ทั้งนี้ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ก็ได้เคยสะท้อนเรื่อง “โรคซึมเศร้า” ไว้หลายวาระเช่นกัน รวมถึงกรณีที่ “อาจนำสู่เหตุการณ์เศร้าสลดได้โดยไม่คาดคิด!!” ซึ่งในยุคปัจจุบันนี้ก็มีคนไทยที่ “ซึมเศร้าโดยที่ตนเองไม่รู้ตัว” อีกต่างหาก!! ดังนั้น การสังเกตคนใกล้ตัวจึงเป็นเรื่องควรทำ…

สังเกตคนใกล้ชิดเสี่ยงซึมเศร้าหรือไม่??

ถ้าเสี่ยง-ถ้าเป็น “รู้วิธีอยู่ร่วมนี่ก็สำคัญ!!”

ทั้งนี้… “หลาย ๆ คนมีอาการเข้าข่ายแต่ไม่ได้เข้ารักษา แต่ก็มีข้อมูลจากกรมสุขภาพจิต ที่ล่าสุดระบุว่ามีคนไทยเป็นโรคซึมเศร้าอยู่ประมาณ 1.5 ล้านคน จาก 65 ล้านคน ซึ่งถือว่าเยอะ เพราะแสดงว่ามีคนไทยเป็นโรคซึมเศร้าถึงประมาณ 1 ใน 60 เลยทีเดียว” …นี่เป็นข้อมูลจากการระบุไว้โดย พญ.เพ็ญชาญา อติวรรณาพัฒน์ แพทย์ผู้ชำนาญการด้านจิตเวช ศูนย์สุขภาพใจ โรงพยาบาลวิมุต ซึ่งก็ฉายภาพสถานการณ์ปัญหาโรคซึมเศร้าในไทย-ในคนไทย

แม้ว่า “โรคซึมเศร้า” ที่เป็นโรคทางจิตใจที่อาจส่งผลทางกายด้วยนี้…ก็เป็นอีกโรคที่มีหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้เคยให้ข้อมูลไว้ไม่น้อยแล้ว แต่กระนั้น…ในยุคที่คนไทยเรามีสถิติป่วยเป็นโรคนี้กันเยอะขึ้น “การทำความเข้าใจให้ถ่องแท้” เอาไว้ ก็ “ย่อมเป็นเรื่องจำเป็น” ซึ่งนอกจากผู้ที่ป่วย ในประเด็นใครป่วยโรคซึมเศร้าก็ควรได้รับการดูแลรักษา โรคซึมเศร้าสามารถหายขาดได้โดยการรับการรักษาอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ…ซึ่งรักษาเร็วก็หายได้เร็ว… กับ “ผู้ใกล้ชิดผู้ป่วยก็มีหลักควรรู้ไว้”

ทาง พญ.เพ็ญชาญา ก็ได้ให้ความรู้ความเข้าใจในส่วนของผู้ที่เป็นคนใกล้ชิดผู้ที่เป็นซึมเศร้าเอาไว้ ซึ่งแม้ช่วงหลายปีมานี้หนึ่งในโรคที่คนไทยทุกช่วงวัยเป็นกันเยอะขึ้นเรื่อย ๆ คือ “โรคซึมเศร้า” แต่ก็โชคดีที่ปัจจุบันสังคมไทยเริ่มให้ความสำคัญกับสุขภาวะทางใจ พอ ๆ กับสุขภาพกาย ทำให้คนที่เป็นโรคซึมเศร้าไม่จำเป็นต้องเก็บอาการไว้กับตัวอีกต่อไป เพราะมีคนอื่นพร้อมที่จะศึกษาและเข้าใจโรคนี้มากขึ้นเรื่อย ๆ แต่…ประเด็นคือ “การอยู่ร่วมกับคนที่เป็นซึมเศร้า” ด้วยความเข้าใจนั้น…

“อยู่ร่วมอย่างไรจึงจะถือว่าเข้าใจจริง??”

ประเด็นสำคัญดังกล่าวนี้…ทางคุณหมอท่านเดิมระบุแนะนำไว้ดังนี้คือ… จะต้องทำความเข้าใจก่อนว่า คนเป็นโรคซึมเศร้านั้นไม่ได้คิดไปเองว่าเศร้า แต่เป็นเพราะภาวะซึมเศร้า ซึ่งคือภาวะที่สารเคมีในสมองเสียสมดุล เกิดการแปรปรวน ผลที่เกิดขึ้นก็คือ จะเกิดอารมณ์ด้านลบ เช่น เศร้า เบื่อหน่าย ซึ่งอาจกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ด้านการกิน อาจไม่อยากกินเลย หรืออาจรู้สึกเครียดจึงกินเยอะมาก ๆ ก็มี, ด้านการนอน อาจจะนอนยาก คิดมากจนนอนไม่หลับ, ด้านการทำงาน เพราะเกิดอารมณ์ทางลบจึงส่งผลต่อความคิดความอ่าน สมาธิ ความจำ และบางคนอาจวิตกกังวล หงุดหงิด เกิดความรู้สึกหมดหวัง รู้สึกว่าตนเองเป็นภาระคนอื่น ไม่อยากทำอะไรเลย …ซึ่งอาการซึมเศร้าแบบนี้ยิ่งน่าห่วง!!

สำหรับสาเหตุที่สารเคมีในสมองแปรปรวน คุณหมอโรงพยาบาลวิมุต อธิบายไว้ว่า… มีหลายสาเหตุ เช่น กรรมพันธุ์ ความเครียด หรือจากเหตุการณ์สะเทือนใจรุนแรง ดังนั้น หากมีคนในครอบครัวเป็นซึมเศร้า หรือเคยเจอความผิดหวังรุนแรง ก็อาจมีความเสี่ยงกว่าคนอื่น ๆ แต่ทั้งนี้ก็ไม่ได้แปลว่าทุกคนที่เจอเรื่องเศร้าต้องเป็นซึมเศร้าเสมอไป นอกจากนี้ก็ยังมีโรคซึมเศร้าที่เกิดจากสาเหตุรูปแบบอื่น ๆ เช่น ภาวะซึมเศร้าหลังคลอดบุตร ซึ่ง มีแม่หลังคลอดบุตรถึงประมาณ 3 ใน 10 ที่มีโอกาสเป็น “ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด” คนในครอบครัวจึงควรสังเกตอาการและดูแลใส่ใจความรู้สึกของคุณแม่หลังคลอดให้มาก

ทั้งนี้ การ “อยู่ร่วมกับผู้ที่ซึมเศร้าอย่างเข้าใจ” นั้น คำแนะนำก็เช่น…เมื่อคนใกล้ตัวมีอาการที่เข้าข่ายซึมเศร้า ต้องแสดงความห่วงใยอย่างจริงใจและแนะนำให้ไปพบแพทย์ ซึ่งถ้าเป็นไปได้ก็อาจไปเป็นเพื่อน พร้อมทั้งศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับอาการเพื่อให้สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างเข้าใจผู้ป่วยซึมเศร้ารุนแรงนั้นอาจมีอาการหลอน หูแว่ว อาจคิดว่าคนอื่นพูดไม่ดีด้วย ซึ่งก็ต้องไม่ไปตัดสินว่าเขาคิดไปเอง ผู้ป่วยที่ใช้ยารักษาจะมีผลข้างเคียง ยาบางตัวอาจทำให้เบื่ออาหาร พะอืดพะอม บางตัวอาจทำให้ง่วง ซึ่งต้องปรึกษาแพทย์ถึงผลข้างเคียงเพื่อปรับขนาดยาหรือเปลี่ยนยา ซึ่งคนที่อยู่ร่วมก็ต้องช่วยสังเกตเรื่องนี้ด้วย

กับ สิ่งที่ควรพูด-ไม่ควรพูด…นี่ก็สำคัญ!! คุณหมอท่านเดิมแนะนำไว้ว่า… การอยู่ร่วมกับผู้ซึมเศร้า หัวใจคือเปิดใจรับฟัง ยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น ไม่ไปตัดสินเขา ซึ่งที่ไม่ควรพูด-ไม่ควรถาม โดยเฉพาะด้วยน้ำเสียงสีหน้าท่าทางรำคาญ เช่น… ร้องไห้ทำไม ทำไมต้องเศร้าด้วย มีอะไรให้เศร้า ทำไมไม่ออกไปทำอะไรสนุก ๆ ซึ่งสิ่งที่ควรทำคือแค่อยู่ข้าง ๆ เป็นเซฟโซนให้เขา ทำให้เขาสบายใจ อาจจะบอกว่าเราอยู่ตรงนี้นะถ้าต้องการอะไร หรือถามว่ามีอะไรให้ช่วยไหม อยากให้ช่วยยังไงบ้าง ให้เขารู้สึกอุ่นใจว่าไม่ได้อยู่คนเดียว ซึ่งการใช้น้ำเสียงสีหน้าท่าทางในการพูดนั้นก็ต้องเป็นไปด้วยความจริงใจ ไม่ใช่แบบขอไปที

และปิดท้ายด้วยประเด็น… “อยู่ร่วมกับคนเป็นซึมเศร้าแล้วจะเสี่ยงเป็นด้วยหรือไม่??” ซึ่งทาง พญ.เพ็ญชาญา บอกว่า… “ถ้าคนใกล้ชิดเป็นซึมเศร้าแล้วเรารู้สึกว่ามันกระทบอารมณ์เราจนรู้สึกแย่ เราก็อาจต้องดูแลใจตัวเองก่อนและขอความช่วยเหลือด้วยเช่นกัน อย่าละเลยตนเอง…อย่ากดดันตัวเองมากเกินไป” …นี่ก็คำแนะนำที่น่ารู้ไว้เช่นกัน

เหล่านี้คือ “หลักวิธีอยู่ร่วม” โดยสังเขป

“อยู่ร่วมกับคนป่วยซึมเศร้าอย่างเข้าใจ”

เข้าใจ “ไม่พากันเศร้า-ไม่ไปกันใหญ่!!”.