“นิว สตาร์ต” ( NEW START ) เป็นคำย่อของ “สนธิสัญญาลดอาวุธทางยุทธศาสตร์” ( Strategic Arms Reduction Treaty ) ซึ่งถือเป็นกรอบความร่วมมือระดับทวิภาคีด้านนิวเคลียร์ “รายการสุดท้ายที่เหลืออยู่” ระหว่างสหรัฐกับสหภาพโซเวียต หรือรัสเซียในปัจจุบัน
การลงนามในข้อตกลงนิว สตาร์ต เกิดขึ้นเมื่อปี 2553 ที่กรุงปราก สาธารณรัฐเช็ก โดยผู้นำสหรัฐและรัสเซียในเวลานั้น คือประธานาธิบดีบารัค โอบามา และประธานาธิบดีดมิทรี เมดเวเดฟ เพื่อแทนที่สนธิสัญญามอสโก ซึ่งหมดอายุเมื่อปี 2555 และแทนที่สนธิสัญญา “สตาร์ต วัน” ลงนามเมื่อปี 2534 โดยผู้นำสหรัฐในเวลานั้น คือ ประธานาธิบดีจอร์จ เอช.ดับเบิลยู. บุช และประธานาธิบดีมิคาอิล กอร์บาชอฟ ผู้นสำสหภาพโซเวียต ณ ขณะนั้น
อนึ่ง ข้อตกลงนิว สตาร์ต มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการในอีกหนึ่งปีหลังการลงนาม ขณะที่ รัสเซียและสหรัฐ ซึ่งเป็นประเทศที่ครอบครองหัวรบนิวเคลียร์มากที่สุดเป็นอันดับ 1 และ 2 ของโลกตามลำดับ บรรลุข้อตกลงเมื่อปี 2564 ขยายระยะเวลาของ นิว สตาร์ต ออกไปอีกอย่างน้อย 5 ปี มีสาระสำคัญคือ การจำกัดการครอบครองหัวรบนิวเคลียร์ทางยุทธศาสตร์ของทั้งสองประเทศให้ไม่เกิน 1,550 ลูก
สำหรับ “อาวุธทางยุทธศาสตร์” ตามนิยามของสนธิสัญญาฉบับนี้ คือ “หัวรบขนาดใหญ่” ที่สามารถระเบิดทำลายล้างเมืองได้ทั้งเมือง อย่างไรก็ตาม รัสเซียและสหรัฐต่างมี “หัวรบทางยุทธศาสตร์ขนาดเล็ก” อีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งอยู่นอกเหนือจากเงื่อนไขของข้อตกลงนิว สตาร์ต
ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย กล่าวในช่วงหนึ่งของการแถลงประจำปี ต่อที่ประชุมวาระพิเศษของสภาแห่งสหพันธรัฐ ในเดือนนี้ ระงับความร่วมมือกับสหรัฐ ตามกรอบเงื่อนไขของนิว สตาร์ต
ทั้งนี้ ผู้นำรัสเซีย เน้นย้ำว่า ท่าทีของรัฐบาลมอสโกเกี่ยวกับเรื่องนี้คือ “การระงับ” หรือ “พักชั่วคราว” ไม่ใช่ “การถอนตัว” หรือ “การยุติข้อตกลง” ขณะเดียวกัน ปูติน กล่าวถึงการดำเนินงานของ โรซาตอม ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจด้านพลังงานนิวเคลียร์ของรัสเซีย ต้องมีความพร้อมทุกเมื่อ “ในยามถึงคราวจำเป็น” ที่รัสเซียต้องทดสอบอาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งปูติน ยืนยันว่า รัสเซียจะไม่เป็นฝ่ายดำเนินการก่อน แต่เมื่อใดก็ตามที่สหรัฐทดสอบ รัสเซียจะทำเช่นกัน
อย่างไรก็ดี ภายในช่วงทศวรรษล่าสุด เหตุการณ์ครั้งนี้ไม่ใช้ครั้งแรกที่สหรัฐและรัสเซียมีปัญหากันเกี่ยวกับข้อตกลงนิวเคลียร์ ย้อนกลับไปเมื่อปี 2561 รัฐบาลวอชิงตันในเวลานั้น อยู่ภายใต้การนำของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ถอนตัวออกจากสัญญาอาวุธนิวเคลียร์พิสัยกลาง ( ไอเอ็นเอฟ ) ที่ลงนามร่วมกับรัฐบาลมอสโกเมื่อปี 2530 ซึ่งเป็นช่วงปลายสงครามเย็นและปลายยุคสหภาพโซเวียต โดยให้เหตุผลว่า รัสเซียละเมิดข้อตกลง ด้วยการยังคงเดินหน้าพัฒนาโครงการพัฒนาขีปนาวุธร่อนนำวิถีจากพื้นสู่พื้น “เอสเอสซี-8” หรือ “9 เอ็ม 729”
ต่อจากนั้นไม่นาน รัสเซียประกาศถอนตัวออกจากไอเอ็นเอฟบ้าง พร้อมทั้งยืนยันว่าโครงการพัฒนาขีปนาวุธร่อนดังกล่าวไม่ได้ละเมิดสาระสำคัญของข้อตกลง ที่เป็นการห้ามทั้งสองประเทศผลิตและทดสอบขีปนาวุธซึ่งมีพิสัยยิงไกลระหว่าง 500-5,500 กิโลเมตร และทิ้งท้ายว่ารัฐบาลมอสโกไม่ประสงค์การแข่งขันสะสมอาวุธกับประเทศใด ยกเว้นกรณีที่สหรัฐเป็นฝ่าย “เคลื่อนไหวก่อน” ซึ่งการที่ทั้งสองประเทศไม่สามารประนีประนอมร่วมกันได้ ส่งผลให้ข้อตกลงมีอันยุติอย่างเป็นทางการ เมื่อเดือน ส.ค. 2562
นอกจากนั้น สหรัฐยังถอนตัวออกจาก “สนธิสัญญาว่าด้วยการเปิดน่านฟ้า” เมื่อปี 2563 ซึ่งความร่วมมือดังกล่าวริเริ่มโดยรัฐบาลวอชิงตันของประธานาธิบดีดไวต์ ดี. ไอเซนฮาวร์ มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2545 หลังมีการลงนามเมื่อปี 2535 มีภาคีสมาชิก 35 ประเทศ
สาระสำคัญของข้อตกลงคือ การที่รัฐสมาชิกแต่ละแห่งสามารถบินอากาศยานสอดแนมไม่ติดอาวุธเหนือน่านฟ้าของกันและกันได้ เพื่อสำรวจ เก็บข้อมูล และถ่ายภาพ อันจะเป็นการยกระดับความร่วมมือทางทหาร ข่าวกรอง และการเสริมสร้างความเชื่อมั่นระดับพหุภาคีภายในกลุ่ม ขณะที่แน่นอนว่า หลังสหรัฐประกาศถอนตัวจากสนธิสัญญาฉบับนี้ได้ไม่นาน รัสเซียถอนตัวออกเช่นกัน
กลับมาที่เรื่องของข้อตกลงนิว สตาร์ต จริงอยู่ที่ในทางทฤษฎีถือว่า “การระงับ” หรือ “การพักใช้” ไม่ใช่ “การถอนตัว” และ “การยุติ” อีกทั้งในยุคสมัยนี้ ย่อมไม่มีใครอยากเป็นฝ่ายใช้อาวุธทรงอานุภาพทำลายล้างสูงก่อน แต่ท่ามกลางสถานการณ์เช่นนี้ มีการวิเคราะห์ว่า “ไม่แตกต่างในทางปฏิบัติ” และอาจสื่อความหมายอย่างมีนัย ในการ “โยนหินถามทาง” ไปยังสหรัฐ ในช่วงเวลาที่บรรยากาศของความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศมหาอำนาจทางทหาร ซึ่งตึงเครียดที่สุดนับตั้งแต่ยุคสงครามเย็น.
ภัทราพร ไพบูลย์ศิลป
เครดิตภาพ : AFP