะทาง 5.500 กม. งบ 600 ล้านบาท

2. ทล.118 สายเชียงใหม่-เชียงราย ตอน อ.แม่สรวย-บรรจบ ทล.1 ตอน 2 จ.เชียงราย 7.500 กม. 800 ล้านบาท

3. ทล.118 สายเชียงใหม่-เชียงราย ตอน อ.แม่สรวย-บรรจบ ทล.1 ตอน 3 จ.เชียงราย 4.472 กม. 800 ล้านบาท

4.ทล.106 สาย บ.แม่ป่าไผ่-ต.แม่ตืน จ.ลำพูน 13.900 กม. 650 ล้านบาท

5.ทล.1048 สาย บ.หอรบ-บ.ทุ่งเสลี่ยม จ.สุโขทัย 15.325 กม. 700 ล้านบาท

6.ทล.1074 สาย บ.คอปล้อง-บ.บึงบ้าน จ.กำแพงเพชร 11.475 กม. 520 ล้านบาท

7.ทล.2275 สาย บ.หนองพวง-บ.เนินคนธา จ.เพชรบูรณ์11.275 กม. 550 ล้านบาท

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) 10โครงการระยะทาง 156.75กม. งบ 7,210ล้านบาท

1.ทล.224 สายบ.โคกกรวด-บ.หนองสนวน จ.นครราชสีมา 23.114 กม. 980 ล้านบาท

2.ทล.290 สาย บ.หนองยาง-บ.หมูสีจ.นครราชสีมา 5.825 กม. 300 ล้านบาท

3. ทล.220 สาย อ.วังหิน-อ.ขุขันธ์ ตอน 1 จ.ศรีสะเกษ 13 กม. 520 ล้านบาท

4.ทล.220 สาย อ.วังหิน-อ.ขุขันธ์ ตอน 2 จ.ศรีสะเกษ 12 กม. 520 ล้านบาท

5.ทล.215 สายร้อยเอ็ด-อ.ท่าตมูตอน บ.หนองเม็ก-บ.สาหร่าย จ.ร้อยเอ็ด 22.560 กม. 1,130 ล้านบาท

6.ทล.2040 สายมหาสารคาม-อ.วาปีปทุมจ.มหาสารคาม 15.896 กม. 820 ล้านบาท

7.ทล.2378 สาย อ.จอมพระ-บ.ไทรงาม ตอน 1 จ.สุรินทร์ 19.230 กม. 910 ล้านบาท

8. ทล.2378 สายอ.จอมพระ-บ.ไทรงาม ตอน 2 จ.บุรีรัมย์ 20.925 กม. 900 ล้านบาท

9.ทล.2074 สายคูเมือง-พุทไธสง จ.บุรีรัมย์3.975 กม. 230 ล้านบาท

10. ทล.202 สาย บ.หนองผือ-อ.เขมราฐ จ.อุบลราชธานี 20.225 กม. 900 ล้านบาท

ภาคตะวันออก 2โครงการ ระยะทาง 28กม. งบ 1,120ล้านบาท

1.ทล.3395 สาย บ.ช่องกุ่ม-บ.โคคลานตอน 1 จ.สระแก้ว 14 กม. 560 ล้านบาท

2. ทล.3395 สาย บ.ช่องกุ่ม-บ.โคคลาน ตอน 2 จ.สระแก้ว 14 กม. 560 ล้านบาท

ภาคตะวันตก 5โครงการ ระยะทาง 79.53กม. งบ 3,460ล้านบาท

1. ทล.3087 สายราชบุรี-แก้มอ้นจ.ราชบุรี 27.675 กม.900 ล้านบาท

2.ทล.3208 สายเขาวัง-เหมืองผาปกค้างคาว ตอน 1 จ.ราชบุรี 15.007 กม. 630 ล้านบาท

3.ทล.3208 สายเขาวัง-เหมืองผาปกค้างคาว ตอน 2 จ.ราชบุรี 15 กม. 630 ล้านบาท

4.ทล.3206 และ3510 สาย บ.ห้วยยางโทน-ทางแยกเข้า อ.หนองหญ้าปล้อง ตอน 1 จ.ราชบุรี 10.423 กม. 650 ล้านบาท

5.ทล.3206 และ 3510 สาย บ.ห้วยยางโทน-ทางแยกเข้า อ.หนองหญ้าปล้อง ตอน 2 จ.เพชรบุรี 11.425 กม. 650 ล้านบาท

ภาคกลาง 1โครงการ ทล.352สาย อ.ธัญบุรี.วังน้อย ตอน บ.คลองเจ็ด.วังจุฬา จ.ปทุมธานี ระยะทาง 5.500กม. งบ 330ล้านบาท และภาคใต้ 1โครงการ ทล.4140สาย อ.ท่าศาลา.นบพิตำ จ.นครศรีธรรมราชระยะทาง 17.525กม. งบ800ล้านบาท

ปัจจุบันมีโครงข่ายทางหลวงทั่วประเทศ 52,303กม. มีขนาดมากกว่า 4ช่องจราจรแล้ว 19,140กม. หรือประมาณ 36.5% เมื่อรวมกับ 356.8กม. จะเพิ่มเป็น 19,496.8กม.หรือประมาณ 37.2% เหลืออีก 32,806.2กม. ยังเป็นถนนขนาด 2ช่องจราจรหรือประมาณ 62.7%

กรมทางหลวงมีแผนของบประมาณขยายเป็น 4ช่องต่อไปเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพระบบคมนาคมขนส่งทั้งภายในประเทศและเชื่อมระหว่างประเทศให้สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยยิ่งขึ้น เนื่องจากถนนขนาด2ช่องจราจรมีความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุสูง

สำนักงานควบคุมน้ำหนักยานพาหนะ กรมทางหลวง ได้รวบรวมสถิติปี 2565 ไว้ว่า ถนนประเทศไทยมีระยะทางรวมทั้งหมด 702,965.069 กม. 85.56% อยู่ในความดูแลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งกำกับดูแลโดยกระทรวงมหาดไทยและกรุงเทพมหานคร (กทม.) รวมระยะทาง 601,427.24 กม. กรมทางหลวงชนบท (ทช.)49,123.785 กม. การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) 224.600 กม. ส่วนระยะทางในความรับผิดชอบของทล. 52,303 กม. คิดเป็น 7.4%

อนาคตโครงข่ายทางหลวงจะเพิ่มมาตรฐานเป็นถนน 4เลน+++มากขึ้น แต่จะปิดตำนานทางหลวง 2 เลนให้หมดสิ้นยังเป็นไปได้ยาก ด้วยข้อจำกัดของงบประมาณ การเวนคืนที่ดิน และปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะเส้นทางที่ผ่านพื้นที่อุทยาน

ส่วนถนนในความรับผิดชอบของท้องถิ่นชนบท ยังห่างไกลความเจริญและไม่เติบโตอีกจำนวนมากเพราะขาดงบประมาณในการพัฒนา เป็นที่มาให้ชาวบ้านร้องเรียนรายวัน และประชดด้วยการ อาบน้ำ ตกปลา และดำนาบนถนนที่ชำรุดเต็มไปด้วยหลุมบ่อ เพื่อเรียกร้องการดูแลแก้ไขปัญหาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

…ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่งเดลินิวส์…