หากพูดถึงโรคยอดฮิตที่คร่าชีวิตของคนไทย หลายๆ คนคงจะนึกถึงโรคหัวใจกันไม่ใช่น้อย แต่เคยทราบบ้างหรือไม่ว่า อันที่จริงแล้ว โรคหัวใจมีหลากหลายแบบ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ “โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ”
วันนี้ Healthy Clean จึงขอพามาพูดคุยถึงโรคนี้กับ นายแพทย์ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ เผยว่า “ในปัจจุบัน คนไทยเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตันมากที่สุด เป็นอันดับ 3 รองจากอุบัติเหตุและโรคมะเร็ง”
จากสถิติพบว่า มีผู้ป่วยเกิดขึ้นใหม่ 21,700 รายต่อปี ซึ่งมีแนวโน้มจะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ โดยสาเหตุเกิดจากการรวมตัวกันของไขมันที่เกาะภายในผนังหลอดเลือดหัวใจหนาขึ้น ซึ่งไขมันนี้เกิดจากคอเลสเตอรอล ทำให้เกิดภาวะหลอดเลือดแข็งตัวและหนาตัวขึ้น ร่างกายจึงไม่สามารถส่งเลือดไปยังกล้ามเนื้อหัวใจได้
ด้าน นายแพทย์จินดา โรจนเมธินทร์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชวิถี กรมการแพทย์ กล่าวว่า ปัจจัยเสี่ยง ที่เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบนั้น มี 2 กลุ่ม คือ
1.ปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ ได้แก่ อายุที่มากขึ้นมีโอกาสเป็นเพิ่มขึ้น โดยเพศชายมีโอกาสเกิดโรคหัวใจได้มากกว่าเพศหญิงในวัยที่ยังมีประจำเดือน ในขณะที่วัยหมดประจำเดือนเพศหญิงมีโอกาสเกิดเท่ากับเพศชาย ปัจจัยด้านพันธุกรรม
2.ปัจจัยที่ควบคุมได้ ได้แก่ ไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง เบาหวาน สูบบุหรี่ ไม่ออกกำลังกาย น้ำหนักเกินมาตรฐาน รับประทานอาหารที่ไม่มีประโยชน์ และความเครียด ส่งผลทำให้เพิ่มโอกาสการเกิดหลอดเลือดหัวใจนั้นตีบตันในที่สุด
นอกจากนี้ ทางนายแพทย์เคย์ เผ่าภูรี หน่วยโรคหัวใจ กลุ่มงานอายุรศาสตร์ โรงพยาบาลราชวิถี กล่าวเพิ่มเติมว่า อาการของโรคหลอดเลือดหัวใจตีบเฉียบพลันนั้น ผู้ป่วยสามารถมีอาการเจ็บที่บริเวณหน้าอก คล้ายของหนักมาทับในขณะพัก และอาจมีอาการร้าวไปที่บริเวณแขน สะบัก ไหล่ หรือขากรรไกรด้านซ้ายได้ นอกจากนี้ยังอาจพบว่ามีอาการร่วมอื่น ๆ เช่น อาการหอบเหนื่อย นอนราบไม่ได้ ใจสั่น เหงื่อออกมาก คลื่นไส้อาเจียนหน้ามืดคล้ายจะเป็นลม หรือหมดสติ
หากสังเกตพบอาการดังกล่าวข้างต้น ควรพบแพทย์ที่ใกล้ที่สุดโดยทันที เพราะ “โรคหลอดเลือดหัวใจ” นั้น มีความอันตรายถึงชีวิต ยิ่งรู้เร็ว ก็ยิ่งช่วยลดความเสี่ยงถึงชีวิตได้..
………………………………………….
คอลัมน์ : Healthy Clean
โดย “พรรณรวี พิศาภาคย์”