“ทีมการเมืองเดลินิวส์” จึงต้องมาสนทนากับ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) อดีตรมช.เกษตรและสหกรณ์ มาพูดถึงความพร้อมของพรรคในการเลือกตั้งของพรรค หลังกลับเข้ามาสู่อ้อมกอด “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพปชร.อีกครั้ง

โดย “ร.อ.ธรรมนัส” เปิดประเด็นบอกถึงสาเหตุการกลับเข้ามาครั้งนี้ว่า ตอนออกไปประมาณต้นปี 2565 ด้วยเหตุผลเพื่ออยากจะให้ “ลุงป้อม” พล.อ.ประวิตร สบายใจกับปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งสังคมก็รู้ว่าปัญหาคืออะไร พอออกไปแล้วมีพี่น้องหลายคนอยากออกไปกับผมด้วยมากกว่า 20 กว่าคน ส่วนเหตุผลที่กลับมาอีกครั้งหนึ่งเนื่องจากหลายคนที่มาได้แยกตัวไปอยู่พรรคภูมิใจไทย (ภท.) บ้าง  เพื่อไทย (พท.) บ้าง รวมไทยสร้างชาติ (รสทช.) บ้าง

จึงเข้าไปพบกับ “ลุงป้อม” ซึ่ง “ลุงป้อม” ก็อยากให้มารวมกันให้มันแน่น และ ส.ส.ของผมที่เหลืออยู่ 12 คน ซึ่งเป็น ส.ส.เขต จึงกลับเข้าไปด้วย เหตุผลแค่นิดเดียว คือ ต้องการไปช่วยลุงป้อม แต่ยอมรับว่าพอกลับไปที่พรรค พปชร. ก็รู้สึกไม่ค่อยมั่นใจเท่าไหร่ เอาตรง ๆ เพราะเราไปบอกชาวบ้านว่าเราจะลงในนามเศรษฐกิจไทย (ศท.) พอเรากลับมาเป็น พปชร. บางพื้นที่โดยเฉพาะพื้นที่อีสานก็ค่อนข้างจะเหนื่อย

@  พปชร.กับ รทสช. มีความคล้ายคลึงกัน แต่จุดต่างจริง ๆ ของ 2 พรรคคืออะไร

รทสช. กับ พปชร. ต่างกันชัดเจน เพราะ พปชร.มีฐานเสียงเดิมอยู่แล้ว มีผลงานที่เป็นประจักษ์โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” หรือ “บัตรประชารัฐ” เพราะฉะนั้นเราไม่ต้องไปเริ่มนับหนึ่งใหม่ แต่สำหรับ รทสช. ผมมีความมั่นใจว่าต้องไปนับหนึ่งใหม่ เพราะนโยบายก็ยังไม่มี จึงต่างกันจุดขายต่างกัน

ส่วนฐานเสียงก็ต้องดูในแต่ละภาค อย่าง กทม. ต้องยอมรับว่า ส.ส.กทม. ของ พปชร. มาจากกระแสของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และถามว่า กทม. เหนื่อยหรือไม่ ก็เหนื่อยในยุคนี้ ส่วนภาคใต้ก็มาจากกระแสของ พล.อ.ประยุทธ์ ถามว่าเหนื่อยไหม ก็เหนื่อย แต่ว่าบนพื้นฐานอย่างนี้ทำให้เรากลับมาทำการบ้านว่าจะต้องหาจุดขายจุดใหม่ให้ได้ ที่พอเปลี่ยนจาก พล.อ.ประยุทธ์ มาเป็น พล.อ.ประวิตร เพราะฉะนั้นหัวหน้าภาคที่ดูแลแต่ละภาค อย่างเช่น สกลธี ภัททิยกุล ที่รับผิดชอบ กทม. ก็พยายามจะระดมสรรพกำลัง ระดมความเห็นในการออกนโยบายในพื้นที่ กทม. เพื่อให้โดนใจคนใน กทม. ดังนั้น มีจุดที่เราต้องทำงานเพิ่ม

ส่วนผมได้รับมอบหมายรับผิดชอบ 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน เป็น ผอ.การเลือกตั้ง 8 จังหวัดภาคเหนือ หน้าที่สำคัญอย่างหนึ่งคือยุทธศาสตร์การเมือง การเลือกตั้ง ซึ่งทำร่วมกับ “สมศักดิ์ เทพสุทิน” ซึ่งรับผิดชอบทั่วประเทศ แต่ต้องยอมรับว่า พท. มาแรงในภาคเหนือตอนบน แต่จุดขายของผมอยู่ที่ตัวบุคคล และก็ขายความเป็นตัวตนของผมสมัยเป็นรัฐมนตรี ที่ลงไปช่วยเหลือพี่น้องทั้ง 8 จังหวัด จนเป็นที่ที่ยอมรับ คือ การแก้ปัญหาที่ดินทำกิน แก้ปัญหาแหล่งน้ำ ดังนั้น ผมมีความเชื่อมั่นว่า สามารถปักหมุดได้ทั้ง 8 จังหวัด แต่จำนวนจะมากน้อยแค่ไหนต้องว่ากันอีกที

@ เมื่อปี 62 พปชร.ถูกวิจารณ์ว่านโยบายหาเสียงบางเรื่องทำไม่ได้

ต้องยอมรับว่า หลายนโยบายที่หาเสียงไว้ทำไม่ได้ เพราะว่าเราไม่ได้เป็นผู้นำในการตัดสินใจจึงไม่เกิด เช่น โครงการมารดาประชารัฐ เราไม่ได้ดูแลกระทรวงที่เกี่ยวข้องก็ทำไม่ได้ ดังนั้นนโยบายใหม่ จึงไม่ควรเอาเยอะเกินไป เอาที่โดน ๆ และเกิดประโยชน์ สามารถทำได้จริง ๆ และที่ผ่านมาเราก็ทำมา โดยเฉพาะบัตรประชารัฐ เราทำได้เพราะเราเป็นคนออกความคิด และเรื่องของที่ดิน เรื่องน้ำ ก็ทำมาตลอดอยู่แล้ว จะปล่อยไม่ได้ต้องดูแลเอง เพราะเราเป็นเจ้าของโครงการ นโยบายอื่น ๆ กระทรวงสำคัญ ๆ เราต้องดูแล ไม่อย่างนั้นเราหาเสียงมาแล้วไม่ได้นำไปใช้จะเสียหาย

@ ผู้กองธรรมนัสเองมีสายสัมพันธ์อันดีกับ พท. ตรงนี้จะกิดดีลตั้งรัฐบาลตามกระแสข่าวที่ออกมาหรือไม่

“ถ้าเลือกตั้งเสร็จแล้วผลการเลือกตั้งออกมา สมมุติ พปชร.ได้เกินจำนวน 25 ที่ขึ้นไป ก็ถือว่าเป็นแต้มต่อที่เราจะสามารถดีลจัดตั้งรัฐบาลได้ ส่วนพรรคไหนก็ดูอีกครั้งหนึ่ง แต่สำหรับ พท.ผมก็มีความสนิทสนมกับผู้บริหารพรรคหลายคนที่เคยทำงานด้วยกันมา”

@ ถ้าพปชร และ รทสช. ได้ ส.ส. 25ที่นั่งทั้ง 2 พรรคมีสิทธิที่จะเสนอนายกฯ “ลุงป้อม” จะไม่หลบให้ พล.อ.ประยุทธ ใช่หรือไม่

ถึงเวลาตอนนั้น ถ้าเกิน 25 ที่นั่ง ก็ขึ้นอยู่กับจำนวนเท่าไหร่ ผมมีความมั่นใจว่า พปชร. ยังไงก็เกิน 40 อยู่แล้ว มั่นใจ ณ เวลานี้ถ้าดูจากจำนวน ส.ส.เก่า จะทำให้การดีลง่ายกว่าพรรคที่มีจำนวน ส.สไม่เท่าไร และก็ขึ้นอยู่กับคอนเนกชั่นมากกว่า พปชร. เรายืนยันว่าเราจะ สนับสนุน “ลุงป้อม” ให้เป็นนายกฯ คนที่ 30 และเป็นฉันทามติแล้วว่า พล.อ.ประวิตร ต้องเป็นนายกฯ หากเราชนะการเลือกตั้งเกิน 30 เสียง เพราะฉะนั้นเราเสนอ “ลุงป้อม” เป็นเบอร์ 1 ส่วนแนวโน้มของการโหวตของ ส.ว.เท่าที่ได้คุยหลาย ๆ สาย เขาก็อยากจะทำอะไรเพื่อบ้าน เพื่อเมือง จึงเชื่อมั่นว่าเขาจะเลือกคนดี ๆ เข้ามา เนื่องจากเป็นวาระสุดท้ายของ ส.ว.ในการเลือกผู้บริหารประเทศ และเสียงที่อยู่ในสายสัมพันธ์อันดีกับ “ลุงป้อม” ก็มีประมาณ 100 เสียง

@  พปชร.ประกาศก้าวข้ามความขัดแย้ง ตรงนี้จะเป็นเงื่อนไขในการสลับข้ามขั้วหลังเลือกตั้งหรือไม่

ปัญหาสังคมที่สำคัญอีกอันหนึ่ง คือ ความแตกแยกทางสังคม ซึ่งการเมืองถือว่าเป็นต้นเหตุให้เกิดความแตกแยก เพราะฉะนั้นทางผู้บริหารนำเสนอหัวหน้าพรรคว่า เราน่าจะโชว์นโยบายว่า เราเลือกที่จะไม่ทะเลาะกับใคร เป้าหมายคือพัฒนาประเทศชาติบ้านเมือง พี่น้องประชาชน การทะเลาะกับพรรคอื่น ๆ ควรจะเลิกได้แล้ว จึงเป็นที่มาที่ไปของคำว่า “ก้าวข้ามความขัดแย้ง” และนโยบายของเราไม่มีการโจมตีคู่ต่อสู้ ไม่สร้างศัตรูทางการเมือง

@ ก่อนหน้านี้เคยบอกว่าทุกอย่างทางการเมืองเป็นไปได้หมด

ถูกต้องครับ ไม่มีอะไรแน่นอนทางการเมือง การเมืองไม่มีมิตรแท้และศัตรูที่ถาวรวันนี้ เป็นศัตรูกันด่ากันในสภา ด่าเสีย ๆ หาย ๆ หลังจากนั้นก็จับมือกันได้ เห็นมาเยอะและต้องยอมรับว่า การเมืองเป็นเรื่องของผลประโยชน์ ซึ่งเป็นผลประโยชน์แก่พี่น้องประชาชน อุดมการณ์ตรงกันก็จับมือกัน เพราะฉะนั้น “ไม่มีมิตรแท้และศัตรูที่ถาวร”

@ “ลุงป้อม” เหนือกว่าแคนดิเดต นายกฯ ของพรรคอื่นอย่างไร

ผมมองว่าในยามที่สถานการณ์บ้านเมืองเป็นรอยต่อ การที่จะเอาบุคคลใดบุคคลหนึ่งมาเป็นนายกรัฐมนตรีต้องมีความพร้อม ต้องอาศัยความสงบ ยังต้องอาศัยเรื่องปากเรื่องท้อง ในสถานการณ์อย่างนี้ พล.อ.ประวิตร เหมาะสมที่สุด ซึ่งท่านพิสูจน์ตัวเองแล้วในช่วงรักษาการกว่า 40 วัน ท่านทำได้ดี บ้านเมืองสงบ สมองท่านยังดีอยู่ คนเป็นนายกฯ ไม่จำเป็นต้องลงพื้นที่ทุกวัน ๆ บริหารสำคัญที่การใช้สมอง.