เรื่องนี้ ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ให้ข้อมูลภายในงาน โดยยํ้าว่า “บุหรี่ไฟฟ้า” ที่ขายเกือบ ทั้งหมดล้วนมีนิโคติน โดยข้อมูลจากสหรัฐอเมริกาตรวจสอบพบนิโคตินในบุหรี่ 99% สิงคโปร์ตรวจสอบ 96%
และยืนยันว่า ต่อให้บอกว่าไม่มีนิโคติน แต่บุหรี่ไฟฟ้ายังคงอันตรายต่อสุขภาพ เพราะมีสารอันตรายอื่น ๆ อีกมาก รวมถึงสารแต่งกลิ่น สารละลายที่ทำให้เกิดละอองไอ ที่ใช้ในกระบวนการผลิตบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งล้วนเป็นสารเคมีแปลกปลอมของทางเดินหายใจ สูบเข้าไปแล้วทำให้เกิดการอักเสบของเซลล์เยื่อบุหลอดลม และหลอดเลือดฝอย
มีงานวิจัยเรื่องบุหรี่ไฟฟ้าทั่วโลก ส่วนใหญ่สรุปว่า บุหรี่ไฟฟ้าเป็นอันตรายต่อหลอดเลือดและระบบทางเดินหายใจ เพราะละอองลอยมีสารโลหะหนักหลายชนิด เช่น เหล็ก ทองแดง นิกเกิล สังกะสี โครเมียม และตะกั่ว กระตุ้นให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ก่อให้เกิดโรคทางเดินหายใจ สารนิโคตินในบุหรี่ไฟฟ้าเป็น อันตรายต่อพัฒนาการของสมองเด็กและวัยรุ่น และบุหรี่ไฟฟ้าหลายยี่ห้อมีสารนิโคตินเท่ากับสูบบุหรี่ 20 มวน และบางยี่ห้อมีสารนิโคตินเท่ากับการสูบบุหรี่ถึง 50 มวน
สำหรับกรณีที่มีการชูประเด็นว่า “บุหรี่ไฟฟ้าช่วยให้คนเลิกสูบบุหรี่มวนได้ นั้น “ศ.นพ.ประกิต” อธิบายว่า องค์การอาหารและยาสหรัฐอเมริกายืนยันเมื่อปี 2565 ว่าไม่เคยรับรองให้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นผลิตภัณฑ์ช่วยเลิกบุหรี่ แค่อนุญาตให้เคลมว่ามีสารพิษน้อยกว่า แต่ไม่ได้ยืนยันว่ามีอันตรายน้อยกว่าตามที่บริษัทบุหรี่นำมากล่าวอ้าง
ยังไม่เคยมีประเทศใดขึ้นทะเบียนบุหรี่ไฟฟ้าเป็นยาช่วยเลิกบุหรี่ เช่นเดียวกับกระทรวงสาธารณสุขออสเตรเลีย ระบุว่ายังไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะระบุว่าบุหรี่ไฟฟ้าช่วยเลิกบุหรี่ได้ สอดคล้องกับงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในปี 2564-2565 โดย 60% ของคนสูบบุหรี่ไฟฟ้าช่วยเลิกบุหรี่กลับมาสูบบุหรี่ชนิดมวนใหม่
ดังนั้นที่มีคนผลักดันบุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมายในไทย โดยอ้างว่าปลอดภัยและทำให้สูบบุหรี่มวนน้อยลงนั้นไม่เป็นความจริง แต่ในทางกลับกัน กลายเป็นว่าทำให้คนสูบบุหรี่ทั้งสองประเภทถึง 2 ใน 3 คน และองค์การอนามัยโลกยังระบุชัดว่าปัญหาใหญ่สุดของบุหรี่ไฟฟ้าคือ ทำให้เด็กที่ไม่เคยสูบบุหรี่เข้ามาสูบบุหรี่ไฟฟ้า และเสี่ยงที่จะสูบบุหรี่ธรรมดามากกว่าเด็กที่ไม่สูบบุหรี่ไฟฟ้า 2-4 เท่า รวมทั้งคนที่เลิกสูบบุหรี่ธรรมดาจะกลับมาสูบบุหรี่ไฟฟ้าแทน ส่วนงานวิจัยที่อังกฤษที่ว่าช่วยเลิกบุหรี่ได้นั้น เป็นการใช้ภายใต้การควบคุมของแพทย์ หากใช้เองไม่มีทางเลิกสูบได้ แต่เมื่อติดตามไปแล้วก็ไม่มีการเลิกบุหรี่ไฟฟ้าเช่นกัน
ทั้งนี้ ในปี 2564 มี 32 ประเทศทั่วโลก ประกาศใช้กฎหมายห้ามเรื่องบุหรี่ไฟฟ้า เพิ่มจากปี 2557 ที่มีเพียง 13 ประเทศ สะท้อนว่าทั่วโลกตระหนักถึงพิษภัยของบุหรี่ไฟฟ้าเพราะมีข้อมูลชัดเจน เช่น เด็กมัธยมปลายอเมริกันสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มจาก 1.5% ในปี 2554 เป็น 19.6% ในปี 2563 นิวซีแลนด์เด็กอายุ 14-15 ปี สูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มจาก 1.9% ในปี 2560 เป็น 9.6% ในปี 2564 ส่วนเด็กมัธยมต้นของไทยอายุ 13-15 ปี สูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มจาก 3.3% ในปี 2558 เป็น 8.1% ในปี 2564
เพราะฉะนั้น ศ.นพ.ประกิต จึงยํ้าว่า หากเราให้บุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย โดยมีเงื่อนไขว่า ไม่ให้มีการแต่งกลิ่น แต่ปัญหาก็จะเกิดขึ้นตรงที่จะมีการลักลอบขายบุหรี่ไฟฟ้าที่แต่งกลิ่น โดยขายใต้ดินจำนวนมาก ดังนั้น จะดีกว่าหรือไม่หากป้องกันตั้งแต่ต้นด้วยการไม่ให้บุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย ส่วนพรรคการเมืองจะสนับสนุน หรือไม่สนับสนุนอย่างไรก็ต้องรอดูทิศทางว่า เรามองถึงเด็กและเยาวชน อนาคตของชาติอย่างไร.