โพลเลือกตั้งจะยังสร้างแรงกระเพื่อม หรือมีผลกระทบต่อการตัดสินใจลงคะแนนของประชาชนหรือไม่ รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย อาจารย์ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช สะท้อนมุมมองไว้น่าสนใจ
อิทธิพลโพลเลือกตั้งยังมีผลกับการตัดสินใจ?
รศ.ดร.ยุทธพร เปิดเผยว่า ในอดีตโพลอาจจะมีผลในการชี้นำทางการเมือง เนื่องจากทางเลือกของผู้คนในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารไม่ได้มีให้เลือกเยอะเหมือนในปัจจุบัน ฉะนั้นในอดีตการที่โพลจะส่งผลต่อความคิดของผู้คนอาจเป็นไปได้สูง ซึ่งโพลเองก็มีอยู่ไม่กี่สำนักเท่านั้นที่ดำเนินการ
เมื่อเป็นเช่นนี้โอกาสที่จะบอกว่า โพลนั้นชี้นำก็จะเป็นไปได้สูง แต่ต้องบอกว่าวันนี้ไม่เหมือนอดีต เพราะว่าผู้คนมีทางเลือกในการสื่อสารขึ้นมากมาย และมีโอกาสได้รับข้อมูลข่าวสารที่เรียกว่าครบถ้วนรอบด้าน รวมถึงการเทียบกับกระบวนการต่าง ๆ ทั้งในการทำโพล แม้กระทั่งผลโพลเหล่านี้มีมากมาย
“ตรงนี้จึงบอกว่าโอกาสที่โพลจะชี้นำได้เหมือนเก่า ผมว่าคงไม่เป็นเช่นนั้นแล้ว ในทางกลับกันโพลถูกตรวจสอบด้วยซ้ำไป มีคนตั้งคำถามถึงวิธีการเก็บรวบรวมข้อมูลในการทำโพล ในการวิเคราะห์ รวมทั้งการตั้งคำถามในความเป็น กลางของผู้ทำ ประวัติของสถาบัน เป็นต้น”
ข้อมูลทะลักโซเชียล โพลยังน่าเชื่อถือ?
รศ.ดร.ยุทธพร ระบุ ส่วนตัวยังมีบางโพลที่พอจะมีความเป็นกลาง แต่จริง ๆ แล้วการตัดสินใจในการเลือกตั้ง ไม่ควรจะฟังโพล แต่ควรใช้วิจารณญาณในการเลือกแทน เพราะการเลือกตั้งเป็นการสะท้อนเจตจำนงของผู้เลือกตั้ง ไม่ใช่สะท้อนเจตจำนงของโพล
ประเมินทิศทาง สีสันโพลเลือกตั้งปี 66
รศ.ดร.ยุทธพร มองเรื่องความเคลื่อนไหวต่าง ๆ คงจะมี เช่น พรรคการเมืองไหนอยู่ตรงไหนแล้ว ความเคลื่อนไหวของพรรคการเมืองไปถึงไหนในแต่ละเขต แต่ละพื้นที่ ใครมาแรงบ้างก็คงจะได้เห็นในโพลต่าง ๆ แต่แน่นอนว่า “ทางเลือก” มีมากขึ้นกว่าในอดีต โพลอาจไม่มีแค่สำนักเดียว หรือ 2 สำนัก แต่อาจมีโพลจำนวนมากที่จะเกิดขึ้นในครั้งนี้ แต่ทั้งนี้ ผู้รับข้อมูลข่าวสารต้องมีวิจารณญาณในการรับข้อมูลเหล่านี้ด้วย
สำหรับสีสันของโพลในปีนี้มองว่าอาจมีสีสันมากขึ้น เนื่องจากโพลต่าง ๆ มีหลายโพล หลายเฉดสี บางโพลอาจเอนเอียงไปด้านใดด้านหนึ่ง หรือบางโพลก็อยู่ในระดับที่เชื่อถือได้
“ครั้งนี้ก็อาจจะมีหลากหลายเลย ทั้งโพลเชียร์ โพลที่จะออกมาเพื่อดิสเครดิต หรือโพลที่เป็นกลาง จะมีทุกรูปแบบ”
ข้อแนะนำติดตามโพลการเมือง
รศ.ดร.ยุทธพร ฝากว่า การยึดติดฝังใจกับแค่โพลใดโพลหนึ่งนั้นจะเกิดขึ้นกับคนบางส่วน ซึ่งจะเป็นคนที่รับรู้ข้อมูลด้านเดียว แต่คิดว่าไม่เยอะแล้วสำหรับคนที่รับข้อมูลด้านเดียวในปัจจุบัน ไม่น่าจะมีจำนวนมาก อย่างในอดีตช่วงการเมืองสีเสื้อ การรับข้อมูลข่าวสารด้านใดด้านหนึ่งก็จะเชื่อไปตามนั้น หรือขั้วใดขั้วหนึ่งก็จะเชื่อไปตามนั้น แล้วก็จะเห็นได้ว่า สื่อโทรทัศน์ดาวเทียมในยุคนั้นมีผลอย่างมากที่บางคนจะดูอยู่อย่างเดียว ติดตามข้อมูลเรื่องของการชุมนุมก็จะฟังอยู่แค่เรื่องนั้น
แต่ปัจจุบันนี้ไม่ใช่ เพราะข้อมูลหลากหลายมากขึ้น และคนก็มีการเปรียบเทียบมากขึ้น มีการนำข้อมูลมาต่อสู้กันมากขึ้น ไม่เหมือนอดีต เพราะโซเชียลมีเดียทำให้มีการเปลี่ยนแปลงตรงนี้ได้อย่างชัดเจน
อย่างไรก็ตาม การที่จะมีคนที่เชื่อโพลชนิดแบบไม่ลืมหูลืมตานั้น เชื่อว่าก็ยังมีจำนวนหนึ่ง แต่การที่บุคคลกลุ่มนี้ยังเชื่อในลักษณะแบบนี้เพราะสอดคล้องในอุดมการณ์ ความคิด ความเชื่อของตนเอง หรืออยู่ในห้องที่เรียกว่า “ห้องแห่งเสียงสะท้อน” (Echo Chamber) หรืออยู่ใน “ตัวกรองฟองสบู่” (Filter Bubble) ซึ่งจะรับแต่ข้อมูลที่สอดคล้องกับทัศนคติ ค่านิยม ความคิด ความเชื่อของตัวเอง แต่ส่วนตัวมองว่าส่วนใหญ่ไม่เป็นแบบนั้นแล้ว เพราะโลกแห่งโซเชียลมีเดียนี่แหละที่ทำให้เกิดการเปรียบเทียบกัน
“ดูโพลเพื่อความสนุกสนานทางการเมืองอย่าไปเครียด ไม่เช่นนั้นอาจจะเครียดหนักและถูกครอบงำด้วยข้อมูลเหล่านี้ ซึ่งแท้จริงการตัดสินใจเลือกใครควรเกิดจากวิจารณญาณของผู้เลือกตั้งเอง” รศ.ดร.ยุทธพร ฝากเป็นข้อคิดทิ้งท้าย.